‘การรวมกลุ่มทางการเงิน’ เสริมแรง ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’

0
9

ปักกิ่ง, 15 ต.ค. (ซินหัว) — เมื่อไม่นานนี้ มหานครเซี่ยงไฮ้ของจีนมีการจัดประชุมว่าด้วยการสร้างกรอบความร่วมมือทางการเงินและระบบการเงินในระยะยาวที่มั่นคง ยั่งยืน ควบคุมความเสี่ยงได้ และมีความหลากหลาย เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญของการกระจายทรัพยากรภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road)

การรวมกลุ่มทางการเงิน เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญห้าประการของการพัฒนาความคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ที่ช่วยส่งส่งเสริมภาคเศรษฐกิจจริง นอกเหนือจากการประสานงานด้านนโยบาย การเชื่อมสิ่งอำนวยความสะดวกการค้าที่ไร้อุปสรรค และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน

ทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (China EximBank) ได้ออกเงินกู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นมูลค่ามากกว่า 4 ล้านล้านหยวน (ราว 19.93 ล้านล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งโครงการสำคัญในประเทศและภูมิภาคในโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อนับถึงสิ้นปี 2022 ยอดสินเชื่อในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านหยวน (ราว 10.96 ล้านล้านบาท) โดยมีพันธมิตรมากกว่า 130 รายที่มีส่วนร่วม

การลงทุนในตราสารทุนก็ถือเป็นอีกส่วนสำคัญ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีนได้จัดสรรเงินทุนมากกว่า 2.6 หมื่นล้านหยวน (ราว 1.29 แสนล้านบาท) สำหรับกองทุนความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 8 กองทุน อาทิ กองทุนความร่วมมือการลงทุนจีน-อาเซียน (China-ASEAN Investment Cooperation Fund) และกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน-ยูเรเซียน (China-Eurasian Economic Cooperation Fund) กองทุนเหล่านี้ลงทุนในโครงการมากกว่า 140 โครงการในสาขาสำคัญๆ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม ด้านพลังงาน และด้านโทรคมนาคม

การประกันสินเชื่อเพื่อการส่งออกก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน บริษัท ไชน่า เอ็กซ์พอร์ต แอนด์ เครดิต อินชัวแรนซ์ จำกัด (China Export & Credit Insurance Corporation) หรือซิโนชัวร์ (SINOSURE) ได้ร่วมมือกับหลายธนาคารเพื่อช่วยให้วิสาหกิจได้รับประโยชน์ ทั้งด้านการลงทุน การขายสินค้าโภคภัณฑ์ การค้าบริการจากยานพาหนะ และผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

จูเฉิง รองประธานฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดตัวโครงการนำร่องหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้ในเดือนมีนาคม ปี 2018 และมีการออกพันธบัตรสำหรับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางแล้ว 34 ครั้ง เป็นมูลค่า 3.1 หมื่นล้านหยวน (ราว 1.54 แสนล้านบาท)

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ภายในปี 2030 ความต้องการทางการเงินสำหรับสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่างๆ ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง อาจสูงถึง 6.5 แสนล้านหยวน (ราว 3.24 แสนล้านบาท) และเงินทุนเหล่านี้ไม่สามารถพึ่งพาเพียงแค่ธนาคารได้ ดังนั้น เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและความปลอดภัย รวมถึงป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน จึงจำเป็นต้องขยายช่องทางทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อใช้แหล่งเงินทุนจากนานาชาติและจากภาคเอกชน

(เรียบเรียงโดย Duan Jing, Xinhua Silk Road, https://www.xinhuathai.com/silkroad/391464_20231016 , https://en.imsilkroad.com/p/336314.html)