รถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง รถไฟความเร็วสูงสายแรกของอาเซียนเตรียมเปิดให้บริการเดือนสิงหาคมนี้

0
1

รถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ตาบันดุง เป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกของอินโดนีเซียและอาเซียน วิ่งระหว่างกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซียและบันดุงเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของอินโดนีเซีย เตรียมจะเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 7 ปี

รถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ตาบันดุงนี้ ผลิตโดย บริษัท China Railway Construction Corporation (CRRC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่ที่สุดของโลก การก่อสร้างรถไฟให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัย เช่นรางรถไฟจะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์อัจฉริยะ ซึ่งสามารถรตรวจจับคลื่นแผ่นดินไหว และมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าด้วย เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของอินโดนีเซียมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวและสึนามิ

นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นเรื่องการประหยัดพลังงาน โดยรถไฟขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและไม่มีการปล่อยคาร์บอนโดยตรงระหว่างการใช้งานทำให้ประหยัดพลังงานกว่าการขนส่งทางถนนและทางอากาศ จึงเป็นทางเลือกการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ก่อนที่จะมีการให้บริการรถไฟสายนี้อย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้ ในช่วงนี้ทีมงานผู้ดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตาบันดุงมีการทดสอบการวิ่งที่ระดับความเร็วที่แตกต่างกันจนถึงระดับความเร็วสูงสุดที่ 385 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การทดสอบครั้งนี้เป็นการยืนยันว่าการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางจากกว่า 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 40 นาที  นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบประสิทธิภาพของโครงสร้างราง การสั่นสะเทือนแหล่งจ่ายไฟ ระบบสื่อสารและการส่งสัญญาณและระบบอื่นๆ ซึ่งผลการทดสอบล่าสุดเป็นไปด้วยดี

จีนและอินโดนีเซียลงนามข้อตกลงเมื่อเดือนตุลาคมพ.ศ.2558 จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เริ่มก่อสร้างเมื่อปีพ.ศ.2559 โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทอินโดนีเซียและจีน ในชื่อบริษัทร่วมค้า PT Kereta Cepat Indonesia China (KCIC) มีบริษัทอินโดนีเซียถือหุ้นร้อยละ 60 และบริษัทจีนถือหุ้นร้อยละ 40 โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดของการพัฒนารถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง มีมูลค่าประมาณ 2.1 แสนล้านบาท

การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตาบันดุง ถือเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในต่างประเทศโครงการแรกที่ออกแบบ ผลิต และก่อสร้างโดยใช้เทคโนโลยีและมาตรฐานของจีน ถือเป็นจุดเชื่อมต่อสําคัญระหว่างโครงการข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน กับยุทธศาสตร์ศูนย์กลางทางทะเลทั่วโลกของอินโดนีเซีย โดยประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียกำหนดแผนที่จะเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงสายนี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 18 สิงหาคม 2566

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ภาพ : Global Times