ส่องอนาคตตลาดจีนหลังโควิด-19

0
1

ส่องอนาคตตลาดจีนหลังโควิด-19

หอการค้าไทยในจีน  ร่วมกับ ฝ่ายเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่  ณ นครเซี่ยงไฮ้   จัดงานสัมมนา “ติดปีกผู้ประกอบการอาหารไทยสู่ตลาดจีน”   โดย ดร.ไพจิตร  วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวถึง “อนาคตตลาดจีน” ที่ผู้ประกอบการไทยควรรู้  ดังนี้

ตลาดอาหารมีแนวโน้มเติบโต

การเติบโตของภาคตลาดอาหารจะเติบโตมากกว่าภาคการจับจ่ายใช้สอยหรือการค้าปลีกในยุคหลังโควิด  เนื่องจากเศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่ลดลง  ผู้บริโภคระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับการจับจ่ายใช้สอย  แต่ยังจำเป็นต้องซื้อหาอาหาร  ดังนั้นในเชิงสัดส่วน ตลาดอาหารในจีนยังเติบโตขึ้น

ในกลุ่มอาหารตำแหน่งทางการตลาดที่โดดเด่น คือ ความเป็นธรรมชาติ  สุขอนามัย  ความปลอดภัย  ความสะดวก  ความคุ้มค่า

โครงสร้างประชากรจีนและพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่เปลี่ยนไป

จีนมีประชากร 1,400 ล้านคน มากกว่าประชากรไทย 20 เท่า  รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรจีนแซงหน้าประเทศไทยไปแล้ว  ตลาดจีนหลายตลาดยังเติบโตได้อีก

ผู้หญิงจีนมีอำนาจซื้อมาก  เพราะไม่ได้ซื้อแค่ครอบครัวตัวเอง แต่ซื้อให้ครอบครัวพ่อแม่  ผู้หญิงมีอิทธิพลต่อการจับจ่ายใช้สอยค่อนข้างสูง  ดังนั้น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงกลุ่มแม่บ้านมีนัยสำคัญต่อโอกาสและความสำเร็จของผู้ประกอบการไทยในตลาดจีน

คนจีนแต่งงานช้าลง หรือไม่แต่งงานเลย  และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ยิ่งช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมา อัตราการหย่าร้างสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เปิดประเทศ  มีอัตราการขยายตัวของคนโสด  ซึ่งอาจจะส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภครูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ครอบครัวจีนในยุคหลังเปิดประเทศว่ามีแนวโน้มเล็กลง  เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลจีนปลดล็อกเพื่อให้การสนับสนุนนโยบายลูก 3 คน อาจทำให้ครอบครัวคนจีนบางส่วนขยายใหญ่ขึ้นในระดับหนึ่ง  เราเห็นโครงสร้างอัตราการเกิดน้อย แต่จีนมองเป้าอัตราทารกเกิดใหม่ปีละ 17-20 ล้านคน  ขณะที่ ผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไปจะแตะ 300 ล้านคน  ลักษณะนี้สะท้อนว่า โครงสร้างตลาดในกลุ่มทารก วัยรุ่น หรือผู้สูงอายุจะมีการปรับเปลี่ยน เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการขยับไปจับตลาดเหล่านี้

ช่วงหลังคนจีนมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น  มีคนชั้นกลางเพิ่มสูงขึ้น  กลุ่มคนในเมืองใหญ่ที่เป็นเทียร์ 1 เช่นปักกิ่ง  เซี่ยงไฮ้  กวางเจา  เซินเจิ้น  และกลุ่มคนในเมืองใหญ่ที่รองลงมา จะให้ความสำคัญกับสินค้าคุณภาพที่สูงขึ้น  เพราะมีรายได้สูงขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  พฤติกรรมการซื้อสินค้า  ไปซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้าน้อยลง  เพราะมีโลกออนไลน์เข้ามา  ความสะดวกกลายเป็นหัวใจสำคัญมากกว่าเรื่องราคา

ความท้าทาย

ความท้าทายของตลาดจีน คือ คนจีนส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมการซื้อสินค้า คือกล้าลองของใหม่ เพราะฉะนั้นจะมีระดับความภักดีต่อแบรนด์ค่อนข้างต่ำ  พร้อมจะลองสินค้าใหม่ในสัดส่วนค่อนข้างสูง  ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาสินค้าคุณภาพดี  มีการสร้างแบรนด์ มีนวัตกรรม ก็อาจจะสามารถเจาะตลาดได้ง่ายขึ้น

คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการไทย

การสร้างหรือเข้าสู่ตลาดผ่านระบบแฟรนไชส์  หรือจับมือกับธุรกิจแฟรนไชส์ที่อยู่ในจีน  อาจเป็นรูปแบบซัพพลายเออร์  เพราะแฟรนไชส์ที่จีนจะเติบโตเร็ว  ระบบแฟรนไชส์จะเป็นคำตอบของผู้ประกอบการเอ็สเอ็มอีไทยจำนวนมาก

ผู้ประกอบการอาจจะไม่ได้มองตลาดจีนเพียงตลาดเดียว  แต่สามารถใช้จีนเป็นฐานการผลิตเข้าสู่ตลาด  ประเทศตามแนวเส้นทางสายไหม  สินค้าของผู้ประกอบการไทยจะออกไปกับขบวนรถไฟที่จีนจะทะลุทะลวงเข้าเอเชียกลาง  ยุโรป  เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความได้เปรียบด้านการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้น ในช่วงโควิด 19 ที่จีนยังไม่เปิดประเทศ ผู้ประกอบการไทยควรใช้โอกาสนี้เตรียมความพร้อมในการศึกษาหาข้อมูลสภาพตลาดจีน  พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีน  กฎ ระเบียบ และกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดจีนในอนาคต

บทความ : ประวีณมัย  บ่ายคล้อย