จากอดีตสู่ปัจจุบัน ตรุษจีนไชน่าทาวน์เยาวราช

0
1

งานเทศกาลตรุษจีนที่จัดขึ้นที่ไชน่าทาวน์ เยาวราช เป็นการจัดงานฉลองตรุษจีนนอกประเทศที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ปีนี้บรรยากาศตรุษจีนเยาวราชคึกคักเช่นทุกปี และมีความพิเศษที่เป็นการฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ปีที่ 48 ด้วย

เทศกาลตรุษจีน ปี 2566 นี้ ประชาคมเยาวราช และหน่วยงานต่างๆ ร่วมจัดกิจกรรม “สิริมงคล รุ่งเรือง โชคดี ปีกระต่าย” มีการจัดซุ้มอุโมงค์ไฟความยาว 45 เมตร และมีโคมไฟประดับถนนเยาวราชกว่า 500 โคม นอกจากนี้  ยังเชิญชวนผู้ร่วมงานได้ชมกระต่ายแกะสลักหินอ่อนสูง 1.8 เมตร หนัก 1.8 ตัน  ที่บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ.2554 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา รวมถึงมีกิจกรรมการแสดงไทย-จีน หลายกิจกรรมเพื่อร่วมฉลองตรุษจีน

ในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการฯ ความเป็นมาและพัฒนาการของงานตรุษจีนเยาวราช โดยนำเสนอเรื่องราวของงานตรุษจีนเยาวราชว่า เทศกาลตรุษจีนเยาวราชมีพัฒนาการต่อเนื่องกว่า 200 ปีที่ผ่านมา ย้อนไปเมื่อปีพ.ศ. 2325 ซึ่งเป็นปีการสถาปนากรุงเทพมหานคร พระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีพระราชประสงค์ใช้พื้นที่ที่เดิมเป็นชุมชนชาวจีน ก่อสร้างพระราชนิเวศน์ ชาวจีนกลุ่มนี้จึงย้ายไปสร้างชุมชนใหม่แถบสำเพ็งและขยายพื้นที่ชุมชนชาวจีนไปเรื่อยๆ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์มีพระราชดำริให้ตัดถนนเยาวราช เมื่อพ.ศ. 2434 แต่ด้วยเงื่อนไขบางประการ ทำให้แนวถนนสายนี้มีความคดโค้งต่างจากถนนอื่น จึงมีการเรียกขานถนนสายนี้ว่า “ถนนสายมังกร” ชื่อที่เป็นสิริมงคลของชาวจีน

แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย และ ฤทธิชัย เตชะมหัทธนันท์ เขียนบทความเรื่อง เทศกาลตรุษจีนเยาวราช : ภูมิหลังและพัฒนาการ ว่า ในหนังสือฟื้นความหลัง เล่ม 1 เขียนโดย เสฐียรโกเศศ หรือ พระยาอนุมานราชธน (ยง อนุมานราชธน) เล่าถึงเทศกาลตรุษจีนไชน่าทาวน์กรุงเทพฯ เมื่อร้อยกว่าปีก่อนว่า มีการทำพิธีเซ่นไหว้ แต่ละครั้งก็เพื่อให้ลูกหลานได้กินเลี้ยงอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงเรื่อง การเชิดสิงโตที่แต่ก่อนผู้เล่นเป็นชาวจีนล้วน ต่อมามีชาวไทยเข้าไปร่วมเล่นด้วย และในที่สุดดกลายเป็นชาวไทยล้วน ทำให้เห็นภาพของเทศกาลตรุษจีนในสมัยนั้น

ต่อมาในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงพ.ศ. 2483-2488 การดำเนินชีวิตของคนไทยได้รับผลกระทบไปด้วย  เยาวราชในช่วงเวลานั้น มีการจัดงานตรุษจีนตามประเพณีอย่างเงียบๆ ไม่มีบรรยากาศเชิดสิงโตครึกครื้นอย่างในยุคก่อน

มาถึงในช่วงปีพ.ศ.2535 กลุ่มนักธุรกิจและประชาคมเยาวราช ได้ร่วมกันจัดงานเทศกาลตรุษจีนเยาราช และกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมงานและปีพ.ศ. 2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯร่วมงานตรุษจีนเยาวราช หลังจากนั้น การจัดงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราชถูกจัดเป็นงานใหญ่ทุกปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ และประเทศไทย เช่น การจัดงานถนนสายอาหารที่ยาวที่สุดในโลก มหกรรมทองคำเยาราชและของขวัญ เป็นต้น

จนถึงปัจจุบัน เทศกาลตรุษจีนเยาวราชมีชื่อเสียงมากในระดับโลก โดยประเทศจีนยังส่งการแสดงมาร่วมงานทุกปี  ทำให้ “เยาวราช” กลายเป็นจุดหมายหนึ่งของชาวจีนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ที่อยากมาสัมผัสกับบรรยากาศการฉลองตรุษจีนที่มีเสน่ห์และเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

บทความ : ประวีณมัย  บ่ายคล้อย