เหลียวหน้าแลหลัง 10 ปี ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

0
1

ปีนี้ครบรอบ 10 ปี ของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ที่จีนริเริ่มให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างเส้นทางเพื่อเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับประเทศต่างๆ และพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในมิติต่างๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีประเทศ กว่า 150 ประเทศ ทั่วโลก ที่มีส่วนร่วมกับข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง มีโครงการความร่วมมือกว่า 3,000 โครงการ ช่วยขับเคลื่อนการลงทุนมีมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับประเทศไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยและจีนมีความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหลายด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด ให้มุมมองถึงสิ่งที่ไทยได้ประโยชน์จากข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาว่า

ด้านการค้า ในช่วงที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ จากมูลค่าการส่งออกประมาณ 27,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็น 34,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 70 เปอร์เซ็นต์ ตอบโจทย์ BRI ว่า BRI ต้องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจะทำให้สินค้าจีนเข้ามาขายในประเทศต่างๆ สะดวกมากขึ้น รถไฟจีน-ลาว จะเชื่อมต่อรถไฟไทยในอีก 6-7 ปี ยิ่งเป็นตัวเสริมทำให้สินค้าจีนจะเข้ามาในไทยมากขึ้นและสินค้าไทยก็จะส่งออกไปจีนมากขึ้น

การลงทุนโดยตรงจากประเทศจีน (Foreign Direct Investment: FDI) ที่เข้ามาในไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนจากจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีพ.ศ. 2565 มีเงินลงทุนจากจีนคิดเป็นมูลค่าเกือบ 80,000 ล้านบาท แซงหน้าเงินลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของนักลงทุนต่างชาติที่มีเม็ดเงินการลงทุนในไทยสูงสุด

โดยในช่วง 5 ปีแรก ของ BRI ส่วนใหญ่จีนจะลงทุนเรื่องอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยางพารา ล้อรถยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักร ต่อมาในช่วง 5 ปีหลังของ BRI จีนเน้นลงทุนเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยี โดยเฉพาะรถยนต์ รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งไทยน่าจะเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจีน

ด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากที่สุดในปีพ.ศ. 2562 จำนวน 11 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศไทยกว่า 600,000 ล้านบาท และลดลงมาช่วงที่มีสถานการณ์โควิด และปีนี้ ไทยตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 5,000,000 คน

ในภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ไทยพึ่งพาเศรษฐกิจจีนประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีไทย ทั้งภาคการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การบริการ คิดเป็นเม็ดเงินที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางทำให้จีนและไทยมีความร่วมมือระหว่างกันและทำให้ประเทศไทยมีการพัฒนาในหลายด้าน โดยในอนาคต เพื่อให้ทั้งไทยและจีนต่างได้รับประโยชน์ร่วมกัน รองศาสตราจารย์ ดร. อัทธ์ พิศาลวานิช ให้ความเห็นว่า รัฐบาลไทยควรส่งเสริมให้นักธุรกิจไทย ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในจีนเพิ่มขึ้น นอกจากการส่งออก และหวังเห็นการถ่ายทอด know-howบทเรียนความสำเร็จของจีน เช่นนวัตกรรม เทคโนโลยี ให้กับผู้ประกอบการไทย เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการไทย เพื่อให้จีนและไทยประสานร่วมมือและใช้ประโยชน์จากข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของทั้งสองประเทศต่อไป

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย
ภาพ : CGTN