FIT เสนอนโยบายพัฒนาเด็กไทยมีคุณภาพ หลังพบไอคิวต่ำ

0
259
FIT เสนอนโยบายพัฒนาเด็กไทยมีคุณภาพ หลังพบไอคิวต่ำ

สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (Future Innovative Thailand Institute หรือ FIT)  จัด งานสัมมนา เรื่อง นโยบายการดูแลเด็กปฐมวัยในประเทศไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์ C asean อาคารไซเบอร์เวิลด์ ทาวเวอร์ โดยมี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ  ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย เป็นผู้กล่าวเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ

FIT เสนอนโยบายพัฒนาเด็กไทยมีคุณภาพ หลังพบไอคิวต่ำ

โดยในงานมีผู้ทรงคุณวุฒิ ในแวดวงการเมือง นักวิชาการ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กปฐมวัยในประเทศไทย และบุคคลทั่วไปที่สนใจในเรื่องเด็กปฐมวัย เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก เช่น คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณชวน หลีกภัย คุณกรณ์ จาติกวณิช รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นต้น

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้กล่าวถึง ความสำคัญที่คนไทยจะต้องตระหนักถึงการเพิ่มจำนวนของประชากรผู้สูงอายุร่วมกัน มีการวิจัยพบว่าประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีความหนาแน่นของประชากรผู้สูงอายุ มากถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดและกำลังจะเป็นอัตราที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก นอกจากนั้น ดร.สุรินทร์ ยังเชิญชวนให้คนไทยฉุกคิดถึงความสำคัญของการลงทุนในเด็กปฐมวัยเพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กมีพัฒนาการทุกด้านที่สมวัย แม้เด็กจะเป็นฐานที่เล็กที่สุดของพีระมิดประชากรแต่เด็กจะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของพีระมิด

“สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เราจะต้องมาช่วยกันสร้างให้เด็กเติบโตมีคุณภาพเพื่อแข่งขันในตลาดแรงงานและพร้อมดูแลผู้สูงอายุ การสอนลูกยุคดิจิตอล IQ อย่างเดียวไม่พอที่จะสร้างให้เด็กเป็นอนาคตของชาติได้ ต้องมีความวิริยะ อุตสาหะด้วย” ดร.สุรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ เด็กปฐมวัย คือเด็กตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงอายุ 5 ปี 11 เดือน 29 วัน หรือต่ำกว่า 6 ปี เป็นวัยเริ่มต้นของชีวิตและพัฒนาการในทุกด้าน หากเด็กในวัยนี้ได้รับการดูแลและสร้างเสริมพัฒนาการอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะส่งผลให้เด็กสามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพและสอดคล้องกับช่วงวัย ซึ่งจะเป็นรากฐานที่ดีให้เด็กสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ และจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้อย่างมั่นคงต่อไป

อย่างไรก็ดี คณะผู้วิจัยสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย ได้กล่าวถึงสถิติที่สำคัญ ที่พบว่ามีปัญหา ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ดังนี้

1.เด็กไทยไอคิวต่ำ ไอคิวเฉลี่ยของนักเรียนไทยทั่วประเทศ อยู่ที่ 98.59 ในปี พ.ศ.2554 ซึ่งค่ากลางมาตรฐานสากลจะอยู่ที่ 100 และลดต่ำลงเหลือ93.1 ในปี พ.ศ.2557 โดยพบเด็กไทยมีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ (IQ < 90) สูงถึงร้อยละ 34.9

  1. ประเทศไทยมีการลงทุนกับการศึกษาเด็กปฐมวัยน้อยที่สุด คือ 23,282 บาท/คน/ปี เมื่อเทียบกับช่วงประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ที่มีการลงทุน 37,194 บาท และ 26,332 บาท ตามลำดับ

3.การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน มีจำนวน 23.1% นับว่าต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

4.การสำรวจไอโอดีนในปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์ ปี พ.ศ.2557 พบสัดส่วนของหญิงตั้งครรภ์ที่มีระดับไอโอดีน ในปัสสาวะต่ำกว่ามาตรฐาน คือต่ำกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตร สูงถึง 47.6 ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการพัฒนาสมองและไอคิวของเด็กไทย

5.โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ในปัจจุบันมีเด็กได้รับสิทธิ์เป็นจำนวนเพียง 1 แสนคน คิดเป็น 2 %ของที่จำนวนเด็กปฐมวัยที่ควรได้รับการดูแล

6.สิทธิ์การลาคลอดของประเทศไทย อยู่ที่ 12 สัปดาห์ ขณะที่ประเทศในกลุ่ม OECD อยู่ที่ 50 สัปดาห์ และอัตราเงินที่ได้รับเทียบเท่า ของประเทศไทย คือ 9 สัปดาห์ แต่ประเทศในกลุ่ม OECD อยู่ที่ 30สัปดาห์

7.การประเมินคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่อยู่ในระดับที่ดีและดีมาก มีอยู่จำนวน 40.4. % เท่านั้น

8.มีเด็กเพียงร้อยละ 62 ที่ได้อยู่กับพ่อและแม่ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพ่อแม่ทำงานอยู่คนละจังหวัด 49% และพ่อแม่แยกทางกัน 32% ส่งผลให้มีเด็กที่อยู่กับผู้สูงอายุ 1.4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ

สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย จึงได้เสนอนโยบายสาธารณะ 3 นโยบาย ดังนี้

1.โครงการเงินอุดหนุน ใช้งบประมาณ 4,796,555,214 บาทต่อปี

2.ลาคลอด เพิ่มเป็น 6 เดือน ใช้งบประมาณ 3,220,818,750 บาทต่อปี

3.พัฒนาคุณภาพหลักสูตรสถานศึกษา เพิ่มทักษะการคิดวิเคราะห์ให้กับเด็กปฐมวัยในประเทศไทย ใช้งบประมาณ 15,306,535,000 บาทต่อปี

รวมงบประมาณทั้งหมด 2.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP : ร้อยละ : 0.24 และ สัดส่วนต่องบประมาณ : ร้อยละ 0.86 ซึ่งนับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะเด็กปฐมวัยเป็นวัยเริ่มต้นของชีวิตและพัฒนาการในทุกด้าน หากเด็กในวัยนี้ได้รับการดูแลและสร้างเสริมพัฒนาการอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะส่งผลให้เด็กสามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพและสอดคล้องกับช่วงวัย ซึ่งจะเป็นรากฐานที่ดีให้เด็กสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ และจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้อย่างมั่นคงต่อไป

FIT เสนอนโยบายพัฒนาเด็กไทยมีคุณภาพ หลังพบไอคิวต่ำ