สมาร์ทเทคโนโลยี ที่ บริษัท “หัวเว่ย” ร่วมขับเคลื่อนโรงพยาบาลอัจฉริยะในประเทศไทย

0
0

กว่า 1 ปี แล้วที่บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำของจีน ได้สนับสนุนเทคโนโลยีให้กับโรงพยาบาลศิริราชเพื่อผลักดันให้โรงพยาบาลศิริราชเป็นต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ ถ้าใครได้ไปใช้บริการโรงพยาบาลศิริราชในปีนี้จะเห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องการให้บริการที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการหลายเรื่อง

นายทรงศักดิ์ ไชยชนะ วิศวกรไอที ของบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ระบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ เรียกว่า “หัวเว่ยสมาร์ทเฮลท์แคร์” โดยหัวเว่ยได้ติดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้โรงพยาบาลสามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆ ได้แก่ เทคโนโลยี 5G Cloud และ AI ในการให้บริการผู้ป่วย

เทคโนโลยี 5G จะมีการใช้งานที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ความเร็ว (Speed) สูงมาก ได้ถึง 4 กิกะบิตต่อวินาทีจำนวนการเชื่อมต่อ (connection) หมายถึง เสา 1 ต้นของ 5G สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IOT ต่างๆ ถึง 1,000,000 เครื่อง

ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยี 5G ทำให้การใช้งานรถไร้คนขับจะตอบโจทย์ได้มากขึ้น เช่นรถส่งยา เวชภัณฑ์ เป็นรถไร้คนขับที่ใช้ในโรงพยาบาลสามารถกระจายไปยังตึกต่างๆ  ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ช่วงที่เกิดขึ้นโควิด-19 ยุคแรก ที่มีการเว้นระยะห่าง ขณะที่การใช้เทคโนโลยี AI และ Cloud จะช่วยรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่และประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยคัดกรองโรคในเบื้องต้น อย่างโควิด-19 ช่วงแรก ที่เชื้อลงปอด สามารถใช้เทคโนโลยี AI ประเมินว่าต้องการความช่วยเหลือจากแพทย์มากน้อยแค่ไหน

รองศาสตราจารย์ น.พ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ให้ข้อมูลว่าคนไข้ที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลศิริราชปีละ 3.8 ล้านครั้งบริการ โรงพยาบาลศิริราชมีการปรับกระบวนการการให้บริการโดยใช้เทคโนโลยี มีเทคโนโลยี 5G ที่ดาวน์โหลดข้อมูลให้เร็วขึ้น ความหน่วงต่ำครอบคลุมในหลายพื้นที่ และนำเทคโนโลยีมาปรับระบบการให้บริการ เป็นระบบ healthcare everywhere คือ การดูแลสุขภาพจากทุกที่ เพื่อลดความจำเป็นในการมาโรงพยาบาล ลดการเดินทาง

มีตัวอย่างที่โรงพยาบาลศิริราชนำเทคโนโลยีมาให้บริการ เช่น

รถฉุกเฉินของโรงพยาบาล จะติดตั้งอุปกรณ์วัดสัญญาณชีพที่เชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยสัญญาณ 5G อัตโนมัติ และติดตั้งแว่น AR Glass เป็นแว่นถ่ายและบันทึกเหตุการณ์เพื่อให้แพทย์เห็นเหตุการณ์ และให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่บนรถ

5G Smart ER ห้องฉุกเฉินอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพจะเข้าสู่ฐานข้อมูลของโรงพยาบาล มีระบบปัญญาประดิษฐ์คอยแจ้งเตือนเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย

AI Platform For NCDs ผู้ช่วยการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพรายบุคคลผ่านเครือข่าย 5 G เป็นเครื่องที่มีเข็มนาโนตรวจน้ำตาลทุก 5 นาที สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยสามารถวัดสัญญาณชีพ การเต้นของหัวใจ จำนวนก้าวที่เดิน จำนวนชั่วโมงที่นอน และบันทึกไว้นในระบบคลาวด์ ข้อมูลเหล่านี้ทำให้แพทย์และผู้เชี่ยวชาญแนะนำเรื่องการปรับพฤติกรรมและการรักษา

เวชระเบียนกลางบนฐานข้อมูลดิจิทัล ที่ช่วยแชร์ประวัติผู้ป่วยเพื่อให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถเชื่อมโยงเวชระเบียนของคนไข้ได้

การใช้เทคโนโลยี AI ในการบริหารจัดการคลังยาเวชภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยใช้เทคโนโลยี AI ช่วยพยากรณ์ว่า สัปดาห์หน้าต้องจ่ายยาชนิดนี้กี่เม็ด โดยAI สามารถพยากรณ์แม่นยำร้อยละ 95 ลดปัญหาการสำรองยาไม่พอหรือสั่งซื้อยามาไว้ในคลังมากเกินไป

นี่เป็นตัวอย่างของเทคโนโลยี 5G Cloud และ AI ที่หัวเว่ยพัฒนาและนำมาใช้กับโรงพยาบาลศิริราช ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพการบริการของโรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลต้นแบบของการให้บริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่ให้โรงพยาบาลอื่นนำไปใช้ต่อไป

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย