ถอดบทเรียนการแก้จน ด้วยนโยบายควบคุมการทุจริตของรัฐบาล สี จิ้นผิง

0
1

คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา จัดสัมมนาเรื่อง “ต้นแบบการแก้จน ด้วยนโยบายควบคุมการคอร์รัปชันของรัฐบาล สี จิ้นผิง” โดยเชิญนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย ร่วมปาฐกถา

นายหาน จื้อเฉียง กล่าวว่า ประเทศจีนได้รับชัยชนะอย่างรอบด้านในการต่อสู้กับความยากจนในช่วงเวลาสำคัญของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนครบรอบ 100 ปี ทำให้คนยากจนในชนบทกว่า 98.99 ล้านคน หลุดพ้นความยากจน และประเทศจีนสามารถแก้ปัญหาความยากจนตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติปี 2030 ได้สำเร็จก่อนเป็นเวลาถึง 10 ปี และมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนของโลก

ความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนของจีน ต้องอาศัยความพยายามและการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า “เราต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของการกำกับดูแลพรรคที่รอบด้านและเข้มงวดในทุกขั้นตอนของกระบวนการแก้ปัญหาความยากจน มีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการแก้ปัญหาความยากจนเป็นไปอย่างมั่นคง และผลลัพธ์ของการแก้ปัญหาความยากจนมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง”

ในการแก้ปัญหาความยากจน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มแข็ง ซึ่งงานแก้จนจะต้องทำด้วยความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่และมีมาตรฐานสูง งานแก้จนยังมีความท้าทาย เพราะมีพื้นที่ที่ต้องแก้ปัญหาความยากจนในระดับอำเภอถึง 832 แห่ง  และด้วยงานแก้จนจะต้องใช้เงินทุนและมีโครงการจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงต่อการทุจริต

ในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปีค.ศ.2015-2020 รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของจีนลงทุนเกือบ 1.6 ล้านล้านหยวน ในกองทุนพิเศษเพื่อแก้ปัญหาความยากจน และออกเงินกู้จำนวน 9.2 ล้านล้านหยวนเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่เป้าหมาย มีการปรับปรุงถนนเป็นระยะทาง 1.1 ล้านกิโลเมตร สร้างเส้นทางรถไฟระยะทาง 35,000 กิโลเมตร และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการชลประทาน โครงข่ายกระแสไฟฟ้า โครงข่ายสื่อสาร

งบประมาณจำนวนมากในการทำโครงการแก้จนมีความเสี่ยงต่อการทุจริตและประพฤติมิชอบ รัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงดำเนินการสร้างยุทธศาสตร์ธรรมาภิบาลที่ดีควบคู่กับการแก้ปัญหาความยากจน

โดยระบบการทำงานการต่อต้านการทุจริตเพื่อแก้ปัญหาความยากจน มีมาตรการ 6 ประการ ที่เป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก ภาครัฐและภาคสังคม เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1.กำกับดูแลภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีการวางกฎระเบียบเรื่องการตรวจสอบ มีการกำกับดูแล ตรวจราชการเป็นประจำ 2. กำกับดูแลอย่างเป็นประชาธิปไตย ตามหลักการประชาธิปไตยแบบจีน มีระบบปรึกษาหารือภายในที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศจีน 3.มีการหมุนเวียนการตรวจสอบประจำปี โดยคณะกรรมการแก้ปัญหาความยากจน จะทำหน้าที่ตรวจสอบการแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาลท้องถิ่นประจำปี 4.กำกับดูแลจากสำนักงานตรวจสอบแห่งชาติ 5.กำกับดูแลจากหน่วยงานต้นสังกัดโดยตรง 6. กำกับดูแลจากสังคมและประชาชน โดยรัฐบาลจีนเปิดสายด่วน 12317 เพื่อรับเรื่องร้องเรียนเรื่องการทุจริตของเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ ยังมีการบริหารงานเพื่อแก้ปัญหาทุจริตในด้านการแก้จนเป็นพิเศษเป็นเวลา 3 ปี ในปีค.ศ. 2018 – 2020 มีการจัดการปัญหา 280,000 ปัญหา จัดการกับคนที่มีพฤติกรรมทุจริตและประพฤติมิชอบ 180,000 คน  โดยปัญหาที่พบมีทั้งการทุจริต การติดสินบน การใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย การทำงานแบบฉาบฉวย หละหลวม ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่เข้มและไม่จริง ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีพฤติกรรมไม่ถูกต้อง ทำงานแบบผักชีโรยหน้า หลุดพ้นความยากจนแบบปลอม  เป็นต้น

กุญแจแห่งความสำเร็จในการต่อต้านการทุจริตเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ที่นายหาน จื้อเฉียงสรุป คือ การบริหารงานเพื่อแก้ปัญหาทุจริตในด้านการแก้จนต้องครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกภาคส่วน ไม่มีละเว้นทุกรูปแบบ และส่งเสริมการทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลทุกระดับ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ภาพ : สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย