ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งกับการสร้างเส้นทