ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทย – จีน กังวลพิษโควิดและหนี้ครัวเรือนสูง

0
8
ผลสำรวจชี้ 54.5%มองจีดีพีปีนี้ติดลบ อีก28.7%คาดโตไม่เกิน 1%
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า หอการค้าไทย-จีน และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ไตรมาส 4/2564 ด้วยการสำรวจความเห็นในรูปแบบออนไลน์ ไปยัง คณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และสมาชิกหอการค้าไทยจีน และประธาน ผู้บริหาร กรรมการสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หอการค้าไทย-จีน จำนวนประมาณมากกว่า 200 คน โดยผู้ตอบแบบสอบถามเหล่านั้น เป็นนักธุรกิจที่มีประสบการณ์ทำธุรกิจมายาวนาน มากกว่า 20-40 ปี เป็นเจ้าของกิจการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของจีน รวมถึงนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล สำหรับแบบสอบถามประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1) ประเด็นเฉพาะกิจ หรือเหตุการณ์ 2) ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ ไทย-จีน 3) ตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจไทย และ 4) ตัวชี้วัดปัจจัยเกื้อหนุน ระหว่างวันที่ 16 – 26 กันยายน 2564 หรือช่วงไตรมาสที่ 3 เพื่อคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 สรุปได้ว่า
ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความกังวลก่อนที่จะผ่านปี 2564 คือ ความกังวลต่อการกลายพันธุ์ของโรค โควิด-19 ที่รุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลต้า ปัจจัยในลำดับต่อมาคือ หนี้สะสมของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน และเสถียรภาพทางด้านการเมือง และอีกสองปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรค โควิด-19 คือ ความสำเร็จของการฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผน และการที่ต่างชาติเฝ้าระวังไทยหากมีการระบาดของโรคเพิ่มสูงขึ้น จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นการสร้างความกังวลทุกครั้งที่มีการสำรวจ ตั้งแต่ไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 4 รวม 4 ครั้ง ในรอบ 12 เดือน
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไทย จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 44.8 คาดว่าเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนโดยรวมของจีนในไตรมาสที่ 4 จะดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ในขณะที่ร้อยละ 24.1 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะทรงๆ ส่วนร้อยละ 25 มีความเห็นว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตช้าลง ซึ่งผลการประเมินดังกล่าวได้สะท้อนถึงการคาดคะเนการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบันกล่าวคือ ร้อยละ 40.1 คาดว่าการส่งออกของไทยไปยังจีนจะเพิ่มขึ้น และ ร้อยละ 31.1 ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน การคาดคะเนการนำเข้านั้น ร้อยละ 45.8 คาดว่าการนำเข้าจากจีนจะเพิ่มสูงขึ้น และร้อยละ 25.5 การนำเข้าจะทรงตัว ส่วนผลของการสอบถามความคิดเห็น ด้านการลงทุนของจีนในไทย พบว่า การคาดคะเนระหว่างการลงทุนจากจีนที่ เพิ่มขึ้น คงเดิม หรือลดลงไม่มีความแตกต่างกัน ระหว่างไตรมาสนี้และไตรมาสหน้า หรือ ไตรมาสแรกของปี 2565
ในส่วนของอุปสรรคการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดจีน ยังพบว่ามีปัญหาในเรื่องของต้นทุนค่าขนส่งทางเรือ ปัญหาของความไม่เพียงพอของการให้บริการทางเรือ การขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบในประเทศไทย ขั้นตอนการนำเข้าสินค้าของจีน และมาตรฐานสินค้าที่จีนบังคับใช้ แต่เป็นที่น่าสนใจว่าการชำระและการโอนเงินค่าสินค้านั้นเป็นอุปสรรคน้อยที่สุด
ด้วยจีนกำลังรณรงค์นโยบายเศรษฐกิจเติบโตที่รอบด้านและเสมอภาค (Common Prosperity) ซึ่งน่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยกำลังฟื้นตัวจาก โควิด-19 จากการคาดการณ์พบว่าร้อยละ 30.2 จีนจะนำเข้าสินค้ามากขึ้นและลงทุนในไทยมากขึ้น ร้อยละ 22.6 ให้ความคิดเห็นในทิศทางตรงกันข้าม ร้อยละ 12.3 คาดว่าไม่มีผลกระทบ จากผลการสำรวจในกรณีนี้คงต้องติดตามผลของนโยบายอย่างใกล้ชิด และทำความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของนโยบายจีน
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวการสำรวจการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของไทยโดยรวม ในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน สรุปได้ว่าร้อยละ 41.5 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ร้อยละ 26.9 จะทรงๆ แต่ร้อยละ 28.8 ไตรมาสที่ 4 จะชะลอตัวลง ทั้งนี้ภาคธุรกิจที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คือธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจโลจิสติกส์ พืชผลการเกษตร เกษตรแปรรูปและบริการสุขภาพ ส่วนธุรกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และพืชผลการเกษตรบางรายการ
การฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ให้มีความยั่งยืนได้นั้น คงต้องเน้นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ จะอาศัยจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนมากๆ เช่น นักท่องเที่ยวจีน 9-10 ล้านคนต่อปี เหมือนกับช่วงก่อนการระบาดโควิด-19 คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจำนวนแรงงานภาคการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งซึ่งเป็นแรงงานส่วนเกินจำเป็นต้องออกจากภาคการท่องเที่ยว จะต้องได้รับการเพิ่มทักษะหรือปรับเปลี่ยนความถนัด (upskills และ reskills) เพื่อโยกย้ายไปสู่ภาคธุรกิจบริการและอุตสาหกรรมอื่นๆ และแรงงานอีกส่วนหนึ่งจะโยกย้ายกลับภูมิลำเนาเพื่อเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมและจะทำอย่างไรให้แรงงานส่วนนี้กลายเป็นเกษตรกรอัจฉริยะ (smart farmer) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไป
สำหรับการคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโต หรือ GDP ของประเทศไทยทั้งปี 2564 ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 54.5 คาดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจติดลบ ส่วนร้อยละ 28.7 คาดว่าอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในช่วงไม่เกิน 1% การคาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบันร้อยละ 44.3 คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์น่าจะปรับตัวดีขึ้น ส่วนร้อยละ 26.9 คาดว่าคงเดิม และร้อยละ 26.4 คาดว่าจะปรับตัวลดลง สำหรับแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ร้อยละ 36.84 คาดว่าเงินบาทจะมีค่าอ่อนลงที่ 32.90-33.65 และ ร้อยละ 7.18 คาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงมาก ในอัตราที่มากกว่า 33 เมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาในไตรมาสหน้า