
จีนตั้งข้อสังเกต “หากน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์ ปลอดภัยจริง ญี่ปุ่นไม่มีความจำเป็นต้องปล่อยสู่ทะเล และถ้าไม่ปลอดภัย ยิ่งห้ามดำเนินการเด็ดขาด”
.
หลังจากญี่ปุ่นเริ่มดำเนินการตามแผนปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี-นิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิที่ได้รับความเสียหายอย่างมากจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว-สึนามิครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 หรือ 12 ปีก่อน ลงสู่มหาสมุทร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ยังคงได้รับเสียงต่อต้านจากภายในญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศจีน เนื่องจากมองว่า ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องภายในของญี่ปุ่น แต่การปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทรในครั้งนี้ ส่งผลต่อมนุษยชาติทั่วโลก
.
โดยวันเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำเสียดังกล่าว ทางโฆษกคณะผู้แทนถาวรจีนประจำทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เผยแพร่แถลงการณ์ โดยยืนยันว่าการกระทำของญี่ปุ่นได้ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในแง่ของสุขภาพรวมถึงสิทธิและผลประโยชน์ของสภาพแวดล้อมทางทะเล ซึ่งยังส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของ IAEA อีกด้วย
.
โฆษกคณะผู้แทนถาวรจีนประจำ IAEA ได้นำเสนอเหตุผลสำคัญ คือ นับตั้งแต่การใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติโดยมนุษย์ ไม่มีแบบอย่างสำหรับการปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์โดยฝีมือมนุษย์ลงสู่มหาสมุทร และไม่มีมาตรฐานการกำจัดที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
.
และอย่างยิ่ง ความสมบูรณ์และประสิทธิผลของโปรแกรมการติดตามผลหลังปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทรยังไม่ได้รับการพิสูจน์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็ไม่ได้รับการปรึกษาหารืออย่างเพียงพอ
.
โดยโฆษกคณะผู้แทนถาวรจีนประจำ IAEA ตั้งข้อสังเกตอีกว่า “หากญี่ปุ่นระบุว่า น้ำเสียดังกล่าวมีความปลอดภัย ญี่ปุ่นก็ไม่มีความจำเป็นต้องปล่อยลงทะเลแต่อย่างใด ซึ่งถ้าไม่ปลอดภัย ก็ยิ่งไม่ควรปล่อยลงทะเล มันไม่ยุติธรรมและไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ญี่ปุ่นจะผลักดันแผนปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์ลงสู่ทะเล ซึ่งมหาสมุทรเป็นทรัพย์สินส่วนรวมของมวลมนุษยชาติ”
.
แหล่งข้อมูล: CMG