บทวิเคราะห์ – จีนจัดความปลอดภัยด้านธัญญาหารอยู่อันดับหนึ่ง

0
2

รัฐบาลจีนจัดเรื่องความปลอดภัยด้านธัญญาหารของประชากรจำนวนกว่า 1,400 ล้านคนให้อยู่อันดับหนึ่งมาโดยตลอด การพึ่งพาอาศัยพลังของประเทศตนบรรลุความพอเพียงด้านธัญญาหารเป็นนโยบายในการประกันความปลอดภัยด้านธัญญาหารของรัฐบาลจีน เอกสารหมายเลขหนึ่งประจำปี 2022 ของส่วนกลางจีนเน้นว่า ยึดมั่นในการให้ชามข้าวของจีนอยู่ในมือของชาวจีนเองอย่างมั่นคงตลอดเวลา และให้ชามข้าวของจีนบรรจุธัญญาหารจีนเป็นสำคัญ

ถึงแม้ว่าจีนมีพื้นที่ไร่นาค่อนข้างกว้างใหญ่ก็ตาม แต่พื้นที่ไร่นาเฉลี่ยต่อคนค่อนข้างน้อย จีนมีพื้นที่ที่ราบสูงและเขตภูเขาที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 3,000 เมตรขึ้นไปคิดเป็น 25% ของพื้นที่ทั้งหมดของจีน นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ที่ยากจะใช้ประโยชน์ได้ประมาณ 19% และพื้นที่ตัวเมือง เหมืองแร่ และการคมนาคมคิดเป็น 3.5% เมื่อปี 2021 พื้นที่ไร่นาเฉลี่ยต่อคนของจีนคิดเป็น 0.007 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 1 ใน 4 ของดัชนีพื้นที่ไร่นาเฉลี่ยต่อคนของโลก

ไร่นากำหนดความเป็นความตายของการผลิตธัญญาหาร จีนให้การคุ้มครองไร่นาเหมือนกับการคุ้มครองหมีแพนด้า โดยการคุ้มครองไร่นามิเพียงแต่จะประกันพื้นที่ไร่นาเท่านั้น หากยังต้องรักษาคุณภาพของไร่นาอีกด้วย

จีนประกันการผลิตธัญญาหารให้มั่นคงและมีปริมาณมาก โดยผ่านการพัฒนาไร่นามาตรฐานสูง คำว่า “ไร่นามาตรฐานสูง” หมายถึงไร่นาที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีเครื่องจักรอุปกรณ์ในการทำไร่ไถนาอย่างครบครัน มีระบบนิเวศที่ดี มีความเข้มแข็งในการป้องกันภัย และสอดคล้องกับการผลิตและการดำเนินการด้านการเกษตรที่ทันสมัย ตามแผนการพัฒนาไร่นามาตรฐานสูงทั่วประเทศระหว่างปี 2021-2030 จีนจะพัฒนาไร่นามาตรฐานสูงให้มีถึง 1,000 ล้านโหม่วหรือ 666,666 ล้านตารางเมตรในปีนี้ เพื่อประกันการผลิตธัญญาหารให้มีถึง 500,000 ล้านกิโลกรัมต่อปีอย่างมั่นคง

เพื่อดูแลและคุ้มครองไร่นาให้ดี จีนได้กำหนดขีดเส้นตายพื้นที่ไร่นา อัตราการใช้ปุ๋ยเคมี อัตราการใช้ยาฆ่าแมลง อัตราการใช้ฟิล์มพลาสติก และดัชนีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตธัญญาหารโดยตรง โดยเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นปริมาณการผลิตสูงผ่านการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงมาเป็นการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพด้านการเกษตรผ่านการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

เนื่องจากจีนมีประชากรจำนวนมหาศาลและมีไร่นาค่อนข้างน้อย จีนจึงจัดวางการผลิตธัญญาหารให้อยู่ในตำแหน่งสำคัญมาโดยตลอด โดยอบรมชาวนาและเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่วนท้องถิ่น ปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน และปรับปรุงเทคโนโลยีการเพาะปลูกให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เสริมทักษะในการบริหารทรัพยากรน้ำ ปรับปรุงสภาพการชลประทาน เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตธัญญาหารให้มากยิ่งขึ้น จากสถิติพบว่า ปี 2021 จีนได้ผลิตธัญญาหารถึง 682.85 ล้านตัน โดยเฉลี่ยคนละ 483 กิโลกรัม

