“ไต้หวันควรเป็นของใคร ? ไล่เรียงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์”

0
1

“ไต้หวันควรเป็นของใคร ? ไล่เรียงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์”

โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์

ปัญหาที่ปักกิ่งกับไทเปต่างอ้างสิทธิ์เป็นตัวแทนประเทศจีนที่ถูกต้องแต่ผู้เดียว  ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ 2 จีน” เป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ตกมาตลอดประวัติศาสตร์ยุคใกล้   บ่อยครั้งที่ความขัดแย้งลุกลามไปสู่ปัญหาอื่น ๆ โดยเฉพาะความหมิ่นเหม่ต่อการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธ  ซึ่งเป็นไปได้มากว่าเกิดจากมือที่ 3 ที่ไม่หวังดี  ต้องการหาประโยชน์จากความขัดแย้งนี้ คือ เราในฐานะปัจเจกบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ใด ๆ   แต่เราก็อยากรู้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน   เพื่อนำข้อมูลที่คิดว่าสมเหตุสมผลมากที่สุด  ไปประกอบการตัดสินใจหาคำตอบให้กับตัวเอง   ก่อนอื่นเราจะชวนกันย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับจีนและไต้หวันก่อน  จากนั้นจึงหาคำตอบว่า “ไต้หวันควรเป็นดินแดนของใคร” ซึ่งเป็นวิจารณญาณส่วนตัวของแต่ละคน

1. แต่โบราณกาลนานโพ้น  ไต้หวันเป็นเพียงเกาะใหญ่ที่สุด 1 ใน  5 เกาะกลางทะเลใกล้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแผ่นดินใหญ่จีน   อยู่ห่างจากมณฑลฮกเกี้ยนของจีนราว 180 ก.ม. ตรงนี้เรียกว่า ”ช่องแคบไต้หวัน”  บนเกาะเป็นที่อยู่ของชนพื้นเมืองหลายชนเผ่า  ต่อมาชาวเกาะจากที่อื่น ๆ รวมทั้งคนจีนจากฮกเกี้ยนก็ทะยอยกันไปตั้งรกราก  ชาวประมงจากที่อื่น ๆ ก็เดินทางไปมาหากินอยู่ในบริเวณนั้น

กาลเวลาล่วงเลยไปนานแสนนาน   จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17   เกิดลัทธิล่าอาณานิคมขึ้นในยุโรป   ชาติตะวันตกที่มีความแกร่งกล้าทางด้านการเดินเรือได้ใช้เรือรบไปข่มขู่บังคับให้ประเทศต่าง ๆ ยอมตนเป็นเมืองขึ้น  สเปนและฮอลันดาเป็น 2 ชาติที่เดินทางมาแสวงหาดินแดนจนถึงไต้หวัน  แล้วเข้าจับจองสร้างบ้านแปงเมืองถือเสมือนหนึ่งไต้หวันเป็นอาณานิคมของตน  คำว่า “ฟอร์โมซา” เป็นคำที่ดัทช์ตั้งให้กับไต้หวันจากความชื่นชอบต่อความงดงามของเกาะแห่งนี้

ในขณะนั้น  แผ่นดินใหญ่จีนยังไม่ถูกฝรั่งรุกราน    ชนชาติฮั่นซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ที่สุดของจีนได้เป็นกษัตริย์ปกครองจีนมาตลอด  มีเพียงช่วงสั้น ๆ ช่วงหนึ่งประมาณ 100 ปีที่ชนชาติมองโกลซึ่งเก่งกาจทางด้านการรบบนหลังม้าได้แย่งอำนาจไปจากฮั่น  แล้วตั้งราชวงศ์หยวนขึ้นมาตลุยตียึดครองประเทศต่าง ๆ ไปถึงยุโรป  และอีกช่วงหนึ่งในปี 1662   แมนจูชนส่วนน้อยอีกเผ่าหนึ่งก็รบชนะหมิงตั้ง “ราชวงศ์ชิง” ขึ้นมาแทน

2.  ราชวงศ์ชิงที่เคยเข้มแข็งอ่อนแอลงเรื่อย ๆ  จากการคุกคามด้วยอาวุธของฝรั่งที่หมายมั่นจะเอาจีนเป็นเมืองขึ้นให้จงได้  ส่งฝิ่นไปมอมเมาคนจีนทำให้ประเทศจีนอ่อนแอถึงที่สุด   ในระหว่างนั้นญี่ปุ่นก็ถูกฝรั่งส่งกองทัพเรือไปปิดปากอ่าวเช่นกัน  แต่ญี่ปุ่นถือโอกาสนี้เรียนรู้เทคนิคการสร้างกองเรือรบจากฝรั่ง  จนสามารถส่งกองทัพเรือไปยึดเกาหลีซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของจีนมาได้ แล้วถือโอกาสบังคับให้จีนเซ็นสัญญายกทั้งเกาหลีรวมทั้งไต้หวันให้ญี่ปุ่น  ไต้หวันตกเป็นของญี่ปุ่นอยู่ 50 ปี  จนญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2  ไต้หวันจึงกลับมาเป็นของจีนอีกครั้ง

3. ญี่ปุ่นถูกบังคับให้คืนไต้หวันแก่จีนผ่าน “แถลงการณ์ไคโร” (1943)  ซึ่งจีน-อังกฤษ-อเมริการ่วมกันลงนามเป็นสักขีพยาน  แต่ระหว่างนั้นญี่ปุ่นยังส่งทหารไปโจมตีประเทศอื่นในเอเชียต่ออีก 2  ปี   จนถูกอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ  จึงต้องประกาศยอมจำนน  ถูกบังคับให้เซ็น “คำประกาศปอร์ตสดัม” (1945)  ตอกย้ำความพ่ายแพ้และการคืนเกาะไต้หวันให้กับจีนอย่างไม่มีเงื่อนไขอีกครั้ง  ครั้งนี้นอกจาก 3 ประเทศที่เคยลงนามแล้ว  รัสเซียก็ร่วมเซ็นด้วย

4. แม้สงครามโลกจะยุติลงแล้ว  แต่ภายในประเทศจีนสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับพรรคก๊กมิ่นตั๋งยังสู้รบชิงชัยกันอย่างดุเดือดต่อไปอีก   ถึงปี 1949   พรรคก๊กมิ่นตั๋งนำโดยเจียงไคเช็คก็ยอมรับความพ่ายแพ้   ทิ้งนานกิงหนีไปลี้ภัยที่ไต้หวันพร้อมทหารคู่ใจจำนวนหนึ่ง  โดยมีกองทัพเรือของอเมริกาคอยให้การคุ้มกัน  ก่อนหนีเขาได้ขนสมบัติมีค่าของชาติติดตัวไปด้วยเป็นจำนวนมาก  (ปัจจุบันมีบางส่วนตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กรุงไทเป) พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่มีกองทัพเรือมีแต่ “กองทัพปลดแอกฯ” เดินด้วยเท้า  จึงไม่สามารถรุกไล่ตามเจียงไคเช็คไป  ท่าทีของอเมริกาที่มีต่อพรรคกก๊กมิ่นตั๋งในครั้งนั้น  แสดงให้เห็นชัดถึงการตี 2 หน้าของอเมริกา  ที่หวังจะเอาเจียงไคเช็คเป็นลูกไล่ต่อไปในอนาคต   และเอาไต้หวันเป็นฐานสำคัญสำหรับต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มี พคจ.เป็นเป้าหมายสำคัญ

5. แม้จะพ่ายแพ้สงคราม แต่เจียงไคเช็คยังยึดครองที่นั่งในฐานะตัวแทนประเทศจีนในสหประชาชาติไว้ได้  จวบจนปี 1971  มีหลายประเทศแสดงความเห็นคัดค้าน  นำไปสู่การโหวตเสียงกันในที่ประชุม   มติออกมาชัดเจนว่า ที่ประชุมต้องการให้ไต้หวันคืนที่นั่งผู้แทนประเทศจีนให้กับรัฐบาลปักกิ่ง  ส่วนไต้หวันให้ถือเป็นมณฑลหนึ่งของจีน  จำนวนประเทศที่ประกาศเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงเวลานี้มีประเทศและเขตแคว้นที่ยังคงความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันเพียง 12 ประเทศ จาก 193 ประเทศทั่วโลก  ส่วนใหญ่เป็นรัฐและเขตแคว้นเล็ก ๆ

6. ปัจจุบัน จีนถือไต้หวันเป็นเขตปกครองพิเศษเช่นเดียวกับฮ่องกงและมาเก๊า  ซึ่งอังกฤษและโปรตุเกสคืนให้กับจีนตามสัญญา  โดยไม่มีปัญหาข้อพิพาทใด ๆ  เหมือนอย่างไต้หวัน  ทุกวันนี้ ประชาชนในไต้หวัน มาเก๊า และฮ่องกง สามารถเดินทางไปมาหาสู่กับจีนได้อย่างอิสระ โดยถือ “บัตรผ่านแดน” ที่ออกโดยเจ้าหน้าที่จีน  นอกจากนี้ จีนยังได้ให้สิทธิประโยชน์กับการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ จากไต้หวัน ด้วยอัตราภาษีนำเข้าพิเศษ และอนุญาตให้นักธุรกิจไต้หวันมาตั้งโรงงานผลิตสินค้าชนิดต่าง ๆ เพื่อขายในตลาดจีนก็ดีหรือใช้ส่งออกก็ได้  จีนปฏิบัติต่อไต้หวันด้วยความนุ่มนวล ตรงข้ามกับอเมริกาที่แม้จำยอมต่อหลักการ “จีนเดียว”  แต่ก็คอยยุแหย่ขายอาวุธและจัดการซ้อมรบใกล้กับดินแดนจีน  ทำให้สองฝั่งช่องแคบไต้หวันตึงเครียดขึ้นเป็นพัก ๆ   แต่จีนก็รู้เท่าทันกลอุบายนี้  รู้ว่าหากเกิดความตึงเครียดถึงขั้นใช้กำลังอาวุธเมื่อใด  ผู้ที่ได้ประโยชน์คืออเมริกา  ผู้รับความเสียหายคือ ประชาชนทั้งสองฝั่งช่องแคบนั่นเอง