บทเพลงซิมโฟนีแบบผสมผสานครั้งแรกในประเทศไทย จากใจคนไทยเชื้อสายจีน

0
1

บทเพลงซิมโฟนีแบบผสมผสานครั้งแรกในประเทศไทย จากใจคนไทยเชื้อสายจีน

คำว่า ไทยจีนพี่น้องกัน เป็นคำกล่าวที่มีมานาน ส่วนหนึ่งเพราะวัฒนธรรมที่ผสมกลมกลืนกันจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน ผ่านการทูต การค้าขาย และการผูกสัมพันธ์ผ่านการแต่งงาน มาตั้งแต่โบราณกาล โดยมักกล่าวกันติดตลกว่า ในเมืองใหญ่ของไทยหากเราโยนหินเข้าสู่ฝูงชน อาจจะโดนคนไทยเชื้อสายจีนสักคน  ซึ่งเป็นการตอกย้ำความเกี่ยวดองของไทยจีนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

นับตั้งแต่สีจิ้นผิงขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ และชูนโยบายข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง การเปิดเส้นทางทางการทูตเพื่อพัฒนาการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงได้รับการให้ความสำคัญขึ้นอีกครั้ง ในประเทศไทยเองก็มีจัดกิจกรรมต่างๆในนโยบายนี้ เช่น การจัดเสวนาวิชาการเรื่องนโยบายแถบและเส้นทางตลอดจนเส้นทางสายไหม , การค้นคว้าร่องรอยของเส้นทางสายไหมทางทะเลในประเทศไทย ผ่านการ การประกวดงานจิตรกรรม , การประกวดถ่ายภาพ ฯลฯ เป็นต้น

โดยในวันที่ 27 กันยายน 2565 ที่จะถึงนี้ เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้มีการจัด คอนเสิร์ตเส้นทางสายไหมใหม่ ธงชัยสู่ความสำเร็จร่วมกัน เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความผูกพันของพี่น้องประชาชนชาวไทยและชาวจีนในช่วงที่วิกฤตการณ์โควิด19กำลังจะผ่านพ้นไป  ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานโดยทีมงานมืออาชีพจากทั่วประเทศไทย

โดยเนื้อหาของการแสดงมีการการประพันธ์บทเพลงใหม่ขึ้นสองเพลงจากวาทยากร นักดนตรี และนักประพันธ์เพลงชาวไทยที่มีชื่อเสียงในระดับสากล คือ อ.ดำริห์ บรรณวิทยกิจ ซึ่งประพันธ์เพลงที่ชื่อว่า New Silk Road Symphony หรือบทเพลงซิมโฟนีแห่งเส้นทางสายไหมใหม่ ที่มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยจีนผสมผสาน 4 อย่าง คือ จิตรกรรม ดนตรี วิทยายุทธ และบทกวี ประกอบเข้าไปเพื่อเล่าเรื่องราวผ่านบทเพลงด้วย

โดย อ.ดำริห์ ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการแต่งบทเพลงนี้ไว้ว่า “บทเพลง New Silk Roadนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินเรือของท่านเจิ้งเหอที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคแก้ปัญหาต่างๆมากมายเพื่อที่จะสานสัมพันธ์ทางการทูตกับนานาประเทศ ในบางท่อน เพื่อจะฉายความมีเสน่ห์ของทำนองไทยจีนซึ่งไม่ว่าจะใช้เครื่องดนตรีไทยหรือจีนเล่น ก็จะได้สำเนียงของชาตินั้น ซึ่งสิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วไทยจีนนั้นเหมือนครอบครัวเดียวกัน  ในท่อนสุดท้าย ด้วยการแต่งร้อยกรองไทยและทำนองร่วมของ อ.เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล นั้น  เราทั้งสองได้ตั้งใจร้อยเรียงท่อนสุดท้ายเพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยจีนสองประเทศนั้นได้มีความเจริญรุ่งเรื่องทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี มาอย่างช้านานและจะเจริญรุ่งเรืองต่อไปทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและสังคม  โดยมีClosing Themeซึ่งผมแต่งจากทำนองการเชิดสิงโตเพื่อจะแสดงให้เห็นถึง การเฉลิมฉลองความรุ่งเรืองสถาพรของความสัมพันธ์ไทยจีนไปตลอดกาลนาน ซึ่งหวังว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้นี้จะทำให้ความสัมพันธ์ฉันญาติสนิทของพี่น้องชาวไทยและชาวจีนจะแนบแน่นยิ่งๆขึ้นไป”

อีกหนึ่งเพลงที่นักประพันธ์เพลงชาวไทยอีกท่าน คือ คุณมรกต เชิดชูงาม ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่องานนี้ก็คือบทเพลง โหมโรงชัยธัช บทเพลงOverture สำหรับเบิกโรงการแสดงดนตรีที่ผสมผสานท่วงทำนองตะวันออกเข้ากับตะวันตกได้อย่างกลมกลืน ผ่านแนวคิดจากพระสูตรว่าด้วยสงครามระหว่างเทพกับอสูรในพุทธคัมภีร์ โดยได้มีการใช้ทำนองบทสวดชยันโต(ถวายพรพระ)สอดแทรกมาเป็นระยะได้อย่างน่าสนใจ

นอกจากบทเพลงบรรเลงแล้ว ยังมีการแสดงบทเพลงจากนักร้องชื่อดัง เช่น ดร.กิตตินันท์(กิต The Voice) , พลัง โลกศิลป์ และ ปริมปานชนก ซึ่งจะมาขับร้องบทเพลงสานสัมพันธ์ไทยจีนทั้งภาษาไทยและภาษาจีนให้กับผู้ฟังอีกด้วย

อ.เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ซึ่งเป็น Executive Producer & Artistic Director ซึ่งเป็นผู้ออกแบบคอนเซ็ปท์และธีมของงานนี้ได้กล่าวว่า “การแสดงทั้งหมดเกิดจากแนวคิดที่ว่า เราจะสามารถนำความแตกต่างจากวัฒนธรรมไทยและจีนมาสร้างความกลมกลืนได้อย่างไร  จึงได้นึกถึงนโยบายแถบและเส้นทางที่ได้เชื่อมโยงความคิดไปสู่เมื่อครั้งอดีตกาลที่ราชวงศ์หมิงได้ส่งท่านเจิ้งเหอนำกองเรือมาเปิดประตูการทูตกับอาณาจักรอยุธยา โดยหลังจากนั้นความสัมพันธ์ไทยจีนได้กระชับแน่นแฟ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผมจึงได้แนวคิดตั้งชื่อการแสดงบทเพลงซิมโฟนีเป็น 4 ท่อนที่คล้องจองกัน คือ อารยธรรมวิถี ดนตรีวิศิษฐ์ วิจิตรยุทธศิลป์ สองแผ่นดินวิวัฒน์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทยจีนที่แม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็สามารถนำมาประสานเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างกลมกลืน โดยเราได้นักประพันธ์ วาทยากร และนักดนตรีมืออาชีพที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ คือ อ.ดำริห์ บรรณวิทยกิจ เป็นผู้ถ่ายทอดแนวคิดนี้และเป็นผู้รวบรวมนักดนตรีคลาสสิคระดับแนวหน้าจากทั่วประเทศไทยมาเพื่อแสดงงานนี้  และคุณมรกต เชิดชูงาม นักเปียโนและนักประพันธ์รุ่นใหม่ที่มีความสามารถระดับแนวหน้ามาแต่งเพลงโหมโรงชัยธัชที่ผสมผสานแนวคิดกลองปู่จาหรือกลองบูชาในคติพุทธของชาวล้านนาได้อย่างลงตัว”