มุมมองผู้เชี่ยวชาญจีนเรื่องการป้องกันควบคุมโควิด-19

0
6

มุมมองผู้เชี่ยวชาญจีนเรื่องการป้องกันควบคุมโควิด-19

​​วันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญจีนประเมินว่า สถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งเริ่มระบาดมาตั้งแต่วันที่ 10 กันยายนกำลังคลี่คลายลง พิสูจน์ได้จากการที่หลายวันมานี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในท้องถิ่นรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียงหลักหน่วยโดยทั้งหมดมาจากผู้ซึ่งอยู่ระหว่างการกักตัวในการควบคุมดูแลอยู่แล้ว

​​ส่วนสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในมณฑลเฮหลงเจียง ซึ่งพบผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา มีความคล้ายคลึงกับมณฑลฝูเจี้ยน เทียบกันแล้วน่าจะเบากว่าฝูเจี้ยนด้วย เพราะมีจำนวนผู้ติดเชื้อในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นไม่มากหลังจากรัฐบาลท้องถิ่นรับมือตามโมเดลจีน ซึ่งก็คือ “เชื้อไวรัสโผล่ที่ไหนก็ตะครุตรงนั้น” ด้วยมาตรการต่าง รวมถึงการล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงสูง เร่งทดสอบกรดนิวคลีอิกหลายรอบเท่าที่จำเป็น โดยมีเป้าหมายตัดห่วงโซ่การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจีนประสบผลสำเร็จมาแล้วไม่ว่าจะเป็นการระบาดระลอกกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง หรือ ระลอกเมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู รวมถึงระลอกเมืองรุ่ยลี่ มณฑลยูนนาน

​​“ฤดูหนาว ปี 2021 นี้ โควิด-19 มีความเป็นไปได้ที่จะกลับมาระบาดอีกครั้งในจีน” นี่คือคำพูดของผู้เชี่ยวชาญบางคนในฟอรั่ม “วิทยาศาสตร์กับชีวิตและสุขภาพแห่งโลก ครั้งที่ 2” ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความกังวลใจแก่ผู้คนไม่น้อย

 

​​โดยเฉพาะในประเด็นนี้ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์จาง โป๋หลี่ แพทย์ชื่อดังและสมาชิกสภาวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศจีน โดยเขากล่าวว่า หากมองจากสถานการณ์ปัจจุบัน ไวรัสเดลต้าเป็นสายพันธุ์ที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดมาก คนหนึ่งสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ไม่กี่คนกระทั่งหลายสิบคนและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วด้วย ในต่างประเทศการระบาดรอบใหม่เริ่มปรากฏให้เห็นในหลายประเทศ บางประเทศอยู่ในระลอกที่ 3 และบางประเทศอยู่ในระลอกที่ 4 แม้ว่าจีนได้ใช้มาตรการป้องกันไวรัสไม่ให้เข้ามาจากต่างประเทศอย่างเข้มงวดแต่ก็ไม่สามารถปิดประเทศได้ทั้งหมด จำนวนคนที่เดินทางกลับจีนนับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย

​​ด้วยเหตุนี้จาง โป๋หลี่จึงเตือนด้วยว่า “การคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวข้างต้นถือว่าถูกต้อง ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวปีนี้ยังคงต้องกวดขันมาตรการป้องกันควบคุมโควิดอย่างเข้มข้น กรณีพบผู้ติดเชื้อในหลายพื้นที่และเกิดการระบาดเฉพาะจุดไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทั้งหมด จำต้องยกระดับการเฝ้าระวัง”

​​สำหรับมาตรการป้องกันจาง โป๋หลี่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า จำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนแม้ผลการป้องกันการติดเชื้อไวรัสของวัคซีนจะลดลงแต่ก็ยังมีประสิทธิภาพมากในการลดอัตราการป่วยร้ายแรงและอัตราการเสียชีวิตซึ่งได้ผลสูงถึง 80-90%”

​​สอดคล้องกับเกา ฝู สมาชิกสภาวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีนและผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งประเทศจีน ที่ให้ความเห็นว่า “วัคซีนให้ภูมิคุ้มกันพื้นฐานสามารถลดภาระจากโรคภัยไข้เจ็บได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ วัคซีนอาจป้องกันการติดเชื้อและการเกิดโรคได้น้อยลงและไม่สามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้ทั้งหมด แต่มีผลชัดเจนในการป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิต ด้วยเหตุนี้ทุกคนต้องมีความมั่นใจในวัคซีน” เกา ฝู เรียกร้องด้วยว่า จำต้องแบ่งปันวัคซีนให้ทั่วโลก “หากไม่แบ่งปันวัคซีนเชื้อไวรัสจะแบ่งปันโลก”

​​ยังมีผู้เชี่ยวชาญจีนให้ความเห็นว่า การสั่งสมการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่องจะเพิ่มกำลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างต่อเนื่องด้วย และในอนาคตโรคโควิด-19 อาจมีแนวโน้ม “คล้ายไข้หวัดใหญ่” ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้วัคซีนซึ่งเป็นวิธีการทางเทคนิคที่ทรงพลังที่สุดในการควบคุมโรคระบาดจะเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งกำลังกลายเป็น “ภาวะปกติ”

​​สำหรับประเด็นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหยิน จุนต้ง ผู้อำนวยการศูนย์วางแผนการสร้างภูมิคุ้มกัน สังกัดศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งประเทศจีน กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกเห็นว่าปัจจุบันหลักฐานในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันยังไม่เพียงพอ ความต้องการและระยะเวลาที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นจะมีการประเมินและกำหนดขึ้นตามหลักฐานจากการเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนทั้งเทคโนโลยีเดียวกัน ต่างเทคโนโลยี รวมทั้งวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ ส่วนฝ่ายสหรัฐฯ เห็นว่าการฉีดวัคซีนเข็มเสริมภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งจำเป็นแต่ความจำเป็นในการฉีดวัคซีนเสริมนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มคน

​​หยิน จุนต้ง กล่าวถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในจีนว่า “การพิจารณาของประเทศเราในการเพิ่มภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้น คือ สำหรับคนเฉพาะกลุ่ม เช่น เจ้าหน้าที่ศุลกากร ด่วนตรวจคนเข้าเมือง การบิน สถานกักตัว และสถาบันทางการแพทย์ที่กำหนดโดยเฉพาะ เป็นต้น ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโควิดจากต่างประเทศ รวมถึงผู้ที่มีระดับภูมิคุ้มกันค่อนข้างต่ำและประชาชนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ตลอดจนกลุ่มคนที่จะเดินทางไปยังพื้นที่หรือประเทศที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากความต้องการในการทำงาน การเรียน และการแลกเปลี่ยน พวกเขาเหล่านี้สามารถฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้หลังผ่านไป 6 เดือนจากการเสร็จสิ้นกระบวนการรับวัคซีนแล้ว” หยิน จุนต้ง กล่าวเสริมว่า ประเด็นจีนจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแก่ประชากรทั้งหมดหรือไม่นั้นยังต้องรอดูผลการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม ต้องตัดสินใจโดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง อย่างครอบคลุมตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

​​ก่อนหน้านี้สถาบันวิจัยนวัตกรรมยารักษาโรคหนานซาน มณฑลกวางตุ้ง ประกาศเมื่อวันที่ 23 กันยายนว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทีมงานของจง หนานซาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญชื่อดัง สมาชิกสภาวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศจีน และผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ระบบทางเดินหายใจแห่งชาติจีน ผู้ได้รับ “อิสริยาภรณ์สาธารณรัฐ” ในพิธีมอบรางวัลแก่ต้นแบบการต่อต้านโควิด-19 เมื่อปี 2020 ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยในหัวข้อ “มาตรการสาธารณะของจีนกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” ซึ่งถือเป็นการรวบรวมอย่างเป็นระบบครั้งแรกในเรื่องกลยุทธ์การบริหารจัดการระหว่างที่จีนเกิดการระบาดของโควิด-19

ผลงานดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ “Clinical Reviews in Allergy and Immunology” ทีมวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ดำเนินการคัดแยก เรียบเรียงและหาข้อสรุปเกี่ยวกับกลยุทธ์และมาตรการในการป้องกันควบคุมที่แตกต่างกันในแต่ละช่วเวลาของสถานการณ์โควิดทั้งระดับชุมชน วิสาหกิจ และส่วนบุคคลในประเทศจีน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดที่มีอัตลักษณ์จีนแก่ทั่วโลก โดยทีมวิจัยมีความเห็นว่า การติดตาม ค้นพบ และควบคุมแหล่งที่มาของไวรัสอย่างรวดเร็ว การดำเนินการควบคุมอย่างแม่นยำและมีพลวัตในพื้นที่ความเสี่ยงสูง การระดมจัดสรรทรัพยากรตามหลักวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ ตลอดจนการดำเนินการคัดกรองด้วยการตรวจกรดนิวคลีอิกแก่ทุกคนในบางพื้นที่ภายใต้สถานการณ์พิเศษนั้นล้วนเป็นสิ่งสำคัญมาก

เขียนเรียบเรียงโดย Lu Yongjiang

เจ้าหน้าที่ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชีย-แอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน