“ผลการเลือกตั้งไต้หวันเป็นสัญญาณบอกอะไร ?”

0
2

“ผลการเลือกตั้งไต้หวันเป็นสัญญาณบอกอะไร ?”

โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์

​ไต้หวันจัดให้มีการเลือกตั้งผู้นำชุดใหม่เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา เลือกครั้งเดียวครบทั้ง 3 ตำแหน่งคือ ตำแหน่งประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมี19.5 ล้านคน ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรค DPP (Democratic Progressive Party) ได้คะแนนนำ 5.58 ล้านเสียง คิดเป็น 40.05% ทำให้พรรค DPP โดยนาย “ไล่ชิงเต๋อ” กับนาง “เซียวเหม่ยฉิน” จะได้เป็นประธานาธิบดีและรองประธานธิบดีคนต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้ “นางไช่อิงเหวิน” เคยครองเก้าอี้ประธานาธิบดี และนายไล่ชิงเต๋อ (ผู้ชนะคนปัจจุบัน) เป็นรองประธานาธิบดีในนามพรรคนี้มาแล้ว 2 สมัยติดต่อกัน นอกจากตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว DPP ยังได้จำนวนส.ส.เสียงข้างมากในสภามาตลอด 8 ปีด้วย

​พรรค “ก๊กมิ่นตั๋ง” (KMT) ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดตั้งแต่ยุคเจียงไคเช็ค เลือกครั้งนี้ได้ 4.67 ล้านเสียง คิดเป็น 33% ถัดมาคือพรรคเล็ก ๆ ของคนรุ่นใหม่อายุเพียง 5 ปีชื่อพรรค TPP (Taiwan People Party) สามารถคว้าไปได้ถึง 3.69 ล้านเสียง คิดเป็น 26.46%

​แม้จะได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งทั้ง 2 ตำแหน่ง แต่สำหรับผลการเลือกตั้งอีก 1 ตำแหน่งคือ สมาชิกสภานิติบัญญัติซึ่งมีอยู่ 113 ที่นั่งนั้น ปรากฏว่า KMT คว้าไปครองถึง 52 ที่นั่ง มากกว่า DPP ที่ได้ 1 ที่นั่ง และ TPP ได้ 8 ที่นั่ง ปรากฏารณ์เช่นนี้ไม่เป็นผลดีสำหรับ DPP อย่างแน่นอน เพราะพรรครัฐบาลไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาฯเสียแล้ว หากอีก 2 พรรคจับร่วมมือกันเมื่อไหร่ ก็เป็นที่แน่ชัดว่าพรรครัฐบาลอาจต้องพ่ายแพ้เมื่อมีการโหวตญัตติสำคัญในสภา และนี่คือความความเสี่ยงใหม่ทำให้พรรคDPP ซึ่งเคยครองเสียงข้างมากในสภามาตลอด 8 ปีถึงกับต้องกุมขมับ โดยเฉพาะเมื่อผนวกเข้ากับแนวโน้มความนิยมของพรรคคนรุ่นใหม่ TPP ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยได้ 3 ที่นั่งในสภาในปี 2020 เพิ่มขึ้นมาเป็น 8 ที่นั่งในครั้งนี้ ทั้งหมดนี้เป็นฉากทัศน์ใหม่ทางการเมืองที่อาจก่อตัวเพิ่มขึ้นอีกได้ในไต้หวัน

​“ไล่ชิงเต๋อ” ซึ่งจะขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 8 ของไต้หวันในวันที่ 20 พ.ค. ได้กล่าวสุนทรพจน์หลังรู้ผลการเลือกตั้งด้วยท่าทีปรานีประนอม เน้นว่าความขัดแย้งใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างจีนกับไต้หวันในอนาคต DPP จะไม่เลือกวิธีเผชิญหน้า จะไม่มีการปิดล้อม แต่จะดำเนินการเจรจาอย่างสันติเพื่อให้ประชาชนสองฝั่งชอบแคบไต้หวันได้รับประโยชน์มากที่สุด

​ส่วนสื่อตะวันตกซึ่งต่างก็จับตามองการเลือกตั้งครั้งนี้ และคาดเดาปฏิกิริยาของฝ่ายจีนที่จะตอบโต้ไต้หวันให้สาสมอยู่นั้น ทางฝ่ายจีนเองกลับวางตัวนิ่งเฉยไม่วอแวต่อปฏิกิริยาใด ๆ วางตัวเป็นผู้ใหญ่ที่เฝ้ามองและรับฟังความของเห็นฝ่ายต่าง ๆ อย่างเงียบกริบ มีเพียง “นายหวังอี้” รมต.ต่างประเทศของจีนขณะเยือนอียิปต์เมื่อวันที่ 14 ถัดจากวันเลือกตั้งในไต้หวันวันเดียว ซึ่งได้กล่าวในที่ประชุมนักข่าวว่า ไม่ว่าการเลือกตั้งจะมีผลออกมาอย่างไร ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นจริงที่ทั่วโลกรับรู้ร่วมกันว่า ในโลกนี้มีจีนเดียว ไต้หวันเป็นเพียงส่วนหนี่งของจีน ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงหลักการ “จีนเดียว” ซึ่งเมื่อ 80 ปี ก่อนได้มีการประกาศ “แถลงการณ์ไคโร” ร่วมกันระหว่างจีน-อเมริกา-อังกฤษ ซึ่งเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “ต้องคืนไต้หวันซึ่งถูกญี่ปุ่นยึดครองอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้กับจีน” และต่อมาในปี 1945 ก็ยังมี “แถลงการณ์บอสตัน” ย้ำให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตาม “แถลงการณ์ไคโร” อีกครั้ง แถลงการณ์เหล่านี้ถือเป็นเอกสารสำคัญเสมือนหนึ่งกฎหมายสากล ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศได้ “ไต้หวันเป็นดินแดนของจีนที่แบ่งแยกจากกันไม่ได้” จีนย้ำประโยคนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขณะที่ไต้หวันก็ยังย้ำอยู่อย่างเดิมกับสถานะทางการเมืองที่เป็นอิสระของตนเองไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน

​ไต้หวันกลายเป็นกระดูกติดคอจีนและผู้นำในไต้หวันที่แคะเท่าไหร่ก็แคะไม่ออกได้อย่างไร ?

​ครั้งหน้าเราจะย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับเกาะเล็ก ๆ เกาะหนึ่งที่มีแต่ชาวเกาะหาปลากันอยู่อย่างกระจัดกระจาย ไล่มาจนกระทั่งเกาะนี้ได้กลายเป็นดินแดนที่ทันสมัย เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง แต่กลับมีปัญหาความขัดแย้งที่หมิ่นเหม่ต่อการสู้รบตอบโต้กันอยู่เป็นระยะ ๆ เป็นเวลาหลายสิบปี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการใช้วิจารณญาณของตนเองตัดสินว่า…​“ข้ออ้างของจีนเกี่ยวกับการครอบครองไต้หวัน เป็นข้อเท็จจริงที่ใครก็โต้แย้งไม่ได้จริงหรือ ?”

ขอทิ้งท้ายด้วยข่าวที่เพิ่งเข้ามาว่า จู่ ๆ ก็มีประเทศชื่อว่า “นาอูรู” ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันหลังทราบผลการเลือกตั้งแล้ว ทุกวันนี้จึงเหลือเพียง 12 ประเทศและเขตแดนเล็ก ๆ ในโลกเท่านั้นที่ยังมีความสัมพันธ์ทางการทูตอยู่กับไต้หวัน