เพื่อประกันความปลอดภัยด้านธัญญาหาร จีนให้ความสำคัญในการผลิตข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลืองมากกว่า โดยจัดวางการผลิต การแปรรูป การสำรอง และการหมุนเวียนของพืชผลการเกษตรดังกล่าวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อีกทั้งพัฒนาแถบอุตสาหกรรมการผลิตธัญญาหารเพื่อความปลอดภัยด้านธัญญาหารแห่งชาติด้วย ซึ่งรวมถึงแถบอุตสาหกรรมการผลิตธัญญาหารภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถบอุตสาหกรรมการผลิตธัญญาหารริมทะเลและแม่น้ำเหลืองกับแม่น้ำหวัยเหอ และแถบอุตสาหกรรมการผลิตธัญญาหารลุ่มแม่น้ำฉางเจียงตอนกลางและตอนปลาย เป็นต้น

นอกจากนี้ จีนยังได้สร้างระบบการควบคุมตรวจตราคุณภาพธัญญาหารแห่งชาติขึ้น โดยเผยแพร่มาตรฐานธัญญาหารและน้ำมันคุณภาพดีของจีน เพื่อเปลี่ยนจากการมีอาหารการกินอิ่มตัวให้เป็นการรับประทานอาหารคุณภาพดี

จีนถือว่า เมล็ดพันธุ์ดีเป็นพื้นฐานของความทันสมัยด้านการเกษตร หากว่าไม่มีเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีก็ไม่สามารถบรรลุความทันสมัยด้านการเกษตรได้ เพื่อคุ้มครองทรัพยากรด้านเมล็ดพันธุ์ จีนเร่งพัฒนาคลังเมล็ดพันธุ์ระดับชาติ โดยคลังเมล็ดพันธุ์ระยะยาว สามารถเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถึง 1.5 ล้านต้น ด้านคลังทรัพยากรการประมงทางทะเลแห่งชาติได้เก็บรักษาพันธุ์ชีวภาพทางทะเลถึง 350,000 อย่าง นอกจากนี้ จีนกำลังปรับปรุงคลังพันธุ์จุลินทรีย์ทางการเกษตรแห่งชาติให้ดีขึ้น อีกทั้งวางมือจัดตั้งคลังทรัพยากรพันธุ์สัตว์เลี้ยงและสัตว์ปีกแห่งชาติด้วย

ปัจจุบัน จีนมีอำเภอที่มีความเหนือกว่าด้านการผลิตพันธุ์การเกษตรจำนวน 52 อำเภอ และมีฐานการผสมเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีจำนวน 100 แห่ง ปัจจุบัน ทั่วประเทศจีนใช้เมล็ดพันธุ์จีนคิดเป็น 70% ขึ้นไปของการใช้เมล็ดพันธุ์ทั้งหมด พื้นที่ไร่นามี 95% ขึ้นไปได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่จีนพัฒนาเอง สำหรับการปลูกข้าวเจ้าและข้าวสาลีได้ใช้เมล็ดพันธุ์จีน 100% จึงได้บรรลุเป้าหมายที่ว่า ธัญญาหารจีนผลิตจากเมล็ดพันธุ์จีน

เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 กระทรวงการเกษตรและชนบทจีนได้ประกาศทรัพยากรพันธุ์ดี 10 อย่างทางด้านพืชผล สัตว์เลี้ยงและสัตว์ปีกเลี้ยง และการประมงเป็นต้น ซึ่งรวมถึงข้าวเจ้าจวงหงก้งหมี่มณฑลอันฮุย ข้าวสาลีถิงจื่ออำเภอผูหยางมณฑลเหอหนาน ข้าวโพดไข่มุกเขตกว่างซี ละมั่งพ่าหมี่เอ่อร์เขตซินเจียง แพะสีดำเหลียงซานมณฑลซื่อชวน ไก่อาเค่อมณฑลหยุนหนาน ปลาดาบแม่น้ำฉางเจียง และกุ้งมังกรยักษ์จากทะเลจีนใต้ เป็นต้น

ตามนิยามขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ คำว่า ความปลอดภัยด้านธัญญาหาร หมายถึง การประกันให้ทุกคนสามารถมีเงินซื้ออาหารที่จําเป็นเพียงพอเพื่ออยู่รอดและมีสุขภาพดีได้ตลอดเวลา เนื่องด้วยจีนจัดวางความปลอดภัยด้านธัญญาหารให้อยู่อันดับหนึ่ง จึงใช้ไร่นาคิดเป็นพื้นที่ 9% และทรัพยากรน้ำ 6%ในโลก เลี้ยงประชากรจำนวนเกือบ 1 ใน 5 ของโลกให้ได้

เขียนโดย โจว ซวี่ ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)