ส่องความร่วมมือระหว่างประเทศจีนและประเทศในเอเชียกลาง

0
2

การประชุมสุดยอดจีน-เอเชียกลางระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2566 ที่เมืองซีอาน มณฑลส่านซี เป็นการประชุมครั้งสำคัญระหว่างผู้นำจีน และผู้นำของประเทศเอเชียกลาง ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน

นับตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 30 ปีก่อน จีนและ 5 ประเทศในเอเชียกลางได้พัฒนาความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ในหลายด้าน ทั้งด้านการค้าการลุงทุน การขนส่ง การสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ด้านวัฒนธรรม โดยสำนักข่าว CGTN รายงานว่า จีนและประเทศเอเชียกลาง 5 ประเทศ มีความร่วมมือกันในด้านต่างๆ ดังนี้

ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จีนและประเทศในเอเชียกลางได้เสริมสร้างความเข้าใจและพัฒนาความสัมพันธ์ผ่านการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน จนถึงปีพ.ศ.2565 ทั้งสองฝ่ายร่วมกันก่อจัดโครงการเมืองพี่เมืองน้อง 58 แห่ง สถาบันขงจื่อ 13 แห่ง และห้องเรียนขงจื่อ 22 แห่ง มหาวิทยาลัยหลายแห่งในจีนยังได้จัดตั้งศูนย์วิจัยที่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเทศและภาษาในเอเชียกลาง

ความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่ง

China Railway Express (CR Express) ซึ่งเชื่อมไปสู่เอเชียกลางเติบโตอย่างรวดเร็ว ศูนย์รวมการขนส่งของ CR Express ในเมืองซีอานมีรถไฟสายหลักถึง 17 สายไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชียกลาง ซึ่งกลายเป็นช่องทางสำคัญสำหรับการขนส่งระหว่างจีนและเอเชียกลาง ในรอบ 10 ปี มีขบวนรถไฟบรรทุกสินค้า CR Express Chang’an กว่า 160,000 เที่ยวนับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2556

ทางหลวงสายยุโรปตะวันตก-จีนตะวันตก (WE-WC) ซึ่งมีความยาว 8,445 กิโลเมตรจากเหลียนหยุนกัง เมืองชายฝั่งทะเลเหลืองของจีนไปยังทะเลบอลติกที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซียเป็นเส้นทางการขนส่งที่สำคัญอีกช่องทาง ที่ช่วยเชื่อมเมืองต่างๆ หลายสิบแห่งในจีน คาซัคสถาน และรัสเซีย ทำให้การส่งสินค้าจากจีนไปยัง เอเชียกลางและยุโรป ใช้เวลาเพียง 10 วัน จากเดิมที่ต้องใช้การขนส่งทางทะเลซึ่งใช้เวลา 45 วัน

ความร่วมมือด้านพลังงาน

ในช่วงที่ผ่านมา มีโครงกาด้านการสำรวจพลังงานที่สำคัญหลายโครงการ เช่น โครงการท่อส่งก๊าซจีน-เอเชียกลาง และท่อส่งน้ำมันจีน-คาซัคสถาน โดยท่อส่งก๊าซจีน-เอเชียกลางเป็นท่อส่งก๊าซข้ามชาติเส้นแรกของจีน ที่ผ่านเติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน และคาซัคสถาน และเชื่อมต่อกับเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน และได้ส่งก๊าซธรรมชาติมากกว่า 400,000 ล้านลูกบาศก์เมตรไปยังจีนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552

ขณะที่ท่อส่งน้ำมันจีน-คาซัคสถานเป็นท่อส่งน้ำมันดิบข้ามพรมแดนทางบกแห่งแรกของจีน จากคาซัคสถาน ผ่านด่านอาลาซานโข่ว(Alataw Pass) เชื่อมต่อกับเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ในจีน จนถึงปีพ.ศ.2565 ท่อส่งน้ำมันสายนี้ได้ส่งน้ำมันดิบมากกว่า 10 ล้านตันไปยังจีน

การประชุมสุดยอดจีน-เอเชียกลางในครั้งนี้ที่เมืองซีอาน  จึงเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่จีนและประเทศในเอเชียกลางจะได้พัฒนาความร่วมมือในด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์ของทุกประเทศต่อไป

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ที่มา : สำนักข่าว CGTN