สมาคมวารสารศาสตร์ มธ. จัดเสวนา “ทิศทางประเทศไทย หลังการเลือกตั้ง”

0
1

สมาคมวารสารศาสตร์ มธ. จัดเสวนา “ทิศทางประเทศไทย หลังการเลือกตั้ง” ‘นักวิชาการ-ธุรกิจ-สื่อ’ หวังแก้ปัญหายั่งยืน

ในการงานเสวนา “ทิศทางประเทศไทย หลังการเลือกตั้ง” ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ณ ห้อง JM 402 วิทยาเขตท่าพระจันทร์ นายภูวนารถ  ณ สงขลา นายกสมาคมวารสารศาสตร์ฯ ได้กล่าวเปิดงาน ว่า กิจกรรมในครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมวิชาการของทางสมาคมฯที่จะจัดขึ้นโดยอิงกับกระแสความสนใจของสังคม เพื่อเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับคนไทยทุกคนก้าวทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งในครั้งนี้เป็นการอิงกับกระแสการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งพบว่าทั้งประชาชน และสื่อมวลชนทุกประเภทล้วนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทางสมาคมฯจึงเห็นว่าเป็นการเหมาะสมที่จะมามองไปข้างหน้าว่า ภายหลังการเลือกตั้งแล้ว ในมุมมองของวิทยากรที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ คาดหวังที่จะเห็นทิศทางของประเทศไทยในมิติต่างๆ เป็นไปในทิศทางใดที่จะทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชนมากที่สุด

นายกร ทัพพะรังสี อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ว่า  ประชาธิปไตยเข้าสู่สังคมไทยมานานกว่า 91 แล้ว จากจุดแรก ประเทศไทยผ่านการเลือกตั้งมาแล้วคือ 28 ครั้ง มีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว29  คน กำลังอยู่ระหว่างการหานายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ประเทศไทยเคยมีเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวมากที่สุด ในยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่ได้ไปต่อเพราะมีการปฎิวัติเกิดขึ้น  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ประชาชนจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างประชาธิปไตย และให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 14 พฤษภาคม นี้ เพราะการเมืองนั้นเกี่ยวข้องกับทุกมิติทั้งเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นายดนุช  ตัณเทอดทิตย์ ผู้แทนกระทรวงอุดมศึกษา  กล่าวว่า ความเป็นประชาธิปไตย ขึ้นอยู่กับการนิยามว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆคืออะไร และขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนนิยาม การเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้เปลี่ยนเพราะการเลือกตั้งแบบพลิกฝ่ามือ ดัชนีชี้วัดที่ดีที่สุดคือ ขนาดเศรษฐกิจของไทยอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก เป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ไทยเป็นมหาอำนาจด้านการท่องเที่ยว ไทยเป็นประเทศที่มหาอำนาจของโลกทั้งยุโรปและเอเชียอยากคบค้าสมาคมด้วย เพราะมองไทยเป็นพี่ใหญ่ในประเทศแถบอาเซียน สำหรับทิศทางของประเทศไทยที่ต้องการเห็นคือ ขอให้รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นมาให้ความสำคัญกับการปฏิรูปด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ก้าวทันโลก ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยในการผลิตนิสิต นักศึกษา เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เร่งสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพตามที่ตลาดแรงงานในแต่ละภูมิภาคต้องการ และต้องเรียนรู้ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ

สำหรับความคิดเห็นในเวทีเสวนา นายภูวนารถ ได้เปิดประเด็นการเสวนาว่า ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึง ได้รับการจับตามองจากประชาชนเป็นอย่างมาก ว่ารัฐบาลใหม่คือพรรคใด ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป สะท้อนความตื่นตัวทางการเมือง ซึ่งโยงถึงทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ และสังคมของไทย การมองทิศทางของประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง จะได้รัฐบาลอย่างไร จะมีทิศทางบริหารประเทศเช่นใด จึงถือเป็นประเด็นสำคัญ

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการประทรวงการคลัง กล่าวว่า ในมิติทางเศรษฐกิจ ของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ยังคงมีประเด็นที่ต้องจับตามองอยู่ คือการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องระวังในแง่ของผลกระทบกับตลาดทุนและตลาดทรัพย์สิน ที่อาจจะส่งผลกระทบกับตลาดการเงินทั่วโลก โดยจะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมาหลายธนาคารในต่างประเทศมีปัญหา บางแห่งล้มและถูกซื้อกิจการ แนวโน้มคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566-2567 จะยังไม่เติบโตมากนัก สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่แม้จะมีทิศทางที่เริ่มดีขึ้น แต่ก็จะไม่เติบโตมากนัก อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้น คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังของปีนี้จะโตประมาณ 4% จากการส่งออกที่จะดีขึ้น ดังนั้นต้องรอดูฝีมือรัฐบาลใหม่ว่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร อย่างประเด็นที่จะมีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเอาเงินมาจากที่ไหนนั้น ขอเสนอแนะไว้ตรงนี้คือ ให้ใช้การปรับค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงประมาณ 5% ซึ่งจะทำให้รายได้จากการส่งออกที่มีอยู่แล้ว มีรายได้เพิ่มขึ้นทันที 550,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ต้องกู้เงิน เพราะต้องไม่ลืมว่า การที่ประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลี มีเศรษฐกิจที่แข็งแรงได้ในปัจจุบัน ล้วนใช้นโยบายค่าเงินอ่อนมาก่อนทั้งนั้น

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องการใช้การลดค่าเงินเป็นแนวคิดที่ดี แต่ก็ต้องระมัดระวังอย่างรอบด้าน เพราะอัตราแลกเปลี่ยนต้องขึ้นกับตลาดการเงินโลกด้วย สำหรับสภาอุตสาหกรรมมองว่าหลังการเลือกตั้งน่าจะดีขึ้น แม้การส่งออกจะพบว่ามีการติดลบเพราะเศษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น  จึงอยากเห็นรัฐบาลใหม่มีความพร้อม และมีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานได้ทันที ได้คนที่เป็นกลางไม่เกรงกลัวนายทุนพรรค รวมทั้งอยากเห็นความจริงใจของพรรคการเมือง และการทำนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  อยากเห็นนโยบายที่มีความยั่งยืนเพื่อให้ประเทศไทยสามารถพลิกฟื้นกลับไปได้ ภาคเอกชนต้องการเห็นการปฎิรูปอุตสาหกรรม ที่สำคัญคือต้องไม่เอื้อนายทุน อย่างปัญหาค่าไฟฟ้าแพง เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงขยะใต้พรมที่ซุกปัญหาเอาไว้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งที่อยากเห็นสำหรับรัฐบาลใหม่

“ปัญหาพลังงานจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง เนื่องจากโลกมีความท้าทายอยู่ 2 เรื่อง คือ ภาวะโลกร้อน เป็นโจทย์ที่ทั่วโลกต้องร่วมกันแก้ไข และ ปัญหาสงคราม ที่ส่งผลกระทบกับทุกประเทศ ดังนั้นภาคธุรกิจจึงอยากเห็นรัฐบาลที่มีความพร้อมที่จะกล้าลดความเหลื่อมล้ำ มีความรู้ที่จะแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีทีมงานที่มีฝีมือ มีความพร้อมที่จะทำงาน สามารถทำงานได้ทันที ไม่ใช่มาเรียนรู้งาน ที่สำคัญต้องทำงานโดยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ส่วนนโยบายประชานิยมที่แข่งขันกันเสนอนั้น จริงๆแล้วเป็นได้แค่นโยบายชั่วคราวเท่านั้น จึงอยากเห็นรัฐบาลใหม่ดำเนินนโยบายที่ยั่งยืนเป็นหลักมากกว่า”

นายนิมิตร หมดราคี ประธานกรรมการ บริษัท 124 คอมมูนิเคชั่นส์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่ประเทศไทยไม่ได้ทำมาตลอด คือ ไม่ได้สร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทย ทั้งๆที่การสร้างภาพลักษณ์ คือการสร้าง Trust ความน่าเชื่อถือ เพื่อให้เกิด Confident หรือความเชื่อมั่น จึงกลายเป็นว่ารัฐบาลไม่ได้มีการแสดงบทบาทชัดเจนว่าประเทศไทยจะยืนอยู่ตรงไหนบนเวทีโลก ด้วยเหตุนี้จึงมองทิศทางของประเทศไทยว่า รัฐบาลต่อไปจากนี้จะต้องมีเอกภาพในการสื่อสารให้ทั่วโลกได้รู้ว่าประเทศไทยมีดีอะไรบ้าง  ซึ่งที่ผ่านมาทั้งๆที่รัฐบาลไทยน่าจะใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์มากที่สุดในโลก แต่กลับไม่สามารถสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศไทยได้อย่างที่ควรจะเป็น สิ่งที่อยากเห็นหลังจากที่มีรัฐบาลใหม่แล้ว 100 วันแรก ต้องรีบสื่อสารกับสื่อมวลชนไทยและสื่อมวลชนทั่วโลกได้รับรู้ว่า นโยบายของรัฐบาลไทยคืออะไร นโยบายของแต่ละกระทรวงมีอะไรบ้าง เชิญสื่อมวลชนทั่วโลกให้มารับทราบอย่างชัดเจน ถ้าทำได้ ทั่วโลกจะได้รู้ว่าจุดยืนของไทยคืออะไร ที่สำคัญต้องทั้งให้กระทรวงการต่างประเทศทำงานมากกว่านี้ ทำให้มากกว่าที่ผ่านมา และต้องเป็นการทำงานเชิงรุกในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศไทย

นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เชื่อว่ากว่าจะได้รัฐบาลใหม่มาบริหารคงต้องใช้เวลานานมาก เพราะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 กว่าจะตั้งรัฐบาลได้ก็ใช้เวลากว่า 2 เดือน ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังคงเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกับครั้งที่แล้ว ซึ่งถ้าผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการชนะขาด ก็คาดว่าการตั้งรัฐบาลก็คงจะล่าช้าอีกเช่นเดิม  กว่าจะได้เข้ามาบริหารประเทศอาจจะเป็นช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี ไปแล้ว ซึ่งหลังจากนี้เทรนด์ของโลกจะให้ความสนใจกับเรื่องสิทธิมุษยชนมากขึ้น หากรัฐบาลไปทำอะไรที่ฝ่าฝืนสิทธิมนุษยชนหรือเสรีภาพมากเท่าไร ก็จะต้องพบเจอกับการต่อต้านมากขึ้น ทั้งนี้ยังเชื่อว่ารัฐบาลหน้าจะยังคงเป็นรัฐบาลผสมอยู่เช่นเดิม ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นคือ เมื่อมาเป็นรัฐบาลแล้วควรนำนโยบายของและพรรคร่วมรัฐบาลที่ได้หาเสียงไว้มาพิจารณาร่วมกัน ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีแนวทาง มีนโยบายร่วมกันเช่นไรบ้าง ไม่ใช่เหมือนที่ผ่านมา พอต่อรองในเรื่องตำแหน่งสำเร็จได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ผลักดันนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ ดังนั้นการต่อรองในการร่วมรัฐบาล อยากเห็นการต่อรองด้วยนโยบาย ไม่ใช่ต่อรองด้วยจำนวนเก้าอี้รัฐมนตรี

สำหรับในเรื่องของทิศทางสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในอนาคต จะสามารถเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่นั้น นายสุชาติ กล่าวว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจาก การยึดมั่นในความจริง และมีความยุติธรรม มีเสรีภาพ ถึงจะปรองดองได้ แต่ประเทศไทยยังขาดสิ่งเหล่านี้ สังคมไทยถูกครอบงำ มีการชี้นำการตัดสิน ทางแก้ที่ดีที่สุดคือ รัฐบาลต้องลดอำนาจลง และสนับสนุนให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น ต้องขจัดปัญหาคอรัปชั่น มีการเปิดให้แข่งขันด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม ไม่มีการครอบงำด้วยความไม่มีเหตุผล การปรองดองก็จะเกิดขึ้นได้

นายอิศเรศ  เสริมว่า ปัญหาของประเทศไทย คือ ปัญหาการทุจริต ทางสภาอุตสาหกรรม มีการเรียกร้องมาตลอด ดังนั้นอยากจะขอรัฐบาลใหม่ ปฎิรูปกฎหมายใหม่ให้สอดรับกับภาคธุรกิจมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาแค่จะเปิดโรงงานขึ้นมาสักแห่ง จะต้องไปหลายกรมหลายกระทรวงมาก จึงเป็นช่องโหว่ให้เกิดการคอรัปชั่น นักธุรกิจจึงอยากเห็นคนเก่งคนดี ได้โอกาสเข้ามาบริหารประเทศ แต่ถ้ายังมีวงจรที่ต้องมีนายทุนพรรค พอเป็นรัฐบาลแล้วก็ต้องตอบแทนนายทุน เอื้อประโยชน์เฉพาะนายทุน ก็จะเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เกิดทุจริตคอรัปชั่น มีการเลือกข้างเลือกพวก ก็จะทำให้การปรองดองไม่เกิดขึ้น

ขณะที่นายนิมิตร ฟันธงเลยว่า ความปรองดองเกิดยาก เห็นได้จากที่ผ่านมามีความขัดแย้ง มีเรื่องของผลประโยชน์ มีการทุจริต ที่ทำให้ต้อเกิดความขัดแย้ง ฉะนั้นเรื่องความปรองดองไม่ง่ายที่จะเกิดขึ้น เห็นมีแต่ผักดองเท่านั้น ไม่ใช่ปรองดอง

ส่วนนายมงคล มองว่า คำว่าปรองดองและความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีอยู่ในสังคมไทย แต่ที่น่ากังวลคือ เป็นการขัดแย้งหรือเป็นการปรองดองกับสิ่งที่ไร้สาระ เพียงเพราะเป็นความเชื่อ ซึ่งในภาพยนต์เรื่องคนเหล็ก มีประโยคที่น่าสนใจที่บอกว่า ในห้วงเวลาแห่งความสิ้นหวัง ผู้คนจะเชื่อในสิ่งที่พวกเขาอยากเชื่อ

สุดท้ายประเด็นในเรื่องของนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะมีแรงกดดันเกิดขึ้นว่า ประเทศไทยควรมีจุดยืนระหว่างประเทศอย่างไร โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับประเทศสหรัฐและประเทศจีน ทางประเทศไทยควรจะเลือกข้างหรือไม่

นายสุชาติ กล่าวว่า นโยบายด้านต่างประเทศที่ผ่านมายังมีจุดอ่อน คือไม่สามารถสร้างตัวตนของประเทศไทยบนเวทีของโลกได้ ดังนั้นรัฐบาลใหม่ควรให้กระทรวงต่างประเทศมีบทบาทมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันประเทศไทยต้องไม่ไปแสดงให้เกิดภาพว่าเป็นลูกน้องของประเทศใด เพราะจะเกิดผลเสียตามมามากมาย การมีสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งจีนและอเมริกาเป็นสิ่งที่จำเป็น  เพียงแต่ขอฝากกับรัฐบาลใหม่ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศต้องทำงานเชิงรุกมากกว่านี้ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

ขณะที่นายอิศเรศ เห็นด้วยว่าไทยไม่ควรเลือกข้าง ไม่ควรเอนเอียงไปในทางใดทางหนึ่ง แต่ควรจะต้องหาจุดแข็งของประเทศไทย คือการสร้างสินค้าเกษตรแปรรูปให้เกิดมูลค่าเพิ่ม อาทิ ยางพารา แทนที่จะส่งเป็นยางแผ่น ก็ควรที่จะผลิตเป็นสินค้าเพื่อการส่งออก จะได้มูลค่าเพิ่มมากกว่าที่ผ่านมา แล้วก็ส่งออกไปขายทั้งในจีน และอเมริกา จะเป็นประโยชน์มากกว่า

นายนิมิตร ก็มองเช่นกันว่า นโยบายต่างประเทศไม่ควรมีการเลือกข้าง แต่ควรมีนโยบายในลักษณะของการสร้างสมดุลในการร่วมมือ สร้าง Balance of Power ขึ้นมาให้ได้ เพราะที่ตั้งของประเทศไทยนั้นเป็นศูนย์กลางที่มีความสำคัญ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกข้างใดๆ

นายมงคล กล่าวว่า ชอบข้อสรุปของ ดร.วรศักดิ์ มหัทธโนบล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สรุปแง่คิดเรื่องจีนเอาไว้ได้ดีมากว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนนั้น ถ้ารู้ทัน คือ โอกาส แต่ถ้ารู้ไม่ทัน คือ วิกฤต ดังนั้นการมีสัมพันธ์ที่ดีกับจีนในลักษณะของการรู้ให้จริงก้จะเป็นประโยชน์ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์กับอเมริกา จะต้องรู้ให้จริง ต้องไม่ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งถ้ารัฐบาลและกระทรวงต่างประเทศมีความชัดเจน การมีสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งจีนและอเมริกา ย่อมจะมีประโยชน์มากกว่า