การพัฒนาเศรษฐกิจจีน ช่วยหนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างไร

0
1

แม้ว่าจะมีปัจจัยท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในปีนี้เช่น เรื่องอุปสงค์การบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์จีน แต่ที่ประชุมสำนักงานเศรษฐกิจและการเงินของพรรคคอมมิวนิสต์ระบุว่า ปีนี้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางบวก จากที่จีนเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาคุณภาพสูง การกระตุ้นการอุปโภคบริโภคในประเทศที่ยั่งยืน และการส่งเสริมการส่งออก

การเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีความหมายต่อประเทศไทยอย่างมากและสร้างแรงกระเพื่อมต่อประเทศไทยในหลายด้าน ทั้งด้านการส่งออก การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และการขนส่ง

ด้านการส่งออก จีนเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 2 ของไทย มีสัดส่วนการส่งออก 12% ของการส่งออกของไทย  การที่จีนส่งเสริมการบริโภคในประเทศย่อมเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการสินค้าไทยจะขยายตลาดไปสู่ผู้บริโภคจีน  หอการค้าไทยระบุว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนเมื่อปี 2566 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1,200,000 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกผ่านแดนไปจีนมีมูลค่ารวกว่า 200,000 ล้านบาท หรือ ขยายตัวประมาณ 41% ล่าสุด ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินทิศทางการส่งออกของไทยไปตลาดจีนในปีนี้ว่า การส่งออกน่าจะเติบโตได้ 2% สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง โดยเฉพาะทุเรียน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ส่วนสินค้าดาวรุ่ง คือ ทรานซิสเตอร์ ไดโอด กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง เลนส์ กระเป๋า อัญมณีและเครื่องประดับ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงยังมีโอกาสอีกมากในการเจาะตลาดจีนตามความต้องการของผู้บริโภคจีน

ด้านการลงทุน

การลงทุนของภาคเอกชนจีนในประเทศไทยยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากจะได้เม็ดเงินจากการลงทุนแล้ว ยังทำให้ไทยได้ประโยชน์จากการได้รับ know-how จากจีน จากการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนระบุว่า ในปีที่ผ่านมามีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากจีน คิดเป็นมูลค่ากว่า 150,0000 ล้านบาท เนื่องจากไทยมีศักยภาพทั้งเรื่องความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน มีวัตถุดิบ มีต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนในประเทศอื่นๆ โดยอุตสาหกรรมที่จีนมาลงทุนในไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จะเห็นว่าได้รับความสนใจจากบริษัทจีนเข้ามาลงทุนในหลายโครงการ เช่น การลงทุนสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ BYD AION CHANGAN และโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของผู้ประกอบการจีน ซึ่งการลงทุนของผู้ประกอบการจีนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคและสร้างแข็งแกรงให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยด้วย

ด้านการท่องเที่ยว

เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวขึ้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น และปีนี้มีปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้ชาวจีนมาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น คือ ทางการไทยและจีนได้ลงนามในข้อตกลงยกเว้นการตรวจลงสำหรับนักท่องเที่ยวของกันและกัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 รวมถึงการกระตุ้นให้สายการบินต่างๆ เพิ่มเที่ยวบินจีน-ไทยมากยิ่งขึ้น บริษัทนำเที่ยวในจีนกลับมาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น ช่วยทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวคึกคักมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมามีจำนวนเกินกว่า 200,000 คน โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่าในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์นี้ มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยกว่า 900,000 คน และตั้งเป้าว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนมาเยือนประเทศไทย 8.5 ล้านคน ตั้งเป้ารายได้ที่ 451,800 ล้านบาท

นักท่องเที่ยวจีนจึงเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญที่จะช่วยทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างรายได้ให้กับจังหวัดท่องเที่ยว โดยคาดว่าจังหวัดท่องเที่ยวที่จะได้รับความนิยมจากกรุ๊ปทัวร์จีน ได้แก่ กรุงเทพ เชียงใหม่ พัทยา และจังหวัดท่องเที่ยวในภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต พังงา และกระบี่ รวมถึงจังหวัดท่อง ที่นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มที่เข้ามาอย่างอิสระ (FIT) ที่เป็นคนรุ่นใหม่และนักธุรกิจชอบไปเยือน เช่น แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี เป็นต้น

ด้านการขนส่ง

จีนมีแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนและภูมิภาค ด้วยการสนับสนุนโครงการพัฒนาระบบขนส่งร่วมกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนหลายประเทศ โดยมีความร่วมมือกับประเทศไทยในการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระหวางรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ระยะทาง 608 กิโลเมตร 11 สถานี แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่1 เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา มีกำหนดจะเปิดให้บริการในปี 2569 และระยะที่ 2 คือ เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย มีกำหนดจะเปิดให้บริการในปี 2571 เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้มีเส้นทางขนส่งในภูมิภาคที่เชื่อมจีน-ลาว-ไทย ทำให้ประเทศไทยมีทางเลือกในการขนส่งผ่านทางลาว-จีน ต่อไปยังภูมิภาคอื่นๆ ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อยู่บริเวณแนวเส้รทางรถไฟด้วย

ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก และยังเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 2 ของไทย ย่อมมีความสำคัญกับไทยอย่างมากในทุกมิติ ทั้งการส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว และการขนส่ง ท่จะสร้างให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในระยะยาวได้อย่างแข็งแกร่ง

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ภาพ CGTN