สรุปผลสำเร็จและคาดการณ์ 5 ปีการบินอวกาศจีน

0
0

สรุปผลสำเร็จและคาดการณ์ 5 ปีการบินอวกาศจีน

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภารกิจการบินอวกาศของจีนมีความก้าวหน้าครั้งสำคัญอะไรบ้าง ในอีก 5 ปีข้างหน้าการบินอวกาศของจีนมีเป้าหมายใหม่อะไรบ้าง?

เมื่อวันที่ 28 มกราคม ปี 2022 สำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีจีนได้เผยแพร่รายงานสมุดปกขาวว่าด้วยการบินอวกาศจีนฉบับที่ 5 ในหัวข้อ “การบินอวกาศแห่งประเทศจีน ปี 2021” โดยถือการสร้างสรรค์ประเทศเข็มแข็งด้านการบินอวกาศเป็นแนวทางหลัก ได้บรรยายสรุปถึงความคืบหน้าสำคัญนับตั้งแต่ปี 2016 และภารกิจหลักใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจของประชาคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับภารกิจการบินอวกาศจีน

เร่งบรรลุการพัฒนาผ่านการสร้างนวัตกรรม โครงการสำคัญด้านการบินอวกาศปรากฏไฮไลท์บ่อยครั้ง

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การบินอวกาศจีนได้เร่งพัฒนาผ่านการสร้างนวัตกรรม นายอู๋ เยี่ยนหวา รองผู้อำนวยการองค์การอวกาศแห่งชาติจีนแนะนำว่า จรวดขนส่งไร้สารพิษและปลอดมลภาวะรุ่นใหม่ซึ่งมีจรวดลองมาร์ช-5 (Long March-5) เป็นตัวแทนได้ถูกทยอยนำมาใช้งาน มีจรวดขนส่งเชิงพาณิชย์ปรากฏตัวอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2016 จนถึงเดือนธันวาคมปี 2021 จีนปล่อยจรวดขนส่งรวม 207 ครั้ง อัตราความสำเร็จของการปล่อยจรวดลองมาร์ชอยู่ที่ 96.7%

นอกจากนี้ โครงการสำคัญด้านการบินอวกาศจีนได้ปรากฏไฮไลท์บ่อยครั้ง โครงการก่อสร้างสถานีอวกาศจีนได้ดำเนินการอย่างทั่วด้าน มีนักบินอวกาศ 6 คนได้เข้าประจำการในสถานีอวกาศตามลำดับ ซึ่งถือเป็นการเปิดยุคแห่งสถานีอวกาศจีนที่มีมนุษย์ประจำการในระยะยาว

โครงการสำรวจดวงจันทร์อันได้แก่ “โคจร ลงจอด และกลับ” ได้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ยานอวกาศฉางเอ๋อ-4 ลงจอดด้านมืดของดวงจันทร์เป็นครั้งแรกเพื่อดำเนินการสำรวจ  ยานอวกาศฉางเอ๋อ-5 นำตัวอย่างดินจากดวงจันทร์ 1,731 กรัมกลับสู่โลก

ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ได้บรรลุการก้าวกระโดดของการบินอวกาศจีนจากการสำรวจระบบโลกกับดวงจันทร์ สู่การสำรวจระบบสุริยะ ได้ทิ้งรอยประทับของจีนไว้บนดาวอังคารเป็นครั้งแรก

โครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ระบบนำทางทั่วโลกผ่านดาวเทียมเป๋ยโต่วได้สร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้งาน ระบบสังเกตการณ์โลกที่มีความละเอียดสูงได้รับการพัฒนาจนมีขีดความสามารถที่เป็นระบบ

ในพื้นที่ชนบทและห่างไกล ดาวเทียมสื่อสารได้เปิดการไลฟ์สดทางทีวีแก่ 140 กว่าล้านครัวเรือนเพื่อให้บริการต่างๆ เช่น การศึกษาทางไกล การแพทย์ทางไกล และอีคอมเมิร์ซในชนบท ซึ่งมีส่วนช่วยในการบรรเทาความยากจนและการสร้างความเจริญในชนบท

ในด้านการเดินทางของมหาชน โลจิสติกส์อัจฉริยะ การขนส่งทางทะเล การเกษตรที่มีความแม่นยํา และอื่นๆนั้น ระบบนำทางเป๋ยโต่วใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อให้บริการกำหนดตำแหน่งและนำทางอย่างแม่นยำแก่การขนส่งสินค้าและการไหลเวียนของผู้คน

เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆที่หลากหลาย เช่น การพยากรณ์อากาศ การวางแผนที่ดิน การปกป้องระบบนิเวศ เศรษฐกิจทางทะเล และการรับมือเหตุฉุกเฉินจากภัยพิบัติ เป็นต้น ดาวเทียมสำรวจระยะไกลได้ให้บริการภาพถ่ายสะสมเกิน 100 ล้านภาพ

“ปัจจุบัน ประเทศเรามีดาวเทียมประเภทต่างๆ มากกว่า 500 ดวงที่กำลังปฏิบัติงานในวงโคจร เทคโนโลยีและบริการด้านการบินอวกาศได้หลอมรวมเข้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างลึกซึ้ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการค้ำจุนการสร้างสรรค์จีนให้มีความปลอดภัย แข็งแรง สวยงามและเป็นแบบดิจิทัล” อู๋ เยี่ยนหวากล่าว

ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพสูง  การบินอวกาศจีนมีโครงการสำคัญอะไรบ้างในช่วง “แผน 5 ปีฉบับที่ 14”

“การสร้างสถานีอวกาศจีนให้เสร็จสมบูรณ์และให้เข้าสู่การดำเนินการอย่างทั่วด้าน การดำเนินโครงการสำรวจดวงจันทร์ระยะที่สี่และลงลึกพิสูจน์แผนการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ด้วยยานอวกาศพร้อมมนุษย์ การพัฒนาและปล่อยจรวดขนส่งยานอวกาศพร้อมมนุษย์รุ่นใหม่ และอื่นๆ ”

นายอู๋ เยี่ยนหวากล่าวว่าในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า การบินอวกาศจีนจะปฏิบัติตามหลักการที่ถือการสร้างนวัตกรรมเป็นพลังขับเคลื่อนหลัก สอดประสานกันและมีประสิทธิภาพสูง พัฒนาอย่างสันติ ร่วมมือและแบ่งปัน ยึดเป้าหมายแห่งการสร้างสรรค์ประเทศเข้มแข็งด้านการบินอวกาศ ถือการพัฒนาการบินอวกาศอย่างมีคุณภาพสูงเป็นธีม ผลักดันการพัฒนาอย่างครอบคลุมในด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ เทคโนโลยีอวกาศ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการบินอวกาศ ยกระดับขีดความสามารถรอบด้านอย่างต่อเนื่องในการทำความเข้าใจอวกาศตามหลักวิทยาศาสตร์ การเข้าออกอวกาศอย่างอิสระ การใช้ประโยชน์อวกาศอย่างมีประสิทธิภาพสูง และการบริหารจัดการอวกาศอย่างมีประสิทธิผล

ประการแรก ขับเคลื่อนโครงการสำคัญที่มีอยู่แล้วให้แล้วเสร็จ ซึ่งรวมถึงการปล่อยโมดูลห้องทดลอง “เวิ่นเทียน”  กับ “เมิ่งเทียน”  ยานอวกาศพร้อมมนุษย์ “เสินโจว” และยานอวกาศขนส่งสินค้า “เทียนโจว” การสร้างสถานีอวกาศจีนให้เสร็จสมบูรณ์และให้เข้าสู่การดำเนินการอย่างทั่วด้าน การสร้างระบบสังเกตการณ์โลกที่มีความละเอียดสูงให้แล้วเสร็จอย่างรอบด้าน การรักษาการดำเนินการอย่างมั่นคงของระบบนำทางเป๋ยโต่วและผลักดันการใช้งานระบบนำทางเป๋ยโต่วเชิงอุตสาหกรรม

ประการที่สอง ดำเนินโครงการสำคัญใหม่ ซึ่งรวมถึงการดำเนินโครงการสำรวจดวงจันทร์ระยะที่สี่ การพัฒนาและปล่อยยานสำรวจฉางเอ๋อ-6 และยานสำรวจฉางเอ๋อ-7 เพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในพื้นที่ขั้วโลกของดวงจันทร์ การเก็บตัวอย่างและกลับสู่โลกจากบริเวณขั้วโลกของดวงจันทร์ และอื่นๆ การดำเนินโครงการสำรวจดาวเคราะห์ซึ่งรวมถึงการส่งยานอวกาศโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยเพื่อดำเนินการสำรวจ การบังคับยานอวกาศเข้าใกล้แนบชิดดาวเคราะห์น้อย การเก็บตัวอย่างและกลับสู่โลกจากดาวเคราะห์น้อย ตลอดจนการลงลึกพิสูจน์แผนการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ด้วยยานอวกาศพร้อมมนุษย์ และเสริมสร้างพื้นฐานแห่งการสำรวจและพัฒนาห้วงอวกาศโลกกับดวงจันทร์ ด้วยยานอวกาศพร้อมมนุษย์

ประการที่สาม ปรับปรุงขีดความสามารถในการเข้าออกอวกาศให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการผลักดันการพัฒนารุ่นและประเภทจรวดขนส่ง เร่งพัฒนาและปล่อยจรวดขนส่งยานอวกาศพร้อมมนุษย์รุ่นใหม่ เร่งขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมจรวดขนส่งขนาดหนัก ตลอดจนดำเนินการวิจัย การสาธิตและการพิสูจน์อย่างต่อเนื่องทางด้านเทคโนโลยีหลักของระบบขนส่งทางอวกาศที่ใช้งานซ้ำซาก

ประการที่สี่ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานของการปฏิบัติตามแผนงานโครงสร้างพื้นฐานอวกาศทางพลเรือนแห่งชาติ ขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีหลอมรวมดาวเทียมสำรวจระยะไกล ดาวเทียมการสื่อสาร และดาวเทียมการนำทางเข้าด้วยกัน และเร่งยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการข้อมูลทางอวกาศในด้านการสื่อสารที่ดำรงอยู่และเชื่อมโยงกันอย่างกว้างขวาง ความแม่นยำในห้วงเวลาและอวกาศ และการรับรู้ในทุกมิติ

ประการที่ห้า บูรณาการวางแผนดาวเทียมวิทยาศาสตร์อวกาศและดาวเทียมทดลองเทคโนโลยี ดำเนินการแสวงหาเชิงคาดการณ์ล่วงหน้าและการวิจัยขั้นพื้นฐานอย่างไม่หยุดยั้งในด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ พิสูจน์และยกระดับเทคโนโลยีก้าวหน้าต่างๆ เช่น การบริการและการบำรุงรักษายานอวกาศในวงโคจร การเฝ้าติดตามและป้องกันดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ใกล้โลก

อัตราส่วนผลตอบแทนจากการลงทุนสามารถสูงถึง “1:10”  การบินอวกาศจะเข้าสู่ครอบครัวเรือนพันเรือนหมื่นมากยิ่งขึ้น

เทคโนโลยีการบินอวกาศเป็นการแสดงออกที่สำคัญของระดับการพัฒนาโดยรวมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของแต่ละประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีการบินอวกาศนั้น ควรทั้งผลักดันการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของวิทยาศาสตร์อวกาศและเทคโนโลยีอวกาศ และแปลงผลสำเร็จด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นพลังขับเคลื่อนอันแท้จริงในการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

นายจ้าว เจียน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลและสังเกตการณ์โลกขององค์การอวกาศแห่งชาติจีนกล่าวว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาด้านการบินอวกาศ การลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีการบินอวกาศนั้นค่อนข้างสูง แต่ประโยชน์ที่ได้จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการบินอวกาศนั้นมีขนาดใหญ่มาก ตามสถิติเบื้องต้นอัตราส่วนผลตอบแทนจากการลงทุนสามารถสูงถึง 1:10 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการบินอวกาศใหม่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งส่งแรงกระตุ้นอย่างชัดเจนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ

นอกจากนี้สมุดปกขาวยังชี้ให้เห็นว่า ต้องศึกษาและกำหนดแนวทางชี้นำการพัฒนาการบินอวกาศเชิงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมการบินอวกาศเชิงพาณิชย์ให้ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เมื่อเร็วๆนี้ ดาวเทียมสื่อสารบรอดแบนด์วงโคจรต่ำจำนวน 6 ดวง ที่พัฒนาโดยบริษัทการบินอวกาศหยินเหอซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของจีน ได้ถูกนำออกจากพื้นที่วิจัยและผลิตดาวเทียมที่บริษัทแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยตนเอง เสร็จสิ้นการประเมินและตรวจสอบก่อนนำออกจากโรงงาน และส่งไปยังฐานปล่อยดาวเทียมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะทำการปล่อยในโอกาสที่เหมาะสมภายในไตรมาสแรกของปี 2022

นายจาง ซื่อเจี๋ย หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของบริษัทการบินอวกาศหยินเหอให้มุมมองว่า “การเพิ่มขึ้นของจำนวนดาวเทียม การเพิ่มความหลากหลายของแพลตฟอร์ม การยกระดับประสิทธิภาพ และการผลิตดาวเทียมเชิงพาณิชย์และมีต้นทุนที่ต่ำลงนั้น กำลังทำให้ฉากการใช้งานดาวเทียมมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ปัจจุบันเทคโนโลยีการบินอวกาศได้ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในด้านต่างๆ ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เช่น การปกป้องทรัพยากรที่ดิน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อันสืบเนื่องมาจากการบินอวกาศก็ได้เข้าสู่ครอบครัวเรือนพันเรือนหมื่น ประชาชนทั่วไปได้สัมผัสกับชีวิตอันดีงามที่รังสรรค์ขึ้นโดยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินอวกาศ   

 สถานีอวกาศจีนในยุคมีมนุษย์ประจำการระยะยาว

วันที่ 16 ตุลาคม ปี 2021 จีนประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศพร้อมนักบิน “เสินโจว-13” ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อไปประจำการยังสถานีอวกาศจีนซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงว่า สถานีอวกาศจีนเริ่มเข้าสู่ยุคที่มีมนุษย์ประจำอยู่ในระยะยาว

โครงการการบินอวกาศพร้อมมนุษย์ของจีนเริ่มต้นขึ้นในทศวรรษ 1990 ตามยุทธศาสตร์ “3 ย่างก้าว” ปัจจุบันได้เข้าสู่ก้าวที่ 3 กล่าวคือ “การสร้างสถานีอวกาศ โดยจะตอบโจทย์การประยุกต์ใช้ทางอวกาศ โดยมีคนดูแลสถานีอวกาศในระยะยาว” สถานีอวกาศที่โคจรอยู่ใกล้โลกเป็นสถานที่อยู่อาศัยของนักบินอวกาศระยะยาว และเป็นสถานที่ปฏิบัติภารกิจของนักบินอวกาศผู้ดูแลรักษาอุปกรณ์ ซ่อมบำรุง และยืดอายุการใช้งานสถานีอวกาศ กล่าวได้ว่าเป็นฐานที่มั่นในอวกาศ

ก่อนหน้านี้โครงการการบินอวกาศพร้อมมนุษย์ของจีนเคยท่องอวกาศมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่การส่งยานอวกาศพร้อมนักบินขึ้นสู่ห้วงอวกาศ การส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศ การปฏิบัติภารกิจนอกยานอวกาศ รวมไปถึงการส่งห้องปฏิบัติการขึ้นสู่อวกาศ ด้วยการใช้เทคโนโลยีไป-กลับระหว่างอวกาศ-โลก การออกปฏิบัติภารกิจนอกยานอวกาศ การเชื่อมต่อและประกอบเข้าด้วยกันในอวกาศ ซึ่งปูทางสู่การสร้างสถานีอวกาศอย่างสุขุมรอบคอบ

วันที่ 29 เมษายนปีนี้ จีนส่งโมดูลหลัก “เทียนเหอ” ของสถานีอวกาศจีนขึ้นสู่อวกาศจากศูนย์ปล่อยยานอวกาศเหวินชางด้วยความสำเร็จ เป็นนัยแสดงว่า สถานีอวกาศจีนเข้าสู่ช่วง “การก่อสร้าง” ตามการออกแบบ โครงสร้างของสถานีอวกาศประกอบด้วย 3 โมดูล ในส่วนของโมดูลหลัก “เทียนเหอ” มีน้ำหนัก 22.5 ตัน เป็นยานอวกาศขนาดใหญ่ที่สุดของจีนที่ขึ้นสู่อวกาศในขณะนี้ โมดูลหลักนี้เป็นศูนย์บัญชาการ การกำกับดูแลสถานีอวกาศ และเป็นที่อยู่อาศัยของนักบินอวกาศที่จะใช้ชีวิตในอวกาศเป็นเวลานาน

เวลา 00.23 น. วันที่ 16 ตุลาคม 2021 ที่ศูนย์ส่งดาวเทียมจิ่วเฉวียน จีนใช้จรวดขนส่งลองมาร์ช-2F ส่งยานอวกาศพร้อมนักบิน “เสินโจว-13” ขึ้นสู่อวกาศ จากนั้นราว 582 วินาที ยานอวกาศพร้อมนักบิน “เสินโจว-13” ก็แยกตัวออกจากจรวดด้วยความสำเร็จ โดยเข้าสู่วงโคจรที่กำหนดไว้พร้อมพานักบิน 3 คน ได้แก่ จ๋าย จื้อกัง, หวัง ย่าผิง และเย่ กวงฟู่ ขึ้นสู่อวกาศอย่างราบรื่น

สำหรับนักบินอวกาศ 3 คนดังกล่าว จ๋าย จื้อกังเป็นนักบินที่ออกจากยานไปสำรวจอวกาศคนแรกของจีน ขณะที่หวัง ย่าผิงเป็น “ครูผู้สอนในอวกาศ” คนแรกของจีน และเย่ กวงฟู่ เป็นการขึ้นสู่อวกาศครั้งแรก

ทั้งนี้ถือเป็นภารกิจการบินครั้งที่ 21 ของโครงการการบินอวกาศพร้อมมนุษย์ของจีน ทั้งยังเป็นภารกิจการบินพร้อมนักบินครั้งที่ 2 ในช่วงการสร้างสถานีอวกาศ

เวลา 06.56 น. ยาน “เสินโจว-13” ได้เชื่อมต่อเข้ากับโมดูลหลัก “เทียนเหอ” ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เชื่อมต่อกับยานขนส่ง “เทียนโจว-2” และ “เทียนโจว-3” ทำให้ทั้ง 4 ยานประกอบเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว

ปฏิบัติการเชื่อมต่อครั้งนี้ใช้เวลาราว 6.5 ชั่วโมงด้วยวิธีการเชื่อมต่อแบบ radial direction ถือเป็นครั้งแรกที่ยานอวกาศพร้อมนักบินของจีนทำการเชื่อมต่อแบบดังกล่าวในอวกาศ

สำนักงานโครงการการบินอวกาศพร้อมมนุษย์ของจีน ระบุว่า หลังยาน “เสินโจว-13” เชื่อมต่อกับโมดูลหลัก “เทียนเหอ” เรียบร้อยแล้ว ทีมลูกเรือได้เข้าสู่โมดูลในวงโคจร ปฏิบัติตามขั้นตอนทุกประการ แล้วจึงเปิดประตูโมดูลหลัก “เทียนเหอ” เวลา 09.58 น. วันเดียวกัน นักบินอวกาศ 3 คนได้เข้าประจำการยังโมดูลหลัก “เทียนเหอ” อย่างราบรื่น โดยเริ่มต้นชีวิตในอวกาศเป็นเวลา 6 เดือน ทั้งนี้สถานีอวกาศจีนได้เปิดรับทีมลูกเรือทีมที่ 2 และนักบินอวกาศหญิงคนแรก

ในช่วงประจำการยังสถานีอวกาศในวงโคจร ทีมลูกเรือดังกล่าวมีหน้าที่ดูแลโมดูลหลัก “เทียนเหอ”, ยานบินอวกาศพร้อมนักบิน “เสินโจว-13”, ยานขนส่ง “เทียนโจว-2” และ “เทียนโจว-3” ที่เป็นหนึ่งเดียวไปพร้อมกัน รวมถึงหน้าที่อื่น ๆ เช่น การทดลอง Bioregenerative life support system (BLSS) การจัดเก็บข้อมูลในวงโคจร การวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชนิด “Human Factors Engineering” แพทยศาสตร์การบินอวกาศ ระบบการประยุกต์ใช้ในอวกาศ และการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการดูแลธุรกรรมต่าง ๆ บนสถานีอวกาศ ทั้งยังจะออกปฏิบัติภารกิจนอกยานอวกาศ 2 – 3 ครั้ง เพื่อทำการทดสอบเทคโนโลยีการปฏิบัติภารกิจนอกยานและเทคโนโลยีประกันให้นักบินอวกาศประจำยังสถานีอวกาศในระยะยาว อันเป็นพื้นฐานของการสร้างสถานีอวกาศจีน

“ประจำการในวงโคจร 6 เดือน” เป็นสถิติใหม่ของจีนในการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปประจำยังอวกาศ ถือเป็นวิถีปกติในการเข้าประจำการบนสถานีอวกาศสำหรับทีมนักบินอวกาศ ทั้งนี้ห่างจากครั้งแรกที่จีนส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่อวกาศถึง 18 ปีถ้วน

ย้อนกลับไปวันที่ 16 ตุลาคม 2003 ยานอวกาศพร้อมมนุษย์ “เสินโจว-5” กลับสู่พื้นโลกพร้อม “หยาง ลี่เหว่ย” นักบินอวกาศคนแรกของจีนด้วยความปลอดภัย ทำให้ความฝันของชาวจีนในการบินสู่อวกาศในช่วงสหัสวรรษ (1,000 ปี) กลายเป็นจริงขึ้น

ทางช้างเผือกแสงทองผ่องอำไพ ความใฝ่ฝันไร้ขอบเขต ในขณะที่ “ประจำการในวงโคจรเป็นเวลา 6 เดือน” จะเป็นวิธีปกติในการเข้าประจำการสำหรับทีมนักบินอวกาศ จะทำให้นักบินอวกาศจีนฝันได้อีกไกล จะทำให้ชาวจีนอุทิศกำลังและสติปัญญาเพื่อใช้อวกาศในทางสันติได้มากขึ้น

พัฒนาการการบินอวกาศจีน

เหตุการณ์สำคัญ ๆ ในประวัติการบินอวกาศจีน

กิจการการบินอวกาศจีนเริ่มต้นเมื่อปี 1956  ซึ่งปีนั้นจีนได้กำหนดแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์ 12 ปี โดยถือการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีจรวดเป็นโครงการสำคัญระดับชาติ

ปี 1960- จีนปล่อยจรวดทดลองลำแรก“T—7M”ที่เซี่ยงไฮ้ด้วยความสำเร็จ นับเป็นก้าวแรกของการวิจัยผลิตจรวดของจีน เปิดฉาก“ยุคอวกาศ”ของจีน

ปี1964 – ตัวอย่างด้านชีววิทยาบรรจุในหลอดทดลอง 12 หลอด รวมทั้งหนูสีขาวอย่างละ 8 ตัว ถูกนำขึ้นจรวด T-7A/S1 ซึ่งถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศที่มณฑลอานฮุยด้วยความสำเร็จ

ปี1970 -วันที่ 24 เมษายน จีนประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่อวกาศ คือ ตงฟางหง -1 (DFH-1) โดยใช้จรวดขนส่งฉางเจิง-1(Changzheng-1) หรือ Long March-1 จีนกลายเป็นประเทศที่ 5 ของโลกที่วิจัย ผลิตและส่งดาวเทียมด้วยตัวเองได้

ปี1985 -จรวดขนส่งฉางเจิง-2 หรือ Long March-2และจรวดขนส่งฉางเจิง-3 หรือ Long March-3 ของจีนเปิดตัวเข้าสู่ตลาดโลก ให้บริการรับส่งดาวเทียมทั้งในและต่างประเทศ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 1990 จรวดขนส่งฉางเจิง-3 หรือ Long March-3 ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมสื่อสารเอเชียหมายเลข 1 ซึ่งผลิตโดยสหรัฐอเมริกาเข้าสู่วงโควร จีนนับเป็นประเทศที่ 3 ที่ให้บริการรับส่งดาวเทียมระหว่างประเทศเชิงพาณิชย์

ปี 1999 – ยานเสินโจว-1 ซึ่งเป็นยานอวกาศทดลองไร้มนุษย์ลำแรกของจีนถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศ และได้กลับสู่พื้นโลกอย่างราบรื่นหลังบินเป็นเวลา21 ชั่วโมง บรรลุผลสำเร็จด้าน“การไปและการกลับระหว่างโลกกับอวกาศ”นับเป็นการเปิดฉาก“ยุคการบินอวกาศบรรทุกมนุษย์”ของจีน

ปี 2003 -วันที่ 15 ตุลาคม ยานเสินโจว-5 ซึ่งเป็นยานอวกาศพร้อมมนุษย์ลำแรกของจีนได้ปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศ หยางลี่เหว่ย มนุษย์อวกาศคนแรกของจีนกลับสู่พื้นโลกหลังจากท่องอยู่ในอวกาศโดยโคจรรอบโลก 14 รอบ

ปี 2007 -วันที่ 24 ตุลาคม จีนส่ง “ฉางเอ๋อ-1” ดาวเทียมสำรวจดวงจันทร์ดวงแรกด้วยความสำเร็จ ได้ส่งรูปถ่ายพื้นผิวดวงจันทร์กลับสู่โลกเป็นครั้งแรก นับเป็นการเปิดฉากภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของจีนอย่างเป็นทางการ

ปี 2008 -วันที่ 25 กันยายน จีนปล่อย เสินโจว-7 ยานอวกาศพร้อมนักบินอวกาศ 3 คนพุ่งขึ้นสู่อวกาศ และกลับสู่พื้นโลกด้วยความสำเร็จภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจกลางอวกาศ ไฮไลท์สำคัญของภารกิจครั้งนี้อยู่ที่นักบินอวกาศโผล่ตัวออกมาจากยานอวกาศเสินโจว 7 และลอยตัวออกนอกยานอวกาศเป็นเวลา 13 นาที เขาโบกมือให้กับกล้อง รวมทั้งโบกสะบัดธงชาติจีนให้ผู้ชมที่กำลังชมการถ่ายทอดสดด้วย

ปี 2011 -วันที่ 29 กันยายน จีนส่ง‘เทียนกง-1’ ซึ่งเป็นห้องทดลองอวกาศไร้มนุษย์บังคับ นับเป็นภารกิจการส่งยานเชื่อมต่อครั้งแรก และเป็นก้าวแรกของการก่อตั้งสถานีอวกาศ

ปี 2011 -วันที่ 1 พฤศจิกายน จีนประสบความสำเร็จในการปล่อยยานอวกาศเสิ่นโจว-8 ขึ้นสู่อวกาศเพื่อปฏิบัติภารกิจทดลองการเทียบท่า หรือการเชื่อมต่อกับ  ‘เทียนกง-1’ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโครงการสร้างสถานีอวกาศที่มีนักบินอวกาศประจำการถาวร

ปี 2016 -วันที่ 15 กันยายน จีนประสบความสำเร็จในการปล่อยห้องปฏิบัติการทางอวกาศ “เทียนกง 2” ขึ้นสู่วงโคจรปฏิบัติภารกิจแทน‘เทียนกง-1’

ปี 2019 -วันที่ 3 มกราคม จีนส่ง “ฉางเอ๋อ-4” ยานสำรวจดวงจันทร์ลงจอดด้านมืดของดวงจันทร์ด้วยความสำเร็จ กลายเป็นยานสำรวจลำแรกของโลกที่สามารถซอฟท์แลนดิ้งในด้านมืดดวงจันทร์ อีกทั้งยังสามารถดำเนินการสำรวจด้วยตัวเองได้ด้วย

ปี 2020 -วันที่ 23 กรกฎาคม จีนประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวด “ลองมาร์ช-5” ส่งยานสำรวจดาวอังคาร “เทียนเหวิน-1”ซึ่งมีภารกิจ 3 ส่วน ได้แก่ การเข้าสู่วงโคจร ลงจอดที่พื้นผิวดาวอังคาร และปล่อยยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารออกมา จากนั้นจะอยู่บนดาวอังคารเป็นเวลา 3 เดือนดาวอังคาร (เท่ากับ 92 วันโลก) บนสภาพพื้นผิว โครงสร้างทางภูมิศาสตร์และสภาพอากาศของดาวอังคาร และจะส่งสัญญาณข้อมูลสิ่งที่ค้นพบกลับมายังโลก

จีนเร่งดำเนินโครงการสำรวจดวงจันทร์ด้วยยานอวกาศฉางเอ๋อ

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ปี 2020 จีนส่งยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-5 ทะยานขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดขนส่งลองมาร์ช-5 ที่ฐานปล่อยยานอวกาศเหวินชางในมณฑลไห่หนาน ทางภาคใต้ของจีน  ก่อนหน้านี้ จีนได้ส่งยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-1 ฉางเอ๋อ-2 ฉางเอ๋อ-3 และฉางเอ๋อ-4 รวมทั้งดาวเทียมสื่อสารเชวี่ยเฉียว (Queqiao) ขึ้นสู่อวกาศตามลำดับ

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ปี 2007 จีนส่งยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-1 ทะยานขึ้นสู่อวกาศที่ฐานปล่อยดาวเทียมซีชาง   ฉางเอ๋อ-1ปฏิบัติภารกิจโคจรรอบดวงจันทร์ ซึ่งเป็นภารกิจแรกของทั้งหมด 3 ขั้นตอน คือ โคจร ลงจอด และกลับสู่โลก   ยานอวกาศฉางเอ๋อ-1 ได้โคจรรอบดวงจันทร์เป็นเวลานานถึง 494 วัน แล้วพุ่งชนดวงจันทร์ตามคำสั่งในวันที่ 1 มีนาคม ปี 2009  เป็นการเสร็จสิ้นภารกิจในครั้งนั้น    ภารกิจครั้งนั้นทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 5 ที่สามารถส่งยานสำรวจดวงจันทร์ขึ้นสู่อวกาศด้วยตนเอง

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2010 จีนส่งยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-2 ทะยานขึ้นสู่อวกาศที่ฐานปล่อยดาวเทียมซีชาง   ยานอวกาศนี้ได้เก็บข้อมูลภาพพื้นผิวดวงจันทร์เพิ่มจากฉางเอ๋อ-1 และยังได้ถ่ายภาพพื้นผิวดวงจันทร์บริเวณที่ฉางเอ๋อ-3 จะลงจอด  อย่างไรก็ตาม ฉางเอ๋อ-2 ยังคงปฏิบัติภารกิจโคจรรอบดวงจันทร์เท่านั้น ซึ่งเป็นภารกิจขั้นตอนแรกในโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน    หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-2 บินไปยังห้วงอวกาศลึก  ไม่ได้ถูกสั่งให้พุ่งชนดวงจันทร์เหมือนเช่นยานอวกาศฉางเอ๋อ-1

ยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-3 ได้ปฏิบัติภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์  ซึ่งเป็นภารกิจขั้นตอนที่ 2 แล้ว โดยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปี 2013 จีนส่งยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-3 ทะยานขึ้นสู่อวกาศที่ฐานปล่อยดาวเทียมซีชาง ต่อมาในวันที่ 14 ธันวาคมปีเดียวกัน ยานฉางเอ๋อ-3 ได้ลงจอดบนดวงจันทร์ด้วยความสำเร็จ ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ที่สามารถนำยานสำรวจลงจอดบนดวงจันทร์ได้ต่อจากสหรัฐฯ และอดีตสหภาพโซเวียต

หลังจากนั้นในวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2018 จีนส่งยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-4 ทะยานขึ้นสู่อวกาศ ต่อมาในวันที่ 3 มกราคม ปี 2019 ยานอวกาศดังกล่าวได้ลงจอดบนด้านไกลของดวงจันทร์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ยานสำรวจลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์   จนถึงขณะนี้   หุ่นยนต์สำรวจ “อี้ว์ทู่” ซึ่งเป็นยานลูกของฉางเอ๋อ-4 ยังคงปฏิบัติภารกิจสำรวจบนดวงจันทร์  กลายเป็นยานสำรวจที่ปฏิบัติภารกิจบนพื้นผิวดวงจันทร์นานที่สุดในโลก

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ปี 2018 จีนส่งดาวเทียมสื่อสารชื่อ เชวี่ยเฉียว (Queqiao) ทะยานขึ้นสู่อวกาศ เพื่อเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างศูนย์ควบคุมบนพื้นโลกกับยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-4  ดาวเทียมสื่อสารเชวี่ยเฉียว จึงเป็นดาวเทียมสื่อสารดวงแรกที่เชื่อมต่อการสื่อสารจากนอกวงโคจรโลก โดยสามารถรับสัญญาณข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-4 แล้วส่งกลับสู่ภาคพื้นโลกได้ทันที    จึงมีความหมายสำคัญทางวิทยาศาสตร์ และเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของมนุษย์ในการสำรวจอวกาศ

เกราะหุ้มยานและภารกิจของรถสำรวจบนดาวอังคาร

การที่ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 สามารถข้าม “น้ำและภูเขาเรือนพันเรือนหมื่น” ลงจอดบนดาวอังคารด้วยความสำเร็จนั้น อุปกรณ์พิเศษชิ้นหนึ่งที่จะไม่เอ่ยถึงเลยไม่ได้ นั่นก็คือ “เกราะหุ้มยาน” สีเงิน หรือที่คนจีนเปรียบเทียบว่าเป็น “แจ๊คเกตสีเงิน” ที่ผลิตโดยโรงงาน 529 สังกัดสถาบันวิจัยที่ 5 ของกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีนหลังผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างละเอียดมาเป็นเวลา 2 ปี

ในวงโคจรที่เข้าใกล้ดาวอังคาร ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1  จะต้องผ่านอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงตามวงโคจรหลายรอบ โดยมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 100 องศาเซลเซียสและอุณหภูมิต่ำสุดถึงลบ 120 องศาเซลเซียส สภาพแวดล้อมที่แตกต่างของอุณหภูมิมากกว่า 200 องศาเซลเซียสเช่นนี้ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำงานของอุปกรณ์ภายในยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 นอกจากนี้เวลาที่รับแสงอย่างต่อเนื่อง สภาวะสุญญากาศในระดับสูงของห้วงอวกาศทำให้ยานเทียนเวิ่น-1 ไม่สามารถถ่ายโอนความร้อนเช่นเดียวกับเครื่องบินได้ ดังนั้นพื้นผิวของยานอวกาศด้านที่หันหน้าไปทางดวงอาทิตย์จะมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทําให้มีอุณหภูมิที่แตกต่างอย่างมหาศาลกับพื้นผิวของยานอวกาศด้านที่หันหลังให้ดวงอาทิตย์

เจ้าหน้าที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของโรงงาน 529 สถาบันวิจัยที่ 5 ของกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีนแนะนำว่า “สภาวะดังกล่าวจะทำให้เกิดความไม่สมดุลของอุณหภูมิภายในยานลงจอดและตระเวนสำรวจดาวอังคารอย่างรุนแรง ทําให้ “อุปกรณ์ภายใน” ของยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 บางส่วนต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หนาวเหน็บ และบางส่วนต้องเผชิญกับความร้อนสูง ง ยิ่งไปกว่านั้นการแผ่รังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีพลังงานสูงและรังสีไอออนไนซ์อย่างต่อเนื่องจากห้วงอวกาศภายนอกจะทำให้พื้นผิวของยานอวกาศเกิดการสึกหรอและเสียหาย”

ดังนั้น เกราะหุ้มยานที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษสำหรับยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 นั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แนะนำว่า  “เกราะหุ้มยาน” พิเศษตัวนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “ชั้นเคลือบควบคุมความร้อนที่มีระดับการดูดซึมต่ำ-การปล่อยออกต่ำ”  เป็นวัสดุควบคุมความร้อนที่เคลือบบนพื้นผิวด้านนอกของยานอวกาศ มีประสิทธิภาพในการสะท้อนรังสีสเปกตรัมของดวงอาทิตย์และมีลักษณะการแผ่รังสีอินฟราเรดของตัวเอง สามารถลดผลกระทบจากสภาพแวดล้อมในอวกาศที่มีต่ออุณหภูมิภายในยานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  “เช่นเดียวกับชั้นเคลือบควบคุมความร้อนอื่น ๆ ‘เกราะหุ้มยาน’ จะดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับที่ต่ำมาก และสามารถสะท้อนพลังงานส่วนใหญ่จากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์เป็นเวลานานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยแก้ปัญหาความแตกต่างกันของอุณหภูมิภายในยานอวกาศได้อย่างตรงจุด สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือ  ทั้งการดูดซับและปล่อยพลังงานของ‘เกราะหุ้มยาน’ต่างอยู่ในระดับต่ำ  เราลดการแผ่รังสีอินฟราเรดของชั้นเคลือบควบคุมความร้อนเพื่อลดการรั่วไหลของความร้อนจากภายในยานอวกาศสู่ภายนอกภายใต้สภาพสุญญากาศ ทำให้อุณหภูมิอยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับการทำงานปกติของอุปกรณ์และเครื่องมือภายในยานลงจอดและตระเวนสำรวจดาวอังคาร ทำให้การเดินทางของยานเทียนเวิ่น-1 มีความปลอดภัยและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น”

การเอาตัวรอดในถิ่นทุรกันดารของ “ดาวเคราะห์สีแดง”

หากดูในรูปภาพลักษณะภูมิประเทศของดาวอังคารดูเหมือนทะเลทรายโกบีบนโลก แต่ในความเป็นจริงความเร็วลมบนดาวอังคารสูงถึง 180 เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นเกือบ 3 เท่ากว่าของความเร็วลมของซุเปอร์ไต้ฝุ่นบนโลก ลมแรงที่กรรโชกราวสัตว์ป่าจะพัดฝุ่น รวมถึงก้อนหินจำนวนมากลอยขึ้นบนอากาศ ซึ่งจะส่งผลทำให้ “เซ็นเซอร์นำทาง” ของรถสำรวจดาวอังคารจู้หรงเต็มไปด้วยฝุ่นและ “ปีก” ของรถสำรวจจะไม่มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานนอกจากนี้พื้นผิวของดาวอังคารยังปกคลุมไปด้วยสิ่งกีดขวาง เช่น ก้อนหินที่หนาแน่น ดังนั้นรถสำรวจดาวอังคารจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการเดินทาง เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าไปติดอยู่กับสิ่งกีดขวางและทำให้เกิดความล่าช้าในการปฏิบัติงาน

เพื่อให้รถสำรวจดาวอังคารสามารถ “ปฏิบัติงานได้อย่างบรรลุเป้าหมาย” ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย นักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้พัฒนาวัสดุชนิดใหม่ที่กันฝุ่นและแม้ว่าจะเปื้อนฝุ่นก็สามารถสลัดออกได้ด้วยแรงสั่นสะเทือน

นายเจี่ย หยาง รองหัวหน้าผู้ออกแบบยานสำรวจเทียนเวิ่น-1 จากสถาบันวิจัยที่ 5 ของกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีนกล่าวว่า  “นอกจากนี้เรายังมีรถสำรวจดาวอังคารที่เหมือนกันคันหนึ่งไว้ในห้องปฏิบัติการพิเศษ เมื่อรถจู้หรงต้องเจอกับสภาพถนนที่สลับซับซ้อนบนดาวอังคาร รถในห้องปฏิบัติการจะทำการจำลองการเดินทางก่อน เมื่อยืนยันความถูกต้องแล้วจึงจะออกคำสั่งไปยังดาวอังคาร”

ตามแผนงานที่กำหนดไว้ หลังจาก 90 วันบนดาวอังคาร รถสำรวจดาวอังคารจู้หรงจะเสร็จสิ้นภารกิจตระเวนสำรวจ ส่วนยานโคจรรอบดาวอังคารจะปรับวงโคจรเพื่อโคจรรอบดาวอังคารและทำการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ต่อไป

แปลเรียบเรียงโดยภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน(CMG)