ไทยพร้อมแค่ไหน ในการรับนักท่องเที่ยวจีน หลัง 8 มกราคม 2566

0
2

หลังจากที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน แถลงว่าจีนจะยกเลิกมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ เหลือเพียงการตรวจเชื้อแบบ PCR ก่อนเดินทางจากประเทศต้นทาง 48 ชั่วโมง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566

ทำให้ประเทศต่างๆ เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางไปต่างประเทศของชาวจีน รวมถึงประเทศไทยที่รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะหารือกัน ถึงแนวทางในการรองรับนักท่องเที่ยวจีน

แน่นอนว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเปิดประเทศของจีนในครั้งนี้ คือ เศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัว หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากที่ไม่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเยือนประเทศไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นว่า  “จำนวนนักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนกว่า 11 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนกว่า 40 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยวจีนสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 28 ของรายได้จากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศทั้งหมด รายได้ส่วนนึ้หายไปหมด เมื่อปีพ.ศ. 2562 ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของไทย มีคนตกงานในภาคบริการและการท่องเที่ยวตกงานจำนวนมาก เดิมมีการคาดการณ์ตัวเลขจีดีพี ปี 2566 จะเพิ่มร้อยละ 3-4 โดยที่ยังไม่ได้รวมเรื่องนักท่องเที่ยวจีน เมื่อมีการเปิดประเทศวันที่ 8 มกราคม 2566 นี้ ก่อนตรุษจีน เพราะฉะนั้น ตัวเลขการเติบโตของจีดีพีอาจจะขึ้นไปถึงร้อยละ 5 ได้ เรื่องนี้เป็นผลดีชัดเจน ที่แรงงานกลับมามีงานทำ ภาคธุรกจการท่องเที่ยว โรงแรมต่างๆ ก็ฟื้นตัวมากขึ้น”

ดร.นิพนธ์ เสนอว่า “ไทยควรใช้โอกาสนี้ เตรียมความพร้อมทั้งเรื่องบุคลากรและการให้บริการ รวมถึงยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวของไทย นอกจากนี้  ต้องเตรียมพร้อมเรื่อง มาตรการด้านสาธารณสุขที่ชัดเจน และการประสานความร่วมมือเรื่องข้อมูลสาธารณสุขระหว่างทางการไทยและจีน รวมถึงควรเตรียมความพร้อมบุคลากรที่จะให้บริการนักท่องเที่ยวจีน ทั้งมัคคุเทศก์ พนักงานสปา ผู้ให้บริการรถตู้ รวมถึงการแก้ไขกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับคุณภาพการบริการนักท่องเที่ยว”

ขณะที่ โครงการวิจัย “การลงทุนของจีนกับผลกระทบต่อความมั่นคงทางธุรกิจท่องเที่ยวในภาคเหนือของไทย” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เทพฤทธิ์ มณีกุล และคณะ ระบุถึงมุมมองของชาวจีนต่อการท่องเที่ยวประเทศไทยว่า ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีกิจกรรมนันทนาการ การมาเที่ยวประเทศไทยมีข้อดีคือ สามารถใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่า

รูปแบบการท่องเที่ยวของชาวจีน คือ การเดินทางมาเที่ยวทะเลในประเทศไทย และการได้รับประสบการณ์ด้านวัฒนธรรมอาหารของไทย โดยเมนูที่ชาวจีนชอบ เช่น หอยทอด ต้มยำกุ้ง รวมถึงผลไม้ไทย เช่น มะม่วง มะพร้าว ทุเรียน เป็นต้น

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมในการวิเคราะห์ความต้องการและพฤติกรรมการบริโภคของนักท่องเที่ยวจีนหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายเพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าและการให้บริการที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวชาวจีน

ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรส่งเสริมและพัฒนาทักษะต่างๆ ให้กับผู้อยู่ในธุรกิจการบริการและการท่องเที่ยว เช่น เรื่องภาษา เทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์ การเตรียมระบบการชำระเงิน เช่น Alipay WeChat Pay และเตรียมบุคลากรให้เพียงพอที่จะรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากที่จะเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย  ซึ่งจะช่วยทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวกลับมาดีดังเดิม

บทความ : ประวีณมัย  บ่ายคล้อย