อนาคตความร่วมมือไทย-จีน ภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

0
1

การประชุมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRF) ครั้งที่ 3 ที่จีนเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างไทยและจีน

กวี จงกิจถาวร นักวิจัยอาวุโส สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองบทบาทของไทยในเวทีนี้ และความร่วมมือระหว่างไทยและจีนภายใต้กรอบข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และในอนาคต โดยกล่าวว่า

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนสามารถระดมทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั้งทางบก ทางทะเล โดยพยายามเข้าไปในทุกภูมิภาคของโลก ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง ทวีปยุโรป ทวีปแอฟริกา และทวีปอเมริกาใต้ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมากในหลายๆ ประเทศ

การประชุมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRF) ครั้งนี้ ถือว่าประเทศไทยมีบทบาทสูง เพราะเป็น 1 ในกว่า 30 ประเทศที่มีผู้นำเข้าร่วมประชุมด้วย โดยการประชุมครั้งนี้ทำให้จีนได้ทบทวนและเรียนรู้บทเรียนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับข้อริเริ่มนี้ เพราะ 10 ปีที่ผ่านมาตอนริเริ่มโครงการนี้เมื่อปีพ.ศ. 2556 เศรษฐกิจจีนเติบโตสูง จึงมีการลงทุนขนาดใหญ่และใช้เงินมหาศาล แต่หลังจากนี้ จีนยังยืนหยัดสานต่อข้อริเริ่มนี้ต่อไป โดยรับฟังความคิดเห็นจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมกว่า 150 ประเทศ แต่มองว่าทางจีนน่าจะมีการประเมินและอาจทำให้โครงการต่างๆ เล็กลง ลงทุนน้อยลง แต่เป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ เป็นโครงการที่จิ๋วแต่แจ๋ว

ในช่วงที่ผ่านมา มีประเทศต่างๆ ได้รับประโยชน์มากมายจากโครงการต่างๆ โดยไทยมีโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนที่ยังดำเนินการอยู่ แต่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค มี 2 ประเทศที่เห็นผลอย่างทันควัน คือ สปป.ลาว ที่มีโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างเวียงจันทน์-คุนหมิง ที่อินโดนีเซีย มีการเปิดเส้นทางใหม่ รถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงจาการ์ตา-บันดุง และเวียดนาม นอกจากมีโครงการให้จีนสร้างรถไฟใต้ดินที่เมืองฮานอย และยังมีโครงการสร้างเส้นทางรถไฟจากฮานอย-โฮจิมินห์ด้วย

สำหรับการดำเนินโครงการภายใต้กรอบ BRI ในอนาคต ประเทศจีนน่าจะมีแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลทุกประเทศให้มีความสนใจ ซึ่งเรื่องนี้ไทยได้ประโยชน์ เพราะไทยก็มีแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบของ BCG อยู่แล้ว ดังนั้น ในอนาคตความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในกรอบความร่วมมือของ BRI จะเพิ่มสูงขึ้น ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน มีความเชี่ยวชาญเรื่องการทำธุรกิจ จะเห็นว่า การเดินทางครั้งนี้ได้ทีมรัฐบาลไทยได้พบกับประธานาธิบดีจีน นายกรัฐมนตรีจีน ผู้นำในภาคเศรษฐกิจของจีนหลายคน และมีการหารือเรื่องความร่วมมือหลายเรื่อง

ที่ผ่านมา ในด้านการค้าและการลงทุน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยและไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 13 ของจีนมูลค่าการค้ารวม 105,404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ความร่วมมือระหว่างไทยและจีนภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนับจากนี้ จึงยิ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ และเสริมสร้างการพัฒนาร่วมกันระหว่างไทย-จีน ในหลายมิติ

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย