ผลักดันการสร้างสรรค์ “ความพอกินพอใช้” ในมณฑลฝูเจี้ยน – เส้นทางสี จิ้นผิง(40)

0
10
พื้นที่หวาโข่วหยาง ตำบลหลูเซี่ย เขตหยานผิง เมืองหนานผิง มณฑลฝูเจี้ยนได้ฟื้นฟูจาก "บ่อเกรอะ" เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สวยงาม (เอื้อเฟื้อภาพโดยสำนักข่าว)

บรรลุความพอกินพอใช้หรือไม่? ควรวัดอย่างไร?

นายสี จิ้นผิงเห็นว่า การสร้างสรรค์ความพอกินพอใช้เป็นโครงการแบบองค์รวม ซึ่งควรครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยขอให้ทุกฝ่ายต้องทุ่มเทผลักดันให้สังคมชนบทมีความก้าวหน้า บรรลุการพัฒนาที่ประสานกันระหว่างอารยธรรมทางวัตถุกับอารยธรรมทางจิตใจและบรรลุการพัฒนาที่ประสานกันระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

เดือนพฤศจิกายนปี  1996 มณฑลฝูเจี้ยนได้ออก “นโยบายและมาตรการหลายประการเกี่ยวกับการเร่งบุกเบิกพัฒนาเพื่อบรรเทาความยากจนและการสร้างสรรค์ความพอกินพอใช้ในชนบท”

“เลื่อนลอยไม่ได้ แต่ต้องเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้” นายสี จิ้นผิงมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการกำหนดมาตรการ เป็นผู้ศึกษาค้นคว้าและตัดสินใจมาตรการทุกมาตรการ เนื่องจากการทำงานเพื่อสร้างสรรค์ความพอกินพอใช้ครอบคลุมด้านต่างๆอย่างกว้างขวาง และเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ มากมาย เขาจึงประสานทีละหน่วยงาน ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากทุกหน่วยงาน เขายังบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับหน้าที่ความรับผิดชอบให้ลงตัว จึงสามารถขับเคลื่อนให้ออกเป็นนโยบายได้ในที่สุด

ในฐานะหัวหน้าทีมชี้นำการทำงานเพื่อบรรเทาความยากจนและสร้างความมั่งคั่งสู่ความพอกินพอใช้ในชนบทของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลฝูเจี้ยน นายสี จิ้นผิงรับฟังรายงานพิเศษอย่างน้อยเดือนละครั้ง ดำเนินการปรึกษาหารือเพื่อประสานและสั่งการอย่างน้อยไตรมาสละครั้ง และเรียกประชุมเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการอย่างน้อยปีละครั้ง

วันที่ 5 พฤษภาคมปี 1998 มณฑลฝูเจี้ยนได้จัดประชุมสรุปผลการทำงานและเชิดชูเกียรติแก่หน่วยงานและบุคคลในการบรรเทาความยากจนและสร้างความมั่งคั่งสู่ความพอกินพอใช้ในชนบท ที่ประชุมประกาศว่านับถึงสิ้นปี 1997 ฝูเจี้ยนได้ขจัดความยากจนสุดขีดในขั้นพื้นฐาน และได้บรรลุเป้าหมายตามดัชนีชี้วัดโดยรวมว่าด้วยเกณฑ์มาตรฐานความพอกินพอใช้ขั้นพื้นฐานซึ่งเสนอขึ้นเมื่อปี 1995 ตามแผนที่กำหนดไว้ โดยมีความคืบหน้าในกระบวนการสร้างสรรค์ความพอกินพอใช้ในชนบทที่ได้คะแนนรวมกว่า 90 คะแนน และกว่า 80% ของตำบล หมู่บ้าน และครัวเรือนชาวนาได้บรรลุมาตรฐานความพอกินพอใช้ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในชนบทของฝูเจี้ยนได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่

ในขณะที่สรุปผลสำเร็จและคาดการณ์ในอนาคต นายสี จิ้นผิงเน้นว่าการสร้างสรรค์ความพอกินพอใช้นั้นเป็นเรื่องระยะยาว ไม่ควรมีความคิดที่จะลดความเพียรพยายาม มีภารกิจหนักอึ้งและหนทางอีกยาวไกลในการผลักดันการสร้างสรรค์ความพอกินพอใช้ให้ครอบคลุมทุกด้าน ต้องใช้ความพยายามมากยิ่งขึ้น

ฝูเจี้ยนเริ่มแสวงหาหนทางสู่ “ความพอกินพอใช้พลัส”

ปี 1998 มณฑลฝูเจี้ยนได้ออก “ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งเพื่อดำเนินการสร้างสรรค์ ‘ความพอกินพอใช้พลัส’ในชนบท” โดยเสนอว่าภายในปี 2010 ดัชนีสำคัญที่ชี้วัดการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่แบบพอกินพอใช้ของประชาชนในชนบทของทั้งมณฑลจะถึงหรือเกินกว่าระดับถัวเฉลี่ยของประเทศที่มีรายได้ปานกลางในโลกในขณะนั้น และมุ่งมั่นที่จะนำหน้าบรรลุความทันสมัยในขั้นพื้นฐานภายในทศวรรษที่ 2020-2030 ฝูเจี้ยนยังได้กำหนด 10 เขตบริหารระดับอำเภอ เมือง หรือเขต เช่น ฝูชิง จิ้นเจียง สือซือ หลงไห่ ฯลฯ เป็นพื้นที่ทดลองสำหรับการสร้างสรรค์“ความพอกินพอใช้พลัส” โดยให้หน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อมณฑลจับคู่ให้คำแนะนำ ทั้งยังส่งทีมงานลงพื้นที่ไปให้ความช่วยเหลืออีกด้วย

วันที่ 23 มีนาคมปี 1999 ในการประชุมให้กำลังใจแก่ทีมงานที่จะดำเนินการจับคู่ให้ความช่วยเหลือระหว่างอำเภอนำร่องการสร้างสรรค์“ความพอกินพอใช้พลัส”กับอำเภอในพื้นที่ภูเขาที่เศรษฐกิจด้อยพัฒนา นายสี จิ้นผิงกล่าวว่า “พื้นที่ชนบทของมณฑลเราได้บรรลุความพอกินพอใช้และขจัดความยากจนสุดขีดในขั้นพื้นฐานแล้ว แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าภารกิจการบรรเทาความยากจนของทั้งมณฑลสำเร็จเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ ในความเป็นจริงยังมีความไม่สมดุลด้านการพัฒนาดำรงอยู่ ภายใต้ตัวเลขถัวเฉลี่ยได้ปกปิดครัวเรือนยากจนจำนวนหนึ่ง ภายในอำเภอพอกินพอใช้ยังมีตำบลที่ยากจน ภายในตำบลพอกินพอใช้ยังมีหมู่บ้านยากจน ภายในหมู่บ้านพอกินพอใช้ยังมีครัวเรือนยากจน การกลับมายากจนเนื่องจากภัยพิบัติก็ยังจะดำรงอยู่เป็นเวลานาน”

ระบบดัชนีชี้วัด“ความพอกินพอใช้พลัส”นั้นแบ่งเป็นสองระดับอันได้แก่ ระดับมณฑลกับเขต (เมือง) และระดับตำบลกับหมู่บ้าน ซึ่งได้เพิ่มดัชนีเกี่ยวกับอัตราการเป็นพื้นที่สีเขียว และอัตราการผ่านเกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการมลพิษสิ่งแวดล้อม

แม้กาลเวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน แต่นายหลิน กว๋อเฉียง ซึ่งขณะนั้นเป็นกำนันตำบลหลูเซี่ย เขตหยานผิง เมืองหนานผิง ยังคงจำได้ถึงปัจจุบันเกี่ยวกับ “ความเงียบ” ของนายสี จิ้นผิงครั้งหนึ่ง

วันที่ 23 ตุลาคมปี 1998 นายสี จิ้นผิง เดินทางไปยังตำบลหลูเซี่ยเพื่อศึกษาข้อเท็จริงเกี่ยวกับการทำงานเพื่อก้าวสู่ความพอกินพอใช้ในชนบท ตำบลหลูเซี่ยเป็นหนึ่งในตำบลอพยพในเขตอ่างเก็บน้ำสวยโข่วของลุ่มแม่น้ำหมิ่นเจียง เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของเกษตรกร ตำบลนี้จึงสนับสนุนการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ โดยการเพาะพันธุ์หมูครั้งหนึ่งจนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นเสาหลักของที่นี่

วันนั้นตำบลหลูเซี่ยได้ชูป้าย “ฐานแม่สุกรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ” ที่ทางเข้าศูนย์ซื้อขายลูกสุกรในหมู่บ้านหยางเหว่ย โดยหวังว่าจะได้รับการชื่นชมจากผู้นำ

“แต่เหนือคาดของผู้คนทั้งหลาย หลังจากฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสุกรแล้ว สหายสี จิ้นผิงไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่ออุตสาหกรรมสุกรมากนัก” นายหลิน กว๋อเฉียงยังจำได้ว่าในเวลานั้น นายสี จิ้นผิงเอาแต่มองดูคอกหมูรอบๆ ราวกับว่ากำลังคิดอะไรบางอย่าง

หลังออกมาจากศูนย์ซื้อขายลูกสุกร ป้ายโฆษณา “อีชุนซื่อเลี่ยว ” ที่อยู่ริมถนนกลับเป็นที่สนใจของนายสี จิ้นผิง จนต้องหยุดดู

นายหลิน กว๋อเฉียงเรียนให้นายสี จิ้นผิงทราบว่า บริษัทอีชุนเป็นบริษัทพัฒนาการเกษตรครบวงจรที่หลอมรวมการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเข้าด้วยกัน และหลอมรวมการผลิต การจัดหาและการตลาดเข้าด้วยกัน ทำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และก๊าซชีวภาพเพื่อการชลประทานผ่านการรีไซเคิลมูลสุกร

“ต้องเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนการบุกเบิกพัฒนาทรัพยากรจากการผลิตทางเศรษฐกิจล้วน ๆ สู่การพัฒนาและการอนุรักษ์ไปพร้อมกัน คงไว้ซึ่งการใช้ทรัพยากรการเกษตรอย่างยั่งยืน ต้องเดินบนหนทางแห่งการพัฒนาสีเขียวและการเกษตรเชิงนิเวศให้ดีอย่างจริงจัง” คำพูดของนายสี จิ้นผิงทำให้นายหลิน กว๋อเฉียงเข้าใจทันที

หลังเสร็จสิ้นการศึกษาข้อมูลในพื้นที่ เมืองหนานผิงได้จัดประชุม “คำถามเกี่ยวกับตำบลหลูเซี่ย”

“การเลี้ยงสุกรแบบเรียบง่ายให้ผลตอบแทนสูงแต่ต้องแลกด้วยการเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จะเลือกอย่างไรระหว่างสองอย่างนี้?เราจะเดินหน้าอย่างไรในอนาคต?” นายหลิน กว๋อเฉียงกล่าวว่า หลังจากนั้นเมืองหนานผิงได้เริ่มใช้ระบบจัดส่งเจ้าหน้าที่พิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้อัดฉีดพลังทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่การพัฒนาการเกษตรสีเขียวและการเกษตรเชิงนิเวศของตำบลหลูเซี่ย

คำบรรยายภาพ : พื้นที่หวาโข่วหยาง ตำบลหลูเซี่ย เขตหยานผิง เมืองหนานผิง มณฑลฝูเจี้ยนได้ฟื้นฟูจาก “บ่อเกรอะ” เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สวยงาม (เอื้อเฟื้อภาพโดยสำนักข่าว)

แปลเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน(CMG)