พัฒนาท่ามกลางการปกป้อง ปกป้องท่ามกลางการพัฒนา – ‘สี จิ้นผิง’กับการพัฒนาของกรุงปักกิ่ง (2)

0
7

พัฒนาท่ามกลางการปกป้อง ปกป้องท่ามกลางการพัฒนา – ‘สี จิ้นผิง’กับการพัฒนาของกรุงปักกิ่ง (2)

“การสร้างสรรค์และบริหารจัดการเมืองหลวงให้ดีนั้น เป็นส่วนสำคัญของความทันสมัยทางด้านระบบและขีดความสามารถในการบริหารจัดการประเทศ”

นับตั้งแต่การประชุมผู้แทนระดับชาติทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 เป็นต้นมา นายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีจีนคอยเอาใจใส่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์และพัฒนาเมืองหลวงมาโดยตลอด เขาเคยลงพื้นที่ตรวจงานในกรุงปักกิ่งหลายครั้ง ได้วางแผนพัฒนาเมืองหลวงด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ครั้งใหม่ การพัฒนาเมืองของปักกิ่งได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง การพัฒนาอย่างสอดประสานของกรุงปักกิ่ง-นครเทียนสิน-มณฑลเหอเป่ยได้ประสบความคืบหน้าอย่างเด่นชัด

พัฒนาท่ามกลางการปกป้อง ปกป้องท่ามกลางการพัฒนา

ก่อนเทศกาลตรุษจีนปี 2019 ปธน.สี จิ้นผิงเดินทางไปเยี่ยมเยียนเจ้าหน้าที่และประชาชนระดับรากหญ้าในกรุงปักกิ่ง พร้อมเดินเท้าตรวจดูสภาพสองข้างทางตามหูท่ง(ตรอกซอกซอย)4 ในพื้นที่เฉาฉ่าง เขากล่าวชี้ว่าลักษณะพิเศษอันโดดเด่นอย่างหนึ่งของปักกิ่งดั้งเดิมก็คือ“หูท่ง” เราต้องใส่ใจในการรักษาเอกลักษณ์ของหูท่ง เพื่อให้เมืองสามารถเก็บความทรงจำไว้และผู้คนทั้งหลายสามารถจดจำความเป็นบ้านเกิดได้

ปักกิ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3,000 ปีในฐานะเมือง และมากกว่า 860 ปีในฐานะเมืองหลวง มรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันอุดมสมบูรณ์ของปักกิ่งถือเป็น “นามบัตรทอง”  ในใจของนายสี จิ้นผิง การปกป้องเมืองหลวงอายุนับพันปีและการดูแลชีวิตของชาวเมืองที่อาศัยในหูท่งนั้น เป็นภารกิจสำคัญทางประวัติศาสตร์และประเด็นสำคัญแห่งยุคสมัยในการพัฒนาเมืองหลวง

ในระหว่างการตรวจงานที่กรุงปักกิ่ง นายสี จิ้นผิงเคยให้คำแนะแนวที่สำคัญเกี่ยวกับการปกป้องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของปักกิ่งหลายครั้ง โดยเรียกร้องให้ “ต้องจัดการความสัมพันธ์ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนาเมืองกับการปกป้องและใช้ประโยชน์มรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้ดี  ดำเนินการพัฒนาท่ามกลางการปกป้องและดำเนินการปกป้องท่ามกลางการพัฒนาอย่างจริงจัง” เขาเน้นย้ำว่า “ในการดำเนินการสร้างสรรค์ความทันสมัยนั้น ​​เราไม่เพียงแต่ต้องรักษาความเป็นวัฒนธรรมไว้เท่านั้น หากยังต้องให้ผู้อยู่อาศัยในหูท่งมีชีวิตที่ทันสมัยอีกด้วย ต้องหลอมรวมทั้งสองอย่างให้เข้าด้วยกันลงตัว”

เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2014 นายสี จิ้นผิงได้ไปที่ซอยหนานลั๋วกู่ เขาเดินเข้าไปบ้านเลขที่ 29 และ 30 ภายในหูท่งอี่ว์เอ๋อร์ตามลำดับ “ข้าพเจ้าคุ้นเคยกับหูท่งแถวนี้มาก มาวันนี้ก็เพื่อเยี่ยมเยียนชุมชนย่านเมืองเก่า และรับฟังความคิดเห็นของผู้คนทั้งหลายเกี่ยวกับการดัดแปลงเขตเมืองเก่า” นายสี จิ้นผิงกล่าวชี้ว่า การดัดแปลงเขตเมืองเก่าจะต้องตอบสนองความปรารถนาและความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งถือเป็นภารกิจที่หนักหน่วง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานอย่างลึกซึ้งและรอบคอบ

ตามคำแนะแนวที่สำคัญของปธน.สี จิ้นผิง ปักกิ่งได้เร่งการดัดแปลงเขตเมืองเก่าพร้อมไปกับการคิดค้นวิธีการดัดแปลงใหม่ ในย่านเขตเมืองเก่าบางแห่ง ผู้อยู่อาศัยสามารถเลือกที่จะ “ย้ายออกไปหรืออยู่ต่อ” ได้ด้วยความสมัครใจ ผู้ที่ย้ายออกจะได้อาศัยอยู่ในอาคารสูงที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย ​​ส่วนผู้ที่อยู่ต่อจะได้ใช้พื้นที่ว่างลงมาปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยในห้องครัวและห้องน้ำ เป็นต้น

ควบคู่ไปกับความคืบหน้าในการปกป้องและปรับปรุงเมืองเก่า หูท่งในเมืองเก่าที่นายสี จิ้นผิงเคยไปตรวจดูนั้นได้เปลี่ยนโฉมใหม่แล้ว ผู้สื่อข่าวได้พบเห็นที่บ้านเลขที่ 30 ภายในหูท่งอี่ว์เอ๋อร์ว่า สิ่งก่อสร้างที่ผิดกฎหมายซึ่งดำรงอยู่มาเป็นเวลาหลายปีได้ถูกรื้อถอนแล้ว พื้นดินบางส่วนได้รับการรังสรรค์ให้เป็นพื้นที่สีเขียว ส่วนลานบ้านได้ฟื้นฟูรูปลักษณ์ดั้งเดิม เช่น อิฐสีน้ำเงินดำ กระเบื้องสีเทา ประตูสีแดง และหน้าต่างตาข่ายสีเขียว

เมื่อปี 2017 ปักกิ่งได้เปิดตัวโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมตรอกซอกซอยเปลี่ยวในพื้นที่หลักของเมืองหลวงเป็นเวลา 3 ปี ทำให้มากกว่า 3,000 ซอยเปลี่ยวได้รับการเปลี่ยนโฉมใหม่ เดือนมีนาคมปี 2021 ได้มีการประกาศใช้ “กฎข้อบังคับว่าด้วยการคุ้มครองเมืองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงแห่งกรุงปักกิ่ง”ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ในปีเดียวกันนั้น “แผนคุ้มครองและพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงในช่วง’แผน 5 ปีฉบับที่ 14’แห่งกรุงปักกิ่ง” ได้รับการอนุมัติ ซึ่งได้กำหนดอย่างชัดเจนถึงภารกิจสำคัญต่างๆ เช่น การเสริมสร้างการป้องกันและฟื้นฟูระบบทางน้ำ  เป็นต้น

“ทุกวันนี้ได้ปรากฏภาพ’ทางน้ำไหลผ่านตรอกซอกซอย’อีกครั้ง ย่านถนนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมได้รับการบูรณะซ่อมแซมใหม่ การปกป้องเขตเมืองเก่าของปักกิ่งดำเนินการไปอย่างจริงจังและเป็นขั้นเป็นตอน” นายเฉิน หมิงเจี๋ย ผู้อำนวยการสำนักงานโบราณวัตถุเทศบาลกรุงปักกิ่งกล่าวว่า ในอนาคตจะมีการนำ“เส้นศูนย์กลางปักกิ่ง” ยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเพื่อดำเนินการคุ้มครองให้ดียิ่งขึ้นด้วย ซึ่งย่อมจะอัดฉีดแรงผลักดันใหม่ให้กับความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาด้านมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองปักกิ่งอย่างแน่นอน

แปลเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน(CMG)

 

ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่

สร้างเมืองหลวงแบบไหนและควรสร้างอย่างไร: ‘สี จิ้นผิง’ กับการพัฒนากรุงปักกิ่ง (1)