หนุน “ชาวประมงที่ใช้ชีวิตอยู่บนเรือบ้าน” ขึ้นฝั่งตั้งถิ่นฐาน- เส้นทางสี จิ้นผิง (33)

0
36
ชาวเรือในหมู่บ้านเป๋ยโต่ว ตำบลชนเผ่าเซอเหยียนเถียน อำเภอเสียผู่ มณฑลฝูเจี้ยนกลับจากการออกทะเลหาปลา (เอื้อเฟื้อภาพโดยหนังสือพิมพ์ฝูเจี้ยนเดลี่)

ชาวชนเผ่าเซอได้ย้ายลงจากภูเขา แต่ชาวประมงที่ใช้ชีวิตอยู่บนเรือบ้านยังคงลอยอยู่ในทะเล

ทะเลกว้างใหญ่มาก แต่ที่พักพิงของชาวเรือเป็นเพียงเรือบ้านลำเล็กๆเท่านั้น เรือเล็กเหล่านี้มีความยาวเจ็ดหรือแปดเมตร กว้างไม่ถึงสองเมตร มักประกอบด้วยห้องทางหัวเรือที่ใช้สำหรับเก็บน้ำจืด ห้องถัดไปที่ใช้สำหรับเก็บเครื่องมือทำการประมง ปลาและกุ้งที่จับได้ ห้องกลางเรือใช้สำหรับเก็บข้าวสาร ผ้าห่ม และเป็นที่ใช้ชีวิตทั้งกินและนอน ส่วนท้ายเรือที่ล้อมด้วยผ้าคลุมสีดำใช้เป็นห้องน้ำ

ไก่ เป็ด ห่านที่ชาวเรือเลี้ยงไว้ก็อยู่เบียดเสียดกันบนเรือกับคน เวลาผู้ใหญ่จะออกทะเลหาปลา เพื่อป้องกันเด็กตกทะเลจึงเอาเชือกผูกเด็กไว้กับเรือ หากเรือบ้านไหนมีจำนวนคนมากจนเกินไปพวกเขาก็จะทำการแยกครอบครัว ซึ่งก็คือเพิ่มเรืออีกลำเพื่อให้ลูกที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วแยกกันอยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากต้องอาศัยอยู่ในเรือที่คับแคบตลอดทั้งปี ชาวเรือส่วนใหญ่จึงมีรูปร่างเตี้ย เท้าทั้งสองข้างงอและผิดรูป ซึ่งเรียกกันว่า “เท้าโค้ง”

หลังจากสถาปนาประเทศจีนใหม่ขึ้น ชาวเรือเริ่มขึ้นฝั่งตั้งถิ่นฐานบ้างประปราย อย่างไรก็ตาม จนถึงปี ค.ศ.1997 จำนวนชาวเรือที่ต้องจัดให้ขึ้นฝั่งเพื่อตั้งถิ่นฐานทางตะวันออกของมณฑลฝูเจี้ยนยังคงมีมากกว่า 10,000 คน

วันหนึ่งในช่วงปลายเดือนเมษายนปีค.ศ.1998 ทะเลสงบไร้คลื่นลม มีเรือบ้านของครอบครัวชาวประมงหลายลำจอดเทียบท่าเรียงเป็นแถวที่ริมทะเลของหมู่บ้านเป๋ยโต่ว ตำบลเหยียนเถียน อำเภอเสียผู่ ในจำนวนนี้เรือของครอบครัวหยาง หย่งสง จอดอยู่ใกล้ชายฝั่งมากที่สุด เมื่อใกล้เที่ยงวัน ครอบครัวหยางเพิ่งทำอาหารกลางวันเสร็จ พลันเห็นคนกลุ่มหนึ่งกำลังเดินจากฝั่งไปที่เรือของพวกเขา ผู้มาเยือนยังลงไปเยี่ยมชมในเรือด้วย แต่เรือทั้งลำเต็มไปด้วยสิ่งของทั้งหมดของครอบครัว จุคนได้ไม่กี่คน หยาง หย่งสงจึงพาภรรยาและลูก ๆ ขึ้นไปรอที่ฝั่ง เหลือพ่อของเขาซึ่งอายุเกือบแปดสิบปีต้อนรับแขกในเรือ หลังจากได้ฟังการแนะนำ หยาง หย่งสงจึงรู้ว่าที่แท้นายสี จิ้นผิง รองเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลลงพื้นที่มาสำรวจตรวจเยี่ยมนั่นเอง

สี จิ้นผิงเป็นคนสูง แต่หลังคาเรือเตี้ยมาก เขาเข้าไปในเรืออย่างยากลำบาก ลุงหยางหยิบท่อนไม้ที่ปกติใช้เป็นทั้งหมอนและเก้าอี้ออกมาเพื่อเชิญแขกให้นั่งลง

“ท่านผู้อาวุโสกลายเป็นชาวเรือได้อย่างไร ตอนนี้มีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร” สี จิ้นผิง ถามตรงไปตรงมา

“ผมใช้ชีวิตบนเรือมาตั้งแต่จำความได้ เดิมลำบากยิ่งกว่าทุกวันนี้ หลังจากจีนใหม่ก่อตั้งขึ้นผมได้รับการจัดสรรพื้นที่ชายหาดเล็กน้อย ชีวิตจึงดีขึ้นกว่าเดิมมาก”

“รัฐบาลเคยจัดให้ชาวเรือขึ้นฝั่งในทศวรรษ 1960 ทำไมท่านไม่ขึ้นฝั่งตั้งแต่แรก?”

“ผมเคยชินกับชีวิตที่อยู่บนทะเล และกลัวว่าขึ้นฝั่งแล้วไม่มีที่ดิน ไม่สามารถเลี้ยงชีพได้”

“อยากขึ้นฝั่งตอนนี้ไหม?”

