“จีน” กับระเบียบโลกใหม่  ไทยจะปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

0
1

“จีน” กับระเบียบโลกใหม่  ไทยจะปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ต่อเนื่องจากบทความตอนที่แล้ว  จากงานสัมมนาเรื่อง “บทบาทจีนกับการจัดระเบียบโลกใหม่” โดยสถาบันจีน-ไทย แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายสีหศักดิ์  พวงเกตุแก้ว  อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ  ดร.อาร์ม  ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชข รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในวงเสวนามีการแลกเปลี่ยนเปลี่ยนมุมมองเรื่องระเบียบโลกใหม่  ประเทศไทยควรวางตัวอย่างไร  เมื่อจีนเป็นมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลกหลายด้าน

รองศาสตราจารย์ ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชข กล่าวถึงหนังสือ The China Wave: Rise of a Civilizational State ที่เขียนโดยศาสตราจารย์จาง เหวยเหวย  ที่กล่าวถึงความเป็น “รัฐอารยะ” ของจีน ว่า  มีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ มีอาณาเขตทางภูมิศาสตร์กว้างขวาง  มีประชากรจำนวนมาก มีประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ยาวนาน และ มีวัฒนธรรมที่รุ่มรวยลุ่มลึก  ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนมี แต่ประเทศอื่นไม่มี และทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลก

ประเทศต่างๆ รวมถึงไทยต้องปรับการรับรู้  เช่นโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) หรือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21  ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิศาสตร์ภูมิภาค โดยเฉพาะในเอเชีย จากที่จีนวาดพื้นที่บริเวณใหม่ขึ้นมา 6-7 บริเวณ คือ แถบที่จะเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ทางบก มี 6 บริเวณ จากชายทะเลตะวันออกของจีนไปถึงรัสเซีย มีเส้นทางที่ผ่านมองโลเลีย ปากีสถาน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังมีเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย ทำให้เกิดการปรับรูปทางภูมิศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ เช่น เส้นทางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีบริเวณหนึ่งที่จีนเรียกว่า ระเบียงเศรษฐกิจจากจีนมายังแหลมอินโดจีนไปสิงคโปร์ จะเป็นลักษณะแนวดิ่งลงใต้ แต่มีรูปสัณฐานเป็นวงรี คือจะมีเส้นทางที่แผ่ไปทั้งสองข้าง เป็นนิคมอุตสาหกรรม  มีทุนจีน วัฒนธรรมจีนไหลบ่าเข้ามา

ดังนั้น ไทยควรการกำหนดมีวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ในการเป็นชาติมหาอำนาจมากขึ้น ในทางปฏิบัติอาจจะเป็นไม่ได้ในหลายมิติ แต่ควรกำหนดไว้ก่อน เพราะอย่างน้อยศักยภาพ ทำเลที่ตั้ง ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจของไทยไม่ได้รั้งท้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ของโลก คือการสิ้นสุดโลกาภิวัฒน์ที่แบ่งโลกเป็น 2 ขั้ว หรือห่วงโซ่เศรษฐกิจ 2 ขั้ว การสิ้นสุดของยุคต้นทุนถูก โลกในเวลานี้เป็นยุคที่เงินเฟ้อ ซึ่งวันนี้ไทยต้องตั้งคำถามใหม่ด้วยว่า ไทยจะอยู่ได้หรือไม่ทั้ง 2 ห่วงโซ่เศรษฐกิจ หรือเชื่อมกับห่วงโซ่ที่ 3 กับประเทศต่างๆ  ไทยจะอยู่อย่างไรในยุคต้นทุนแพง และต้องคิดถึงการกลับมาพึ่งพาพลังลมปราณภายใน พึ่งพากลจักรของเศรษฐกิจภายในประเทศมากกว่าเดิม

นอกจากนี้  ไทยควรจะรักษาสมดุลกับมหาอำนาจอย่างมีศิลปะ  และต้องรักษาสมดุลเชิงรุกในระยะยาว   โดยต้องดูว่ามหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐอเมริกามองไทยอย่างไร    ในยุคที่ภูมิรัฐศาสตร์โลกกลับมาผันผวน การทูตต้องเป็นการทูตเชิงรุกมากขึ้น และต้องมองอย่างมียุทธศาสตร์มากขึ้น  เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ และการเป็นมหาอำนาจของทั้ง 2 ฝ่ายให้สอดคล้องกับประโยชน์ของประเทศไทย

นายสีหศักดิ์  พวงเกตุแก้ว กล่าวว่า ท่ามกลางการแข่งขัน 2 ฝ่ายระหว่างมหาอำนาจ จีนและสหรัฐอเมริกา  ไทยอยากดำเนินนโยบายที่สมดุล  เป็นมิตรกับทั้งสองประเทศ  แต่เรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะประเทศมหาอำนาจต่างต้องการให้ไทยอยู่ข้างเดียวกับเขา ถ้าไทยวางตัวให้ดีก็เป็นอำนาจต่อรองอย่างหนึ่ง  ท่ามกลางการแข่งขัน ต้องทำให้ ประเทศมหาอำนาจเห็นความสำคัญของไทย  เพราะถ้าเขาไม่เห็นความสำคัญ ขณะที่เราบอกเราจะดำเนินนโยบายที่สมดุล เป็นมิตรกับทั้งสองประเทศ เราก็ไม่สามารถเล่นเกมนี้ได้  ในตัวเราเองเราต้องมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค  การต่างประเทศของเราต้องขับเคลื่อนเ  ต้องแสดงพลังทางการทูตของประเทศไทย และเมื่อนั้นไทยจะใช้สถานการณ์ที่ประเทศมหาอำนาจแข่งขันกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของเราได้

อ่านบทความ “จีน” กับระเบียบโลกใหม่ ตอนที่ 1 ที่