CSG เดินหน้าความร่วมมือด้านพลังงานในภูมิภาคแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง

0
1

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะผู้แทนสื่อของการประชุมสุดยอดสื่อมวลชนกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (LMC) ได้เข้าเยี่ยมชมบริษัทการไฟฟ้าจีนตอนใต้ (CSG)

“การพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีนกำลังก้าวหน้า นี่มันเกินความคาดหมายของผมมาก”  กิตติธัชช์ กิตติ์ณัฏฐากูร นักประชาสัมพันธ์ปฏิบัติการ สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ กรมประชาสัมพันธ์ กล่าวกับหนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี ออนไลน์ (People’s Daily Online) ทั้งยังเสริมอีกว่า โครงข่ายดิจิทัลนั้นแฝงอยู่ในชีวิตประจำวันและทุกมุมของเมืองอัจฉริยะอย่างกว่างโจว ไทยมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้จากจีนอีกมาก รวมถึงควรเดินหน้าส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ซีเอสจีตระหนักถึงการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ เวียดนาม ลาว และเมียนมาร์ ทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาในระดับภูมิภาคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนถ่ายพลังงาน และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น

ให้ความสำคัญกับการส่งกำลังไฟฟ้า (power transmission)

ซีเอสจีขยายความร่วมมือด้านพลังงานสีเขียวในภูมิภาคแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง ในเดือนมิ.ย. ปี 2022 ซีเอสจีได้เปิดบริษัทในเครือที่ชื่อว่าซีเอสจี อวิ๋นหนาน อินเตอร์เนชันแนล จำกัด (YNIC) เป้าหมายเพื่อดำเนินการค้าไฟฟ้าระหว่างจีนและลาว ปรับปรุงการจัดสรรทรัพยากรไฟฟ้าในภูมิภาคแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง รวมถึงสร้างความร่วมมืออันได้ผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ ซีเอสจียังมุ่งเสริมสร้างความเป็นอยู่อันดีของประชาชนในภูมิภาคแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง นับตั้งแต่ปี 2011 บริษัทฯ ได้ฝึกอบรมด้านวิศวกรรมพลังงานไฟฟ้าให้แก่นักเรียนในกลุ่มประเทศนี้แล้วกว่า 165 คน ทั้งยังจัดตั้ง “โรงเรียนมิตรภาพ” (Friendship School) สองแห่ง และดำเนินโครงการ “แสงแห่งความหวัง” (The Light of Hope) ในลาว เพื่อปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและการแพทย์ในท้องถิ่น

สร้างมิตรภาพ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

โรงไฟฟ้าวินห์ เติน 1 (Vinh Tan I) เป็นโครงการลงทุนของซีเอสจีในเวียดนาม ได้รับรางวัลการดำเนินงานยอดเยี่ยมจากการไฟฟ้าเวียดนาม ในปี 2019 และ 2020 พนักงานรายหนึ่งของโรงไฟฟ้าฯ กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นโอกาสอันมีค่าสำหรับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนและเวียดนาม เพื่อนร่วมงานทั้งสองชาติทำงานร่วมกันได้เป็น อย่างดี รวมถึงได้เรียนรู้จากกันและกันอีกด้วย

รถไฟจีน-ลาวเป็นโครงการภายใต้แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และเป็นจุดสำคัญของลาวในการเปลี่ยนตัวเองจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเป็นประเทศที่มีการเชื่อมโยงทางบก โครงการแหล่งจ่ายไฟภายนอกของทางรถไฟจีน-ลาวในประเทศลาวนั้น ถือเป็นโครงข่ายไฟฟ้าโครงการแรกที่ดำเนินงานภายใต้รูปแบบก่อสร้าง-บริหาร-ถ่ายโอน (BOT) และมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจว่าการเดินรถจะเป็นไปตามกำหนดเวลา

เจ้าหน้าที่จากบริษัท ลาว-ไชน่า พาวเวอร์ อินเวสเมนต์ คอมปะนี (Laos-China Power Investment Company) กล่าวว่า “โครงการนี้สร้างผู้มีความสามารถด้านพลังงานให้กับลาวจำนวนมาก ทั้งยังขับเคลื่อนการจ้างงานในท้องถิ่น ผมเชื่อว่าความร่วมมือของบุคลากรมากความสามารถของทั้งสองประเทศ จะทำให้การจ่ายไฟและบริการของรถไฟดำเนินไปได้ดีอย่างแน่นอน”

อนึ่ง การประชุมสุดยอดสื่อมวลชนกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (LMC) ประจำปี 2023 จัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนเข้าร่วมงานกว่า 130 คนจาก 6 ประเทศในแถบแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง

 

(อ้างอิง : http://en.people.cn/n3/2023/0703/c98649-20038996.html)