บทวิเคราะห์: การประชุมฟอรั่มเศรษฐกิจโลก 2023 เรียกร้องให้เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ

0
0

เมื่อเร็วๆนี้ การประชุมฟอรั่มเศรษฐกิจโลกประจำปี 2023 ที่กินเวลา 5 วันได้ปิดฉากลง ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การประชุมครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างมากเนื่องจากจัดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายอันหนักหน่วง ผู้คนสังเกตเห็นว่าการประชุมครั้งได้ส่งเสียงเรียกร้องอย่างแรงกล้าเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ

“เสริมสร้างความร่วมมือท่ามกลางโลกที่แตกแยก”ถูกกำหนดให้เป็นหัวข้อของการประชุมครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการแสดงท่าทีอย่างชัดเจนที่ต้องการให้นานาประเทศกระชับความร่วมมือ และเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก การประชุมครั้งนี้ส่งเสริม “เกมผลรวมเชิงบวก(positive sum game)” คัดค้าน“เกมผลรวมศูนย์(Zero-sum game)” เพื่อค้นหาจุดร่วมที่มีความเป็นไปได้ในการขยายความร่วมมือ และแสวงหากลไกที่มีประสิทธิภาพในการขยายความร่วมมือ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งภายใต้สภาพที่แต่ละประเทศล้วนต้องการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งยังเป็นแกนหลักแห่งการร่วมกันรับมือกับวิกฤตอีกด้วย

ทว่าความไม่ลงรอยกันในที่ประชุมทำให้ผู้คนรู้สึกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสองเขตเศรษฐกิจหลักของโลกอันได้แก่สหรัฐฯกับสหภาพยุโรป ตั้งแต่การประกาศมาตรการตอบโต้ของสหภาพยุโรปต่อ “กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ” ของสหรัฐฯในวันเปิดการประชุม ไปจนถึงการโต้เถียงเกี่ยวกับ”ยุโรปมาก่อนหรือสหรัฐฯมาก่อน”ในช่วงปิดการประชุม ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับสหภาพยุโรปได้กลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่อภิปรายกันอย่างดุเดือดที่สุดในการประชุมประจำปีครั้งนี้

“กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ”ที่สหรัฐฯประกาศใช้ก่อนหน้านี้นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่อง สหภาพยุโรปกังวลว่ามาตรการอุดหนุนเชิงเลือกปฏิบัติในกฎหมายฉบับดังกล่าวจะบิดเบือนตลาด และชักจูงให้บริษัทต่างๆ ย้ายฐานการผลิตจากยุโรปไปยังสหรัฐฯ ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันทางอุตสาหกรรมของยุโรปทั้งด้านรถยนต์ แบตเตอรี่ พลังงานสะอาด และอื่นๆ อ่อนแอลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศยุโรป ในมุมมองของผู้เข้าร่วมการประชุมบางคน สหรัฐฯและยุโรปไม่ได้แสดงสัญญาณของการประนีประนอมในระหว่างการประชุมครั้งนี้แต่อย่างใด ข้อพิพาทด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างสองฝ่ายนั้นได้เปลี่ยนจากคลื่นใต้น้ำสู่การเปิดเผยเต็มตัวแล้ว

ในคำปราศรัยระหว่างการประชุม นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติชี้ว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว วิกฤตค่าครองชีพ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ “เราต้องการความร่วมมือ แต่เรากลับเผชิญกับการแตกแยก”

นายบอร์เก เบรนเด (Borge Brende) ประธานฟอรั่มเศรษฐกิจโลกกล่าวในคำปราศรัยปิดการประชุมว่า การหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกและการสร้างวาระการเติบโตที่มั่นคงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันการแตกแยกของเศรษฐกิจโลก “วิธีเดียวที่เราจะสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่น ยั่งยืน และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นได้นั้นก็คือ การร่วมมือกัน” เขาเตือนว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระเบียบระหว่างประเทศที่ผู้คนเคยคุ้นเคยกันกำลังพังทลายลง บรรดาผู้นำทั้งหลายจำต้องปรับความเข้าใจและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ แต่เหลือเวลาไม่มากแล้วสำหรับพวกเขาในการจัดการกับความท้าทายระดับโลก

ตัวแทนจำนวนมากจากแวดวงการเมือง ธุรกิจ และวิชาการที่เข้าร่วมการประชุมประจำปีครั้งนี้ก็ได้พากันเรียกร้องให้ทุกประเทศลดความขัดแย้ง เสริมสร้างความร่วมมือ ร่วมกันรับมือกับความท้าทายต่างๆ การต่อต้านลัทธิฝ่ายเดียวและลัทธิคุ้มครอง และการผลักดันการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างรอบด้าน ได้กลายเป็นฉันทามติของผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ และได้กลายเป็นเสียงที่หนักแน่นที่สุดของการประชุมประจำปีครั้งนี้

สิ่งที่น่าเอ่ยถึงเป็นพิเศษคือ “เศรษฐกิจจีน” เป็นคีย์เวิร์ดที่ถูกกล่าวถึงครั้งแล้วครั้งเล่าในการอภิปรายทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กรวมหลายร้อยครั้งในระหว่างการประชุมประจำปีครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนไม่น้อยต่างได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับอนาคตการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในทางบวก “รายงานประจำปี” เกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนฉบับล่าสุดทำให้ความคาดหวังนี้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

การคำนวณเบื้องต้นตามข้อมูลล่าสุดแสดงว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปี 2022 ทะลุ 120 ล้านล้านหยวน  เติบโต 3% จากปี 2021 ซึ่งดีกว่าการคาดการณ์ทั่วไปของโลกภายนอกอย่างชัดเจน สื่อมวลชนระหว่างประเทศบางแห่งเผยแพร่บทวิเคราะห์ว่า จีนได้ “จุดประกายความหวังของผู้คนที่หวังให้เศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกกระตุ้นการเติบโตทั่วโลก” นักสังเกตการณ์เห็นว่า โลกให้ความสนใจและมองในแง่เชิงบวกมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน และคาดหวังว่าจีนจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นมากขึ้น

เขียนโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)