“ตอนนี้เห็นคนอื่นขึ้นฝั่งแล้วสามารถไปหางานทำ ขายอาหารทะเล มีชีวิตที่ดีขึ้น หากมีโอกาสผมก็อยากขึ้นฝั่ง”

แม้ว่าตอนนั้นยังไม่ถึงฤดูร้อน แต่เนื่องจากพื้นที่ภายในเรือคับแคบ เวลาผ่านไปไม่นานก็ร้อนอบอ้าว “ผมเริ่มเหงื่อออกหลังจากอยู่ในเรือเพียงสิบกว่านาที เสื้อแขนยาวที่ท่านเลขาธิการสีสวมใส่เปียกโชก แต่ท่านยังคงสอบถามต่อจนครบทุกคำถามด้วยความอดทน นั่นไม่ใช่การพูดคุยแบบพิธีรีตองอย่างแน่นอน” หวัง ซ่าวจวี ซึ่งขณะนั้นเป็นบรรณาธิการใหญ่หนังสือพิมพ์หมิ่นตงเดลี ซึ่งร่วมการสำรวจครั้งนี้เล่าย้อนความในภายหลังให้ฟังว่า การสนทนาครั้งนั้นกินเวลาถึงครึ่งชั่วโมง

ต่อมาภายหลัง พ่อของหยาง หย่งสงก็มักจะพูดคุยถึงเรื่องในวันนั้นกับสมาชิกครอบครัว เขาบอกว่าตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้านตั้งแต่ทศวรรษ 1950 แต่ไม่เคยเห็นผู้นำที่ใส่ใจชาวเรือเช่นสี จิ้นผิง

การย้ายชาวเรือขึ้นฝั่งนั้นยากลำบากยิ่งกว่า”โครงการสร้างความสุข” ทั่วไป เพราะนอกจากที่อยู่อาศัยแล้ว ยังต้องแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การศึกษาของบุตรหลาน ที่ดิน น้ำ ไฟฟ้า ถนน เป็นต้น

คณะกรรมการพรรคฯและทางการมณฑลฝูเจี้ยนได้เสนอว่า จะใช้เวลาสามปีในการแก้ไขปัญหาการอพยพชาวเรือขึ้นฝั่งเพื่อตั้งถิ่นฐานเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1998

ช่วงปลายปี 1998 สี จิ้นผิง เป็นประธานการประชุมประเด็นการอพยพชาวเรือขึ้นฝั่ง ณ เมืองฝูอัน มณฑลฝูเจี้ยน เขาเน้นย้ำว่า “หากชาวเรือไม่พอกินพอใช้ ทั้งมณฑลก็จะไม่อยู่ดีกินดี ต้องจัดการเรื่องนี้ให้ดีให้ได้ ต้องให้ชาวเรือทุกคนต่างก็ตามทันก้าวย่างแห่งการหลุดพ้นความจนและการสร้างความมั่งคั่งสู่สังคมพอกินพอใช้ของทั่วทั้งมณฑล สามารถใช้ชีวิตที่สุขสบายได้อย่างแท้จริง ”

หลังการประชุมครั้งนี้ การอพยพชาวเรือขึ้นฝั่งดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ไม่มีที่ดินทำอย่างไร? วิธีแก้คือ สร้างที่ดินสำหรับตั้งถิ่นฐานผ่าน“การถมทะเล” โดยทางการท้องถิ่นจัดหาที่ดินให้ฟรีและยกเว้นภาษีที่ดินและค่าธรรมเนียมต่างๆ

ขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานทำอย่างไร? วิธีแก้คือ รัฐบาลรับผิดชอบใน“การเชื่อมโยงห้าประการ” อันได้แก่ ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา การสื่อสารโทรนาคม และสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์

ไม่มีเงินสร้างบ้านใหม่ทำอย่างไร?วิธีแก้คือ ชาวเรือทุกคนที่ขึ้นฝั่งจะได้รับเงินอุดหนุนการสร้างบ้านในอัตราเดียวกันกับครอบครัวชาวนาทั่วไปที่ย้ายถิ่นฐานตาม “โครงการสร้างความสุข”

ในไม่ช้า บ้านใหม่ก็ถูกสร้างขึ้นทีละหลัง ในที่สุดบรรดาชาวเรือก็มีที่อยู่อาศัยบนฝั่ง

ปี 1999 ครอบครัวของหยาง หย่งสงได้ย้ายไปยังสถานที่ตั้งถิ่นฐานสำหรับชาวเรือในหมู่บ้านเป๋ยโต่ว บ้านใหม่ครอบคลุมพื้นที่ 80 ตารางเมตร โดยทางการท้องถิ่นเป็นผู้ประสานหาที่ดินมาให้ ค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้าน 12,000 หยวน หลังหักเงินอุดหนุนคนละ 1,000 หยวนจากรัฐบาลสำหรับสมาชิก 6 คนในครอบครัว จึงเสียค่าใช้จ่ายจริงเพียง 6,000 หยวนเท่านั้น

แม้เวลาผ่านไปกว่า 20 ปีแล้ว ทว่าหยาง หย่งสงยังคงจำได้แม่นว่าในคืนแรกที่เขาย้ายขึ้นฝั่ง บ้านทุกหลังในหมู่บ้าเปิดไฟสว่างไสว หลายคนนอนไม่หลับทั้งคืน “พลันที่ไม่มีการแกว่งไปแกว่งมาตามคลื่นลม กลับรู้สึกเกิดอาการ’เมาเตียง’เล็กน้อย”

แปลเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน(CMG)

ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่

http://www.tcjapress.com/2023/05/18/xi-way-32