ผลสำเร็จจีนในการสร้างประชาคมมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ (2)

0
1

ผลสำเร็จจีนในการสร้างประชาคมมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ (2)

โลกที่สะอาดสวยงามเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งในการร่วมสร้างประชาคมของสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งยังเป็นความปรารถนาร่วมกันของประชาชนทุกประเทศด้วย ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ยังคงแผ่ปกคลุมการพัฒนาโลก ความหลากหลายทางชีวภาพกำลังสูญเสียไปในอัตราที่รวดเร็วอย่างไม่เคยมีมาก่อน ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่อาจมองข้ามได้

ปี 2021 บนหลายเวทีระดับโลก นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เรียกร้องให้ทุกประเทศเพิ่ม “ความร่วมมือสีเขียว” เดินหน้า “การพัฒนาสีเขียว” หนุน “การฟื้นตัวสีเขียว” สร้างการมีส่วนร่วมที่มีค่ามากสุดในการสร้างบ้านเรือนอันสวยงามที่สรรพสิ่งอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน เสนอแบบแผนจีนในการรับมือความท้าทายจากสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อัดฉีดความเชื่อมั่นและแรงขับเคลื่อนเพื่อเดินหน้าสร้างสรรค์อารยธรรมระบบนิเวศของโลก

ผลักดันการบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศโลก สะท้อนถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของประเทศใหญ่

ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่เริ่มทำการบันทึกสถิติ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็น 10 ปีที่ร้อนที่สุด อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส และช่วง 50 ปีนับตั้งแต่ปี 1970 เป็น 50 ปีที่อบอุ่นที่สุดในระยะเวลา 2000 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังทวีความรุนแรงและเป็นอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ การร่วมมือกันรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการโดยด่วน

ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคมถึง 13 พฤศจิกายน ปี 2021 การประชุมสมัชชาครั้งที่ 26 ของภาคี “กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศอังกฤษ นี่เป็นการประชุมภาคีครั้งแรกหลังจาก “ข้อตกลงปารีส” เข้าสู่ระยะการดำเนินการ การประชุมครั้งนี้ได้บรรลุข้อตกลงเบ็ดเสร็จเกี่ยวกับหลักการและรายละเอียดในการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส ในระหว่างนี้ จีนและสหรัฐฯได้ร่วมกันออก “ปฏิญญาร่วมกลาสโกว์ระหว่างจีน-สหรัฐฯว่าด้วยการเสริมสร้างปฏิบัติการรับมือกับสภาพภูมิอากาศในทศวรรษ 2020” ซึ่งได้เพิ่มความมั่นใจของทุกฝ่ายในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ได้ผลักดันกระบวนการประชุมอย่างแข็งขันและสร้างสรรค์ และได้อัดฉีดพลังขับเคลื่อนในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ และการเพิ่มจุดยืนร่วมกัน

ประเทศจีนเป็นผู้สร้างคุณูปการสำคัญในการขับเคลื่อนการบรรลุข้อตกลงปารีส ทั้งยังเป็นผู้ปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสอย่างแข็งขันด้วย ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก จีนจะดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอนในระดับสูงสุดของโลกให้เสร็จสิ้น และบรรลุการเปลี่ยนจากปล่อยคาร์บอนระดับสูงสุดสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นกลาง โดยใช้เวลาสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์โลก แพทริเซีย เอสปิโนซา เลขาธิการบริหารสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเห็นว่า จีนในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรจำนวนมาก และต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆอีกมากมาย ได้แสดงความกล้าหาญอย่างมากในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดของมนุษยชาติ

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ปี 2021 ขณะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้อรรถาธิบายอย่างเป็นระบบถึงสาระสำคัญและแนวทางปฏิบัติในการร่วมกันสร้างสรรค์ “ประชาคมแห่งชีวิตมนุษย์กับธรรมชาติ” โดยใช้ “การยืนหยัด 6 ประการ” อันได้แก่ “ยืนหยัดการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ”, “ยืนหยัดการพัฒนาสีเขียว”, “ยืนหยัดการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ” , “ยืนหยัดการถือประชาชนสำคัญที่สุด” , “ยืนหยัดพหุภาคีนิยม”และ “ยืนหยัดหลักการความรับผิดชอบที่ร่วมกันแต่แตกต่างกัน”

หัวหน้าบรรณาธิการฝ่ายต่างประเทศของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของประเทศแทนซาเนียกล่าวว่า จีนได้แสดงให้โลกเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและรับมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้เสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาคมระหว่างประเทศในการร่วมกันรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การยืนหยัด 6 ประการสะท้อนถึงวิสัยทัศน์อันยาวไกลและคำมั่นสัญญาอันหนักแน่นของผู้นำจีนต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนของมนุษยชาติ คำมั่นสัญญาเหล่านี้มีเป้าหมายและแผนงานที่ละเอียดซึ่งน่าเชื่อถือ

เดือนมกราคม ปี 2021 เฟสที่หนึ่งและสามของโครงการ “โรมา แบลนคา”( Roma Blanca)ซึ่งเป็นส่วนประกอบของกลุ่มโครงการพลังงานลม “เฮลิออส(Helios)” ของอาร์เจนตินาที่ลงทุนและก่อสร้างโดยบริษัทจีน ได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ เมื่อดำเนินการผลิตทั้งหมดแล้ว คาดว่าแต่ละปีสามารถป้อนไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 1,600 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงแก่ท้องถิ่น สามารถช่วยอาร์เจนตินาประหยัดถ่านหินได้ 650,000 ตันและลดการปล่อยคาร์บอน 1.8 ล้านตันต่อปี

เดือนกรกฎาคม ปี 2021 สถานีไฟฟ้าพลังน้ำเทอร์กูซอนในคาซัคสถานที่ก่อสร้างโดยวิสาหกิจจีน ได้บรรลุหน่วยเครื่องกําเนิดไฟฟ้าดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ทั้งหมด โดยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 24.9 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยในช่วงเวลาหลายปีถึง 79.8 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง และสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ประมาณ 72,000 ตันต่อปี

เดือนกรกฎาคม ปี 2021 โครงการพลังงานลมเซนจ์(Senj)ในโครเอเชียที่ลงทุนและก่อสร้างโดยบริษัทจีนได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการ คาดว่าในแต่ละปีสามารถป้อนไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียวประมาณ 530 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 460,000 ตัน

กล่าวโดยสรุปแล้ว จีนได้เข้าร่วมความร่วมมือพหุภาคีระหว่างประเทศอย่างแข็งขัน ทุ่มเทพัฒนาและเผยแพร่เทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างจริงจัง จีนได้ดำเนินความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมกับประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากผ่านปฏิบัติการต่างๆ เช่น การจัดตั้งกองทุนความร่วมมือใต้ – ใต้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนายกระดับความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผลลัพธ์แห่งความร่วมมือนั้นสามารถมองเห็นได้ จับต้องได้ และมีประสิทธิผลอย่างแท้จริง

ดร.ฟาร์ตี้ ไบโรล์ ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศมองว่า การที่จีนดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านพลังงานสะอาดอย่างแข็งขันนั้น มีส่วนช่วยอย่างมากต่อการบรรลุเป้าหมายของโลกในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขณะที่นายเพตเตรี ทาลาส เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกกล่าวว่า จีนมีบทบาทสำคัญยิ่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในโลกและการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา

แปลเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน(CMG)