เหลียวหลังแลหน้า : ย้อนมองจีนในปี 2022 สู่ความคาดหวังในปี 2023

0
17

บุคคลในหลายวงการให้สัมภาษณ์ถึงความประทับใจต่อจีนในรอบปีที่ผ่านมา และความคาดหวังต่อจีนในปี 2023 ที่กำลังจะมาถึง

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวว่า “เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในปีนี้ คือเรื่องการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของผู้นำจีน ท่านสี จิ้นผิง ในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค เพราะไม่เพียงแต่สะท้อนความแนบแน่น การให้ความสำคัญของผู้นำจีนต่อประเทศไทยและเวทีเอเปค แต่ยังสะท้อนถึงความใกล้ชิดที่ลงลึกไปในภาคประชาชนของคนไทยเชื้อสายจีน

เราจะเห็นได้ว่า ท่าทีต่างๆ ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่กระทำตลอดการเดินทางในช่วง 3-4 วันเป็นความประทับใจ และประเทศไทยก็ใช้จังหวะดังกล่าว สร้างความประทับใจให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ไม่ได้เดินทางเยือนประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา  ท่านก็กลับไปพร้อมความประทับใจ เพราะหลังจากการเดินทางมาประเทศไทยในครั้งนั้น ก็มีสัญญาณเชิงบวกที่ส่งมาจากประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นการจัดคณะเดินทางทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนว่าได้รับไฟเขียวจากระดับบนในการส่งเสริมเรื่องความสัมพันธ์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน หรือช่วงวัน Boxing Day ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ประกาศให้นักท่องเที่ยวเดินทางในวันที่ 8 มกราคม ที่จะถึงนี้ ผมถือว่าเป็นของขวัญชิ้นพิเศษที่มอบให้กับหลายๆ ประเทศในภูมิภาค ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย”

สำหรับความคาดหวังในปีหน้า ดร.ไพจิตร กล่าวว่า “หวังเห็นการยกระดับความร่วมมือให้ดีขึ้นยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะมิติความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและสังคม ในมิติเชิงสังคม  ผู้คนไม่ได้เดินทางไปมาหาสู่กัน 3 ปี ปีหน้าจะกลับมา คิดว่า 80 เปอร์เซ็นต์จากของเดิม น่าจะทำให้มิติความสัมพันธ์ทางด้านสังคมกลับมาดีเยี่ยมอีกครั้ง ในมิติด้านเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวก็เป็นกลไกที่สำคัญ เพราะช่วงก่อนโควิด ประเทศไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวจีนค่อนข้างสูง  ดังนั้นถ้าปีหน้านักท่องเที่ยวจีนกลับมาได้ 7-8 ล้านคน ประมาณ 80 เปอร์เซนต์ เศรษฐกิจไทยก็จะได้รับประโยชน์อย่างมาก ผมมองสัญญาณเชิงบวกจากการลงทุน จีนจะขยายการลงทุนเข้ามาที่ประเทศไทยค่อนข้างมากในปีหน้า  เพราะคณะที่จะเข้ามาหลายๆ มณฑลเข้ามาเป็นกลุ่มนักธุรกิจ ก็บอกว่าอยากจะเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรม อยากพูดคุยกับสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมขยายการลงทุนเข้ามาที่ประเทศไทย ผมคิดว่าด้วยสัญญาณเชิงบวกแบบนี้ตั้งแต่ต้นปี มันจะโมเมนตัมให้การขยายตัวด้านเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างไทยจีนก้าวกระโดดไปอีกระดับหนึ่ง”

ชัยรัตน์ ถมยา นักข่าวอิสระ กล่าวถึงการพัฒนาโครงการอวกาศของจีนว่า “ในเรื่องของโครงการอวกาศ จีนมีความก้าวหน้า มีความพยายามที่จะส่งนักบินอวกาศขึ้นไปในอวกาศ มีการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งถ้ามองประเทศในเอเชีย จีนเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านอวกาศอย่างมาก สมัยก่อนเราเห็นสถานีอวกาศนานาชาติของชาติตะวันตก แต่ตอนนี้สถานีอวกาศนานาชาติที่เป็นของชาติเอเชียกำลังเกิดขึ้นแล้ว”

สำหรับความคาดหวังต่อจีนในปี 2023  ชัยรัตน์ กล่าวว่า “อยากเห็นความก้าวหน้าทางอวกาศของจีนเพิ่มมากขึ้น  เพราะช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ สหรัฐอเมริกาก็จะสร้างสถานีอวกาศบนฐานปฏิบัติการบนดวงจันทร์ คาดว่าจีนมีแผนเรื่องนี้เหมือนกัน อยากเห็นประเทศในเอเชียขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์ทัดเทียมกับชาติตะวันตกได้”

ภัทร  จึงกานต์กุล  กรรมการบริหาร บริษัทเมโทรโมบิล จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ BYD กล่าวว่า “จีนเป็นประเทศที่สร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ช่วงที่เศรษฐกิจโลกเติบโตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนเป็นฐานการผลิตของโลก เนื่องจากต้นทุนต่ำ ค่าแรงต่ำ แล้วจีนก็พัฒนาตัวเองจากประเทศแรงงานต่ำจนกลายเป็นเจ้าของนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นมาเอง จนปัจจุบันเป็นประเทศที่อยู่ในจุดที่ท้าชิงความเป็นมหาอำนาจของโลกกับโลกตะวันตก  ตอนนี้ถ้าจีนเป็นอะไรไป เศรษฐกิจของโลก พลวัตรของโลกกระทบหมดเลย ดังนั้น ต้องบอกว่า ประทับใจในเจตจำนง ในความมุ่งมั่นของคนในชาติ โดยเฉพาะคนรุ่นต่อรุ่น ที่เข้ามาผลักดันทิศทางของประเทศในแต่ละทศวรรษที่ผ่านมา จนประเทศจีนกลับมาได้อย่างยิ่งใหญ่”

ความคาดหวังของจีนในปีหน้า ภัทรกล่าวว่า “จีนเป็นโรงงานของโลก ทั้งสินค้าไฮเทคคุณภาพสูงและสินค้าราคาถูก และเป็นกำลังซื้อสำคัญของโลก นักท่องเที่ยวที่มีกำลังจับจ่าย ไปเที่ยวประเทศไหน ประเทศนั้นก็จะได้รับกระตุ้นเศรษฐกิจจากนักท่องเที่ยวจีน ไทยเป็นประเทศเป้าหมายของจีนอยู่แล้ว ทั้งในแง่การลงทุน การท่องเที่ยว วัฒนธรรม หวังว่าจีนจะมองประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่ดี และมีความร่วมมือ ช่วยสร้างความเจริญให้กับประเทศไทย และหวังว่าจะเกิดโอกาสใหม่ๆ ระหว่างจีนกับไทยมากขึ้น ทั้งจีนมาลงทุนบ้านเรา หรือเราเข้าไปทำตลาดในจีน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  “ปีนี้มีเหตุการณ์สำคัญคือการเป็นประธานาธิบดีจีนและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์อีกสมัยของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และมีผลต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกอย่างมาก ที่แสดงให้เห็นว่า จีนมีอำนาจ มีอิทธิพลในการต่อรอง การเจรจา หลายๆ ประเทศต้องฟังจีน ต้องดูจีน และจะเห็นบทบาทจีนที่พยายามสานสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ เช่นการมาร่วมประชุมเอเปคที่ไทย การไปเยือนซาอุดิอาระเบีย จีนมีภาพที่เป็นมิตรมากขึ้น”

“ดังนั้น ความคาดหวังในปีหน้า ที่การเผชิญหน้ากันทางภูมิรัฐศาสตร์มีความอ่อนไหว เปราะบางมาก ผมอยากให้จีนแสดงบทบาทของผู้เล่นที่เล่นอย่างสันติ  ไม่อยากเห็นโลกตึงเครียดไปมากกว่านี้  สำหรับผม มองว่าจีนจะมีบทบาทเป็นผู้นำที่สร้างสันติภาพให้กับโลก ทำให้โลกเกิดความสมานฉันท์ได้ จีนมีความโดดเด่นในการแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง ที่จีนจะจับมือกับใครก็ได้ที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ในการทำงาน เราอยากเห็นความร่วมมือตรงนี้ของจีน อยากเห็นท่าทีที่นำไปสู่ความสมานฉันท์และการสร้างสรรค์ เชื่อว่าจีนสามารถเป็นผู้นำได้”

ส่วนในมุมมองของผู้เขียน ในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เห็นความสำเร็จของจีน ที่มาจากความทุ่มเท และการให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนา การลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ที่จีนทำสำเร็จและเห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และยังช่วยสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนและของโลก รถยนต์พลังงานใหม่ที่จีนเปิดตัวในแต่ละรุ่นไม่เพียงสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ขับขี่ แต่ยังเป็นการสร้างทางเลือกที่หลากหลาย ให้ผู้ขับขี่ได้มีทางเลือกในการใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปี 2022 นี้ มีผู้ผลิตและผู้นำเข้ารถยนต์พลังงานใหม่ของจีน เข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทยหลายรุ่น ให้ผู้ขับขี่ชาวไทยได้มีโอกาสสัมผัสกับนวัตกรรมยานยนต์สีเขียวของจีนมากขึ้น

ความคาดหวังในปี 2023 ผู้เขียนหวังว่า ปี 2023 นี้ บรรยากาศการเดินทางของชาวจีน บรรยากาศการค้าการลงทุนระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีนกับประเทศไทยจะกลับมาคึกคักยิ่งขึ้น และหวังที่จะได้เห็นผลิตภัณฑ์เมดอินไชน่าที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพ และความมีนวัตกรรม จะเข้ามาสู่ตลาดประเทศไทยมากขึ้น ทั้งรถยนต์พลังงานใหม่  รถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงสินค้านวัตกรรมอื่นๆ เช่น หุ่นยนต์บริการต่างๆ โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ มาสู่ผู้บริโภคคนไทยมากยิ่งขึ้น และหวังเห็นการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเทคโนโลยีระหว่างจีนกับไทย เพื่อให้ประเทศไทยได้เรียนรู้นวัตกรรมจากจีนเพื่อทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

บทความ :  ประวีณมัย บ่ายคล้อย