นับ 1 ในความสำเร็จ “สะพานสู่ภาษาจีน” ปีที่ 22 ของ “ฟ้า-เพ็ญยุพา”

0
1

นับ 1 ในความสำเร็จ “สะพานสู่ภาษาจีน” ปีที่ 22 ของ “ฟ้า-เพ็ญยุพา” นักศึกษาหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ DPU  

“ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ถ้าเรามุ่งมั่นและตั้งใจมากพอ” นี้คือเคล็ดลับความสำเร็จของ “ฟ้า-เพ็ญยุพา หนองพุทซา”  นักศึกษาหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ (IC) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ผู้ชนะเลิศการประกวดสุนทรพจน์และความรู้ภาษาจีนระดับอุดมศึกษา “สะพานสู่ภาษาจีน” ครั้งที่ 22 ประจำปี 2566 ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (CLEC ) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำปี 2566  โดยมีการแข่งขันด้านความรู้และทักษะทางภาษาจีนที่ถือว่าเป็นการแข่งขันที่ท้าทายและหินที่สุดรายการหนึ่งของประเทศไทย

ฟ้า เพ็ญยุพา จบการศึกษาระดับชั้นม. ปลายสายวิทย์-คณิตที่ไม่เคยมีพื้นฐานภาษาจีนมาก่อน เพียงแค่ได้ผ่านการเรียนพิเศษภาษาจีนมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงตัดสินใจสมัครเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ที่หลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ DPU

“มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่การลงคอร์สเรียนพื้นฐานภาษาจีน 20 ชม. ฟ้าจะออกเสียงและมีสำเนียงที่ดีได้เท่าเพื่อนที่เรียนภาษาจีนมากว่า 6-7 ปี” อาจารย์ ดร.โชติกานต์ ใจบุญ เลขานุการหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ DPU กล่าวถึง “ลูกศิษย์” และได้เพิ่มเติมอีกว่า ในวันแรกของการเป็นนักศึกษาเอกภาษาจีนธุรกิจ ฟ้าได้เรียนคอร์สภาษาจีนปรับพื้นฐานในช่วงเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอม 1 ที่ DPU

 

จากซีรีส์จีนพาให้ “เก่ย-ลี่ เก่งมาก”SHE’S THE BEST.

ฟ้าเกิดและเติบโตที่จังหวัดอุบลราชธานี สืบเชื้อสายไทย-อีสานใต้ ไม่ได้มีปู่ ย่า ตา ยาย ที่มีเชื้อสายหรือเกี่ยวข้องกับความเป็นจีนแม้แต่น้อย หลังจากเรียนจบการศึกษาสายวิทย์-คณิต เธอก็เบนเข็มมาเรียนสายภาษา ในตอนแรกฟ้าตั้งใจว่าจะเลือกเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสากล ตามเทรนด์ของนักเรียนส่วนใหญ่ที่ต้องการเก่งภาษาเพื่อสร้างความมั่นคงและก้าวหน้าในชีวิตการทำงาน แต่ทว่าตอนนั้นก็ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ชอบภาษาอังกฤษมากนัก และยังรู้สึกว่ามันไม่ได้ตอบโจทย์ความฝันของชีวิตได้จริง ๆ  จนวันหนึ่งฟ้าได้เปิดแอปฯ “WeTV” ดูซีรีส์จีนช่วงปิดเทอมก่อนจบม. 6 หลังจากนั้นโลกทั้งโลกของเธอก็เปลี่ยนไป

“ตอนจะเข้ามหาวิทยาลัย หนูยังไม่แน่ใจว่าอยากเรียนอะไร พอปิดเทอมหนูก็เลยเปิดหาอะไรดูไปเรื่อยเปื่อย จนได้เข้ามาดูซีรีส์จีน แล้วก็รู้สึกว่าสำเนียงที่เขาพูดมันไพเราะมาก ก็เลยไปลงเรียนคอร์สพิเศษภาษาจีน เริ่มเรียนพวกพินอิน รู้สึกว่าง่าย อยากเรียนต่อด้านภาษาจีน โดยที่ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วมันยากมาก”

ฟ้า เล่าถึงจุดเริ่มต้นของความชอบภาษาจีนของเธอด้วยรอยยิ้ม หลังจากนั้นก็เสิร์ชหาข้อมูลมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนภาษาจีน  หาหลักสูตรที่เปิดรับคนที่ไม่มีพื้นฐานภาษาจีน แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อคณะศิลปศาสตร์ส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ถ้าจะเรียน “เอกภาษาจีน” ก็ต้องมีผลสอบภาษาจีน หรือมีการสอบสัมภาษณ์เบื้องต้นว่ามีทักษะภาษาจีนมาบ้างหรือไม่ ยกเว้นที่ “มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” แห่งเดียวเท่านั้น! ที่มอบโอกาสสำหรับผู้ไม่มีพื้นฐาน

“มาเรียนที่นี่ฟ้ารู้สึกตัวเองโชคดีมาก เพราะได้เจออาจารย์ที่สอนสนุก แล้วที่นี่ก็มีนักศึกษาจีนเจ้าของภาษามาเรียนกันเยอะที่สุดในประเทศไทย ทำให้จากเดิมที่คิดว่าภาษาจีนยากมาก แต่กลับกลายเป็นความรู้สึกที่ไม่กดดัน ยิ่งเรียนก็ยิ่งมีความสุข และไม่รู้สึกท้อหรือเบื่อเลย”

เมื่อมี “ความสนุก” เป็นที่ตั้ง ตัวอักษรภาพจำนวนกว่า 85,568 คำ จึงเป็นประหนึ่งหมู่ดาวบนท้องฟ้ายามค่ำสำหรับเธอ ประกายแสงดาวนั้นชวนให้นับและจดจำอย่างไม่รู้เบื่อหน่าย

“หนูก็ตั้งใจเรียนของหนูไปเรื่อย ๆ ค่ะ พอหมดเทอม 1 เข้าเทอม 2 จนมาขึ้นปี 2 หนูก็ไม่รู้เหมือนกันว่า อาจารย์ ดร.โชติกานต์ ใจบุญ ท่านมองเห็นอะไรในตัวหนูจึงชวนหนูให้ลงแข่งรายการนี้” ฟ้าเล่าย้อนไปถึงก้าวแรกสู่เวทีการแข่งขันอย่างถ่อมตัว

รายการนี้นับเป็น 1 ในเวทีการแข่งขัน “ศาสตร์ด้านภาษาจีน” ซึ่งเป็นเวทีที่รวมสุดยอดนักศึกษาเอกภาษาจีน ระดับอุดมศึกษา ทั้งนี้ ในปีแรกที่ลงแข่ง “ฟ้า” สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจคือ สามารถทะลุเข้าสู่รอบ 30 คนสุดท้ายได้จากผู้เข้าแข่งขัน 116 คนที่มาจากมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนในประเทศไทย ถึงแม้ว่า ฟ้าจะตกรอบสัมภาษณ์ในการแข่งขันครั้งนั้นก็ตาม (ครั้งที่ 20)

การแข่งขันในเวที “สะพานสู่ภาษาจีน” ต้องผ่านด่านยาก ๆ หลายด่านกว่าจะถึงเส้นชัย โดยเริ่มตั้งแต่ 1. การแข่งขันรอบคัดเลือก 2. การสอบข้อเขียน 100 ข้อ 50 คะแนน ในเวลา 120 นาที 3. การสอบสัมภาษณ์ 50 คะแนน โดยแนะนำตนเองและกล่าวสุนทรพจน์แบบฉับพลัน  4. การกล่าวสุนทรพจน์แบบสุ่มทักษะภาษา ประกอบด้วยหัวข้อความรู้ด้านวัฒนธรรมและนวัตกรรมจีนทั้งใหม่และเก่า ที่มีเวลายาวนานกว่า 5 พันปี โดยมีตัวเลือกให้ทั้งหมด 10 หัวข้อ ก่อนปิดท้ายด้วยการตอบคำถามใน  1 นาที 30 วินาที ตามเรื่องที่กรรมการต้องการถาม

“ครั้งนั้นมันตื่นเต้นมากเพราะเป็นครั้งแรกที่หนูลงแข่ง หนูก็เลยประหม่า พูดได้ไม่ดีเท่าที่ควร แถมยังพูดไม่ตรงกับสิ่งที่หนูคิดไว้ในหัว พอขึ้นปี 3 อาจารย์ก็ชวนให้สมัครอีก แต่หนูปฏิเสธไปเพราะคิดว่าตัวเองยังไม่พร้อม ยังต้องฝึกและเรียนเพิ่มเติมอีกมาก”

จนกระทั่งวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแข่งขัน“สะพานสู่ภาษาจีน” ครั้งที่ 22  เธอได้รวบรวมความกล้าและตัดสินใจลงแข่งขันอีกครั้งหนึ่งตามคำชวนของอาจารย์  การเข้าแข่งขันครั้งนี้เธอมาด้วยความพร้อมทางภาษา  ความมุ่งมั่น และความตั้งใจ จนทำให้เธอสามารถพิชิตรางวัลชนะเลิศได้แม้ว่าจะเริ่มเรียนภาษาจีนได้เพียง 3-4 ปี

ที่มาของความสำเร็จมี “อาจารย์ในหลักสูตร” และ“สถาบันขงจื่อ” อยู่เบื้องหลัง

นอกเหนือไปจากความมุ่งมั่นและพรแสวงของตัวเองที่ส่งผลให้ฟ้า “ประสบความสำเร็จ” ในระยะเวลาอันรวดเร็วแล้ว “ผู้อยู่เบื้องหลัง” ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เธอถึงเส้นชัยในวันนี้ก็คือ  “อาจารย์ ดร.โชติกานต์ ใจบุญ” และอาจารย์ทุกคนในหลักสูตร ยิ่งไปกว่านั้น หลักสูตรยังมีคณาจารย์จากสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  ที่ประกอบทั้งผู้บริหารสถานบันขงจื่อทั้งฝั่งไทยและจีน ตลอดจนอาจารย์ผู้ฝึกซ้อมภาษา เช่น อาจารย์เหลียงตาน และ อาจารย์อู๋ถง ทั้ง 2 ท่าน เป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญ

“หลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ DPU เปิดโอกาสให้คนที่รักภาษาจีนได้เรียนในสาขาที่ชอบ แม้จะไม่มีพื้นฐานมาก่อน ไม่ต้องมีคะแนนสอบวัดระดับภาษาจีน ไม่ต้องสอบสัมภาษณ์เป็นภาษาจีน เราเลือกคนที่มีความสนใจและตั้งใจจริง และการเรียนภาษาให้ได้ดีไม่ว่าจะเป็นภาษาไหนก็ตามขึ้นอยู่กับความขยัน ความทุ่มเท ถ้าเรารู้ว่าไม่มีพื้นฐานเราก็ต้องให้เวลากับการเรียน การฝึกฝนให้มากขึ้น คลังคำศัพท์ที่เราใช้ในการฟัง พูด อ่าน เขียน ก็จะมีมากตามมา DPU ของเราเป็นสถาบันที่สร้างพื้นฐานภาษาจีนที่เข้มแข็ง ส่วนเรื่องการต่อยอดความสำเร็จเป็นเรื่องของความมานะและพยายาม” ดร.โชติกานต์กล่าว

“ฟ้าคือนักศึกษาที่เป็นตัวอย่างที่ดีคนหนึ่ง ที่เริ่มการเรียนรู้ภาษาจีนจากเกือบศูนย์เลย คือเขาไม่มีพื้นฐานใด ๆ มาก่อน มีแค่ทักษะการอ่านพินอินก่อนที่เข้ามาเรียนกับเรา และในช่วงเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน เราเริ่มสอนหลักพื้นฐานภาษาจีนให้ 20 ชั่วโมง ซึ่งก็ถือว่าน้อยมาก และด้วยพื้นความรู้ที่มีนี้จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยว่าวันหนึ่งฟ้าจะสามารถผ่านด่านการสอบข้อเขียนสะพานสู่ภาษาจีนในการลงแข่งครั้งแรกเมื่อสามปีก่อนได้ เพราะคู่แข่งตอนนั้นก็เรียนเอกภาษาจีน หรือเอกศิลป์ภาษาจีนมาตั้งแต่เด็ก”

ดร.โชติกานต์ เล่าต่อว่า ตอนนั้นอาจารย์ในหลักสูตรเริ่มเห็นแววด้านภาษาจีนของฟ้าจากการออกเสียงจึงได้ซักถามเพิ่มเติมว่า “ไปทำอะไรมา…ทำไม? หนูถึงออกเสียงได้ดี” ซึ่งคำตอบก็คือ ฟ้าชอบการ “ฝึกฝน” การออกเสียงภาษาจีนจาก YouTube  ซึ่งนั่นเป็นคำตอบที่ทำให้พวกเรารู้สึกประทับใจในความพยายามของเด็กคนนี้

“ฟ้ามาเล่าให้เราฟังว่า เขามี“ความมุ่งมั่น” ในการออกเสียงมาก ๆ เพราะฟ้าหัดออกเสียงภาษาจีนด้วยตนเองชนิดเจาะลึกไปถึงตำแหน่งการวาง “ลิ้น” พอเราได้ฟัง เราก็แบบอึ้งมากว่าเด็กคนนี้จริงจังและใส่ใจทุกรายละเอียดจริง ๆ ”

“ยิ่งไปกว่านั้นฟ้ายังค้นหาเทคนิควิธีในการเรียนภาษาจีนให้มีประสิทธิภาพและสร้างทัศนคติเชิงบวกในการเรียนภาษาให้ตนเองอยู่เสมอ ๆ  รู้ว่าถ้าอยากเก่งและสื่อสารภาษาจีนให้ได้เร็วที่สุดก็ต้องพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมของคนใช้ภาษาจีน ซึ่งที่ DPU ตอบโจทย์นี้อย่างตรงจุด เพราะฟ้ามีบัดดี้ชาวจีนและมีเพื่อนจีนมากมายที่มาเรียนที่ DPU  พอเขาหาจุดตรงนี้เจอ และได้ใช้ภาษาจีนสื่อสารแทบทุกวันที่มาเรียน  ภาษาจีนที่ว่ายากกลับกลายเป็นเรื่องไม่ยากสำหรับฟ้าในที่สุด”

“อีกความพิเศษสำหรับเธอ ก็คือฟ้าเขาทุ่มเทและยอมเหนื่อยเพื่อค้นหาคำตอบให้กับตัวเองว่าเราอยากเรียนภาษาจีนไปเพื่ออะไร แล้วถ้าจะให้ถึงความฝันนั้นจะมีวิธีการเรียนอย่างไร จากสิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้ ก็เลยทำให้เขาเรียนได้ดีขนาดนี้  และสะท้อนได้จากผลการแข่งขันครั้งนี้ โจทย์คำถามในแต่ละด่านค่อนข้างยาก ซึ่งเป็นคำถามที่เกี่ยวกับวรรณกรรม ว่า “เรื่องนี้แต่งขึ้นในสมัยใด กลอนท่อนนี้หมายความว่าอย่างไร” ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึง “นวัตกรรมในสมัยก่อนของจีนที่ย้อนกลับไปพัน ๆ ปี” แต่ฟ้าก็สอบผ่านข้อเขียนทะลุเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าพวกเราเห็นความตั้งใจของนักศึกษาขนาดนี้แล้ว ทีมอาจารย์ทั้งในหลักสูตรและสถาบันขงจื่อก็ต้องช่วยกันผลักดันและสนับสนุนอย่างเต็มที่แน่นอน”

ด้านอาจารย์เหลียงตาน อาจารย์ชาวจีนจากสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล DPU ได้กล่าวถึงลูกศิษย์คนนี้ว่า “ฟ้าคือความภาคภูมิใจของเรา ความสำเร็จของเขาทำให้เราเองรู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จตามไปด้วย เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่เผยแพร่ภาษา และวัฒนธรรมจีนเท่านั้น แต่เป้าหมายของเราคือจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองได้อย่างเต็มที่ โดยมีเราเป็นผู้เสริมแรงบวกให้แก่เขา”

“การติวภาษาจีนแก่นักศึกษานอกเวลางานประจำถือว่าเป็นเรื่องที่เราปฏิบัติมาเป็นปกติ” อาจารย์อู๋ถง อาจารย์ชาวจีนจากสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเลอีกท่านกล่าว “เพราะครูทุกคนพร้อมเสียสละเวลาส่วนตัวและเต็มใจมาติวภาษาจีนให้ผู้เรียนทุกคนที่มีความตั้งใจ”

“สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล DPU สนับสนุนการเรียนการสอนด้านภาษาจีนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจมาโดยตลอด ทุกครั้งที่นักศึกษาในหลักสูตรมีประกวดหรือแข่งขันในเวทีต่าง ๆ ทางหลักสูตรจะติดต่อมาที่ทางสถาบันขงจื่อ ทางเราก็จะจัดตารางสอนพิเศษให้ โดยเราจะดูว่าผู้เรียนคนไหนมีความสนใจเรื่องไหน มีศักยภาพเด่นในเรื่องใด และมีความกระตือรือร้นต่อการแข่งขันมากแค่ไหน จากนั้นเราก็โค้ชเขาเพิ่ม คอยสังเกตพัฒนาการทางภาษาและทัศนคติในการเรียน  ทีนี้พอเราได้เจอกันบ่อย ๆ แล้วเราก็เกิดความผูกพันกันมากขึ้น ๆ เหมือนเวลาเราดูแลลูกของเรา เมื่อลูกตื่นเต้น กังวล หรือไม่มั่นใจ เรากลับรู้สึกยิ่งกว่า คือมันมีความรู้สึกร่วมกับเขาไปหมด เราจึงต้องหาเทคนิควิธีในการช่วยให้เขาลบความรู้สึกไม่ดีต่าง ๆ ออกไป แล้วเติมเต็มเขาด้วยทัศนคติเชิงบวก นอกจากความรู้ที่เราต้องให้เขาแล้ว ประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต โดยเฉพาะการผ่านเวทีการประกวดแข่งขันต่าง ๆ ในประเทศจีน ที่เรามีก็ต้องนำมาใช้เพื่อโค้ชนักศึกษาที่อยู่ในความดูแลของเราด้วย”

“จากที่เราเรียนทางด้านการสอนภาษามาโดยตรง เราจะมีวิธีในการทำให้เขาเก่งแบบไม่ต้องกดดัน ไม่ใช่ว่าเราติวเข้ม ๆ เน้นแต่เรื่องติวความรู้ จนทำให้เขาเก่งเรื่องเรียนแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต อันนั้นมันไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม สิ่งที่มักจะบอกอยู่เสมอ ๆ  เช่น ให้พยายามฝึกออกเสียง ฝึกฝนตัวเอง บวกกับการหมั่นไถ่ถามความรู้สึกต่าง ๆ อย่างเช่น วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ไหวไหม เครียดบอกได้นะ พักผ่อนก่อนดีไหม หรือวันนี้ครูพอแค่นี้ก่อนนะ เพราะร่างกายและจิตใจสำคัญมาก ถึงจะตอบคำถามได้ถูกต้องแต่สมองกับจิตใจมันอ่อนล้าเกินกำลัง ก็ไม่มีประโยชน์ แม้ว่ารางวัลและความสำเร็จคือสิ่งที่ใคร ๆ ก็อยากไปถึง แต่ผลการแข่งขันไม่ได้สำคัญมากกว่าระหว่างทางเราได้เรียนรู้อะไร  อย่าทำให้เขารู้สึกถูกกดดัน แต่ควรทำให้เขามีพลังบวก สร้างความมั่นใจให้เขา และสุดท้ายก็จะทำได้ดีและประสบความสำเร็จในที่สุด”

“ตอบแทนพระคุณอาจารย์” และฝั่งฝันในอนาคต

สำหรับฟ้าซึ่งกำลังก้าวสู่การเป็นนักศึกษาปีที่ 4 ได้ให้สัมภาษณ์ถึงอนาคตของตนเองว่า  “หนูคิดว่าหนูน่าจะเหมาะกับการเป็น ‘ครู’ เพราะเมื่อได้เป็นครู หนูรู้ว่าหนูจะต้องเริ่มต้นพูดอะไรกับผู้เรียนก่อน ต้องเตรียมเรื่องเตรียมเนื้อหาอะไรบ้างที่จะต้องสอนในชั้นเรียน หนูอยากเป็นผู้ให้ความรู้และความทุ่มเทกับนักเรียนตามอย่างอาจารย์ที่เรานับถือ สำหรับหนูการเป็นครูคือการตอบแทนพระคุณของอาจารย์ที่ทำให้หนูได้มีวันนี้ ส่วนงานที่สามารถทำได้เมื่อมีเวลาว่างก็คืออยากรับจ็อบเป็นล่ามภาษาจีนเหมือนตอนที่เรียนอยู่ เพราะอาชีพล่ามเป็นสายงานหนึ่งที่หนูชอบและมีรายได้ที่ดีมากอีกอาชีพหนึ่งเลยทีเดียว”

“หนูคิดเสมอว่าตัวเองโชคดีมาก ๆ ตั้งแต่ชั้นมัธยมจนมาถึงระดับมหาวิทยาลัย ฟ้าได้เจออาจารย์ที่ดีมาก ๆ ที่สนับสนุนและให้กำลังใจ หนูก็เลยอยากจะส่งต่อสิ่งดี ๆ ที่หนูได้รับนี้แก่นักเรียนบ้าง แบบที่หนูได้รับจากอาจารย์ในหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ และอาจารย์ของสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล DPU ได้มอบให้แก่หนู”