Digital Media (fx) Privacy ใคร? ที่ถูกละเมิด

0
409

การเสวนาวิชาการเรื่อง “Digital Media (fx) Privacy ใคร? ที่ถูกละเมิด”  โดย  รศ.ดร.นิตย์ เพ็ชรรักษ์ รองอธิการบดีสายงานวิชาการ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

งานนี้มีวิทยากรคือ ผศ.ดร.ทัณฑกานต์ ดวงรัตน์ รองอธิการบดีสายงานสื่อสารแบรนด์ จาก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์  แตงโม  นิดา ภัทรวีระพงษ์  นักแสดงและพิธีกรชื่อดัง  แปมไกอา ศิรภัสรา สินตระการผล หน้ากากโพนี่จาก The Mask Singer อ.วันชัย สอนศิริ  นักกฏหมายชื่อดัง ดำเนินรายการโดย ดร.เอ้ นนทวัชร์ อนันท์พรจินดา คุณภัทรี ภัทรโสภสกุล ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง

จัดโดยนักศึกษา ปริญญาโท สาขาวิชาการสื่อสารการตลาดและแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

วันจันทร์ที่24 เมษายน 2560 เวลา 13.30 -16.00 น.
ณ ห้องสัจจาเกตุทัต1 อาคารสำนักงานอธิการบดี ชั้น1 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

สามารถรับชมได้ที่

 

“แตงโม นิดา ภัทรวีระพงษ์” ดารานักแสดงชื่อดัง หนึ่งในวิทยากรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยถูกบุคคลอื่นละเมิดโดยการบิดเบือนคำพูด และการกระทำอื่นๆ หลายครั้ง และเคยคิดหลายครั้งที่จะฟ้องร้อง แต่ด้วยตัวเองเป็นบุคคลสาธารณะการก้าวเข้ามาอยู่ในสายอาชีพนี้ เราต้องถามตัวเองก่อนว่า พร้อมจะเป็นบุคคลสาธารณะแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ ก็มองว่าตัวเองเหมือนเมล็ดพันธุ์ ยิ่งเราถูกเหยียบลงเท่าไหร่ มันยิ่งทำให้เมล็ดพันธุ์เราเจริญงอกงาม หรือรากหยั่งลึกมากขึ้น ขณะเดียวกัน สิ่งใดที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ได้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ก็อย่าเก็บขยะมาใส่สมองของเรา แต่ก็เห็นว่าสื่อยุคดิจิทัล เป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากใครๆก็เป็นสื่อได้ และถูกนำมาใช้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ และยังใช้เป็นเกราะป้องกันการกระทำความผิดได้อีกด้วย

อาจารย์วันชัย สอนศิริ นักกฏหมายชื่อดัง กล่าวในงานสัมมนาว่า การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นนั้น หากมีบุคคลกล่าวหาส่วนตัวจะต้องย้อนมาดูตัวเองว่าสิ่งที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ หากเป็นความจริงก็นำมาปรับปรุงแก้ไข แต่หากผู้ที่กล่าวหามีเจตนาที่ต้องการให้เสื่อมเสียก็สามารถใช้หลักกฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของบุคคลว่าด้วยหลักความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนสามารถ คิด อ่าน เขียน แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่จะต้องไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น และหากทำให้ชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคลอื่นได้รับการดูถูกถือว่าเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท  หากมีการกล่าวหาด้วยถ้อยคำหยาบคาย ก็เข้าข่ายการดูหมิ่นซึ่งหน้า  มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ส่วนความผิดฐานหมิ่นประมาท คือการกล่าวหาบุคคลอื่นต่อไปยังบุคคลที่สาม ทำให้ผู้รับฟังดูหมิ่นเกลียดชัง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และหากนำไปแสดงต่อในโซเชียลมีเดีย จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ และยังเข้าข่ายความผิดทางแพ่งฐานละเมิดด้วย ซึ่งผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องคดีแพ่งได้ และความผิดยังรวมไปถึงบุคคลที่แชร์ต่อ เผยแพร่ ขยายความต่อ และกดถูกใจด้วย

นอกจากนี้ อาจารย์วันชัย ยังระบุว่า หากมีการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่เป็นบุคคลสาธารณะ และมีการพิสูจน์ได้ว่าเรื่องที่กล่าวถึงเป็นเรื่องจริง และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน แม้ว่าจะเข้าข่ายความผิดอาจจะไม่ต้องรับโทษ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละคดีความ  ส่วนบุคคลทั่วไปและบุคคลสาธารณะ สามารถแยกโดยหลักการว่าบุคคลใดก็ตามที่มีอิทธิพลต่อบุคคลอื่น ทั้งการพูด การกระทำ การปฏิบัติ การแสดงออก ที่ส่งผลถึงบุคคลอื่นถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะ

ด้าน “แปม ศิลปินวงไกอา” หรือ นางสาว ศิรภัสรา สินตระการผล หน้ากากโพนี่ จากรายการ The Mask Singer เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ พร้อมเปิดเผยประสบการณ์การเข้าร่วมประกวดร้องเพลงในรายการ The Mask Singer หลังเปิดหน้ากากว่ามีกระแสข่าวต่างๆเกิดขึ้น มีทั้งชื่นชม ให้กำลังใจ แต่ก็มีหลายคนวิจารณ์ว่าไม่รู้จักตัวเอง จึงรู้สึกเฟลเล็กน้อย และคนรอบข้างก็ได้รับผลกระทบจากบุคคลที่มาแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียที่มีบางคนต่อว่าด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม

ผศ.ดร.ทัณฑกานต์ รองอธิการบดีสายงานสื่อสารแบรนด์ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  กล่าวว่า ในฐานะผู้ผลิตนักสื่อสารมวลชนต้องการให้คนที่ทำงานด้านสื่อสารมวลชน รวมถึงด้านอื่นๆ เน้นย้ำตระหนักถึงเรื่องจรรยาบรรณ จริยธรรมในวิชาชีพ เนื่องจากสื่อสารมวลชนจะต้องควบคู่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ แม้ว่าขณะนี้สังคมจะอยู่ในยุคดิจิทัลมีการแข่งขันกันสูงก็ตาม และส่วนตัวยังต้องการให้มีการศึกษาเรื่องนี้ทุกๆคณะการศึกษา  แต่ก็ยังขาดทรัพยากรบุคคลากรและเครื่องมือในการสอน แต่ขณะเดียวกันการเรียนปริญญาโทก็เป็นอีกหนึ่งกลไกลที่จะส่งเสริมนโยบายสามารถขับเคลื่อนช่วยและกระตุ้นสังคมอีกทางได้ นอกจากนี้ หากผู้ที่ได้กระทำผิดพลาดลงไป หรือละเมิดบุคคลอื่นอาจจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ให้รีบขอโทษ พร้อมแก้ไข เพราะสังคมไทยยังคงต้องการคำนี้