‘ไห่หนาน’ การพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ไทยไม่ควรมองข้าม

0
2

มณฑลไห่หนาน หรือ มณฑลไหหลำ ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของจีน ล้อมรอบด้วยทะเลจีนใต้ เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งต่อมาได้ยกระดับขึ้นเป็นมณฑล และที่สำคัญคือการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตั้งแต่เมื่อปี 2531 ถือเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” (Special Economic Zone) ของจีนที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุด เนื่องจากครอบคลุมพื้นที่ทั้งเกาะซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากเกาะไต้หวัน โดยมีพื้นที่ 35,354 ตร.กม. เป็นมณฑลที่มีประชากรอยู่ในลำดับที่ 28 ของประเทศ โดยที่มีขนาดใหญ่กว่าฮ่องกงราว 30 เท่า ใหญ่กว่าสิงคโปร์ 45 เท่า และใหญ่ประมาณ 60 เท่าของเกาะภูเก็ต

ไห่หนาน เป็นเมืองตากอากาศชั้นแนวหน้า รายล้อมด้วยท้องทะเลสีครามแห่งทะเลจีนใต้ มีหาดทรายสวยงามอย่าง อ่าวย่าหลง ทำให้คนจีนเองก็นิยมมาเที่ยวในช่วงวันหยุดพักผ่อน หรือช่วงที่ฤดูหนาวที่มาเยือน ขณะที่รัฐบาลจีนเองก็ได้เร่งพัฒนาการท่องเที่ยวของไห่หนานให้สมกับที่ได้ ชื่อว่าเป็น “ฮาวายแห่งเอเชียตะวันออก”

ไห่หนาน มีนครไหโข่ว เป็นเมืองเอก และมีเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ นครไหโข่ว และเมืองซานย่า โดยนครไหโข่ว เป็นเมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของมณฑลไห่นาน อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของนครไหโข่ว ได้แก่ การผลิตเวชภัณฑ์ เทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับการเกษตรเขตร้อน การผลิตยานยนต์ พลังงานใหม่ การวิจัยนวัตกรรมสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ส่วน เมืองซานย่า อยู่ทางตอนใต้สุดของเกาะ เป็นเมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียงของไห่หนาน เป็นเมืองจุดหมายปลายทางแห่งการท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการครองสัดส่วนมากถึง 65% ของ GDP ของเมือง

บทบาทของไห่หนานยุคใหม่ กล่าวได้ว่า เริ่มต้นจากปี 2561 เมื่อประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และคณะผู้บริหารระดับสูงของจีน ได้เดินทางไปเยือนเป็นครั้งแรก และให้นโยบายสำคัญในการมุ่งพัฒนาไห่หนาน ที่นำไปสู่การเดินหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีการลงทุนก่อสร้างโครงข่ายทางด่วนและรถไฟความเร็วสูงรอบเกาะเพื่อเชื่อมหัวเมืองสำคัญเข้าด้วยกัน ทั้งเพื่อการพัฒนาและการลดความเหลื่อมล้ำ

ประเด็นที่น่าจับตามองคือ ในปี 2561 นี้เอง ได้มีการประกาศให้ไห่หนานเป็นพื้นที่นำร่องพิเศษ “ท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน” (Hainan Free Trade Port) สะท้อนถึงเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงและยกระดับทางเศรษฐกิจของไห่หนานอย่างชัดเจน จากนั้นในเดือนมิถุนายน 2563 รัฐบาลจีนได้นำเสนอแผนแม่บทการพัฒนาไห่หนาน ว่าจะผลักดันให้มีการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนพื้นฐานเต็มรูปแบบภายในปี 2568 และกำหนดการบรรลุเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ปี 2578

การจะก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าวให้ได้จริง รัฐบาลจีนจึงได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาทั้งด้านเกษตรกรรม ด้วยการเพิ่มระดับความมั่นคงด้านอาหาร และมุ่งสู่การเป็น “เกษตรกรรมแห่งโลกอนาคต” อาทิ เครดิตสีเขียวและและการเทรดการปลดปล่อยคาร์บอน

ทั้งยังมุ่งหน้าพัฒนาด้านอุตสาหกรรมไฮเทค และบริการสมัยใหม่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นแหล่งพักตากอากาศของนักท่องเที่ยว การเป็นสวรรค์ของนักช้อปปิ้ง การมีศูนย์รักษาพยาบาลและสุขภาพ รวมไปถึงการเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการเป็น Free Trade Port นั่นเอง

การมุ่งมั่นพัฒนาไห่หนาน โดยใช้ Free Trade Port เป็นเครื่องมือสำคัญ ถือเป็นโมเดลที่ไม่แตกต่างกับการพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกง ทั้งยังมีการใช้มาตรการด้านอัตราภาษีที่ต่ำกว่าของสิงคโปร์และฮ่องกง เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จึงทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจีนจะยกระดับไห่หนาน ขึ้นมาเคียงคู่กับฮ่องกงในระยะยาวอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้เอง จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การลงทุนของภาครัฐและเอกชนของจีน ตลอดจนการลงทุนจากต่างประเทศในไห่หนานได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มณฑลไห่หนานกลายเป็นพื้นที่แห่งโอกาส มาตรการเปิดกว้างสำคัญในยุคใหม่ของจีน ในการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวย

สำหรับเศรษฐกิจภาพรวมของไห่หนาน เมื่อช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ข้อมูลระบุว่ามีมูลค่า GDP 450,806 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ โดยที่มีมูลค่าการค้าต่างประเทศอยู่ที่ 101,350 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.4 จากปี 2563 ขณะที่มีนักท่องเที่ยว 74.86 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.5 ทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 128,180 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 74.2 จากช่วงเดียวกันของปี 2563

ในส่วนของอุตสาหกรรมเกษตร ในปี 2564 ไห่หนานมีมูลค่าเพิ่มทางการเกษตร 91,574 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 โดยที่ไห่หนานยังคงเป็นฐานการผลิตมะพร้าวที่ใหญ่ที่สุดในจีน คิดเป็นร้อยละ 99 ของปริมาณผลิตทั้งหมดของจีน โดยมูลค่าผลผลิตมะพร้าวต่อปีประมาณ 300 ล้านหยวน

ภาพรวมเศรษฐกิจของมณฑลไห่หนานยังคงเติบโตต่อเนื่อง ทั้งการขยายตัวอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการจับจ่ายสินค้าปลอดภาษีของนักท่องเที่ยว จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจของไห่หนานยังคงขยายตัวได้แม้ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ด้านความสัมพันธ์กับประเทศไทย ได้มีการทำ MOU ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ไทย กับ กรมพาณิชย์ไห่หนาน เมื่อปี 2564 เพื่อสร้างความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันได้

ทั้งนี้ ภายใต้รูปแบบการพัฒนาใหม่ของจีน ท่าเรือการค้าเสรีไห่หนานจะกลายเป็น จุดสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนา “วงจรคู่” (dual circulation) ของจีน  ดึงดูดและจัดสรรทรัพยากรจากทั่วโลก เป็นการเปิดโอกาสความร่วมมือระหว่างจีนและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับไห่หนาน ปี 2565 มีมูลค่า 18,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.9%

บทพิสูจน์บทบาทที่โดดเด่นของ ‘ไห่หนาน’ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ทางสำนักข่าวซินหัว ได้รายงานข้อมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า นิคมอุตสาหกรรมและเขตพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ อันเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไห่หนาน ในปี 2565 พบว่าบรรดานิคมสำคัญของท่าเรือการค้าเสรีไห่หนานได้ลงทุนในสินทรัพย์ถาวรรวมกันถึง 1.26 แสนล้านหยวน (ราว 6.25 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยมีรายได้จากการดำเนินงานรวมกันอยู่ที่ 1.82 ล้านล้านหยวน (ราว 9.03 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.6 เมื่อเทียบปีต่อปี

กล่าวโดยสรุป ทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนามณฑลไห่หนาน และแนวโน้มในการเติบโตอย่างชัดเจน จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่สนใจการลงทุนในต่างประเทศ อาจศึกษาและพิจารณาเข้าไปลงทุนในมณฑลไห่หนาน โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ทางรัฐบาลจีนให้การสนับสนุน เพื่อขยายตลาดการค้าและการลงทุนได้ในอนาคต

ภูวนารถ ณ สงขลา

นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน

บรรณาธิการบริหาร

สำนักข่าวบางกอกทูเดย์ออนไลน์

สำนักข่าว Bangkok Wealth & Biz