เส้นทางสู่นายกรัฐมนตรีของ “หลี่ เฉียง”

0
1

เส้นทางสู่นายกรัฐมนตรีของ “หลี่ เฉียง”

ในเวลานี้ บุคคลสำคัญทางการเมืองของจีนที่เป็นที่จับตามองมากที่สุด คือ “หลี่ เฉียง” ผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของจีน  ทำหน้าที่ต่อจากนายหลี่ เค่อเฉียง ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 2 สมัย

สิ่งสำคัญที่โลกจับตามอง คือ “หลี่ เฉียง” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ผู้ที่ต้องขับเคลื่อนประเทศจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับสองของโลก จะมีนโยบายและจัดลำดับความสำคัญในการบริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างไร  เมื่อจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายเรื่อง ทั้งเรื่องสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปและการฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

สำหรับประวัติของหลี่ เฉียง เขาเกิดเมื่อเดือนกรกฎาคม ปีค.ศ. 1959 เป็นชาวเมืองรุ่ยอัน (Ruian) มณฑล    เจ้อเจียง ปัจจุบันอายุ 63 ปี  จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเครื่องจักรการเกษตร จากมหาวิทยาลัยการเกษตรเจ้อเจียง และจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านธุรกิจจากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคฮ่องกง

หลี่ เฉียงเคยทำงานใกล้ชิดกับสี จิ้นผิง ตั้งแต่เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ในช่วงปีค.ศ.2004-2007 ที่สี จิ้นผิง ทำหน้าที่เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลเจ้อเจียง และ หลี่ เฉียงทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ประจำมณฑลเจ้อเจียง

นอกจากนี้ เขายังมีประสบการณ์พัฒนาเมืองต่างๆ หลายเมือง หลี่ เฉียง เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการมณฑล     เจ้อเจียง  เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลเจียงซู  และปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครเซี่ยงไฮ้

นักวิเคราะห์มองว่า หลี่ เฉียงเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภาคเอกชน  ในการทำหน้าที่เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครเซี่ยงไฮ้  เขามีนโยบายสร้างนครเซี่ยงไฮ้ให้ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนนโยบายที่เอื้อให้ภาคเอกชนและนักลงทุนต่างชาติประกอบธุรกิจได้ง่ายขึ้น  เขามีบทบาทสำคัญในการดึงดูดให้บริษัทเทสลา บริษัทยานยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของโลกมาลงทุนในเซี่ยงไฮ้เมื่อปีค.ศ. 2019

หลี่ เฉียง ในวันนี้ คือผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานในระดับภูมิภาคที่หลากหลาย พัฒนาพื้นที่ที่มีปัญหาความยากจน ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น และยังมีประสบการณ์ในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของจีนด้วยแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่แบบจีน

ปัจจุบันเขายังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์  ในฐานะที่เป็น 1 ใน 7 ของคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองที่ทำงานใกล้ชิดกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของหลี่ เฉียง ในเวลานี้ มีโจทย์ท้าทายหลายเรื่อง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนหลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนที่มียุทธศาสตร์เศรษฐกิจแบบ Dual Circulation หรือยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน ที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองควบคู่กับการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในตลาดต่างประเทศ ซึ่งต้องจับตามองบทบาทและแนวทางของ  หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีคนใหม่  ว่าจะขับเคลื่อนประเทศจีนรวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคมโลกในช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้าอย่างไร

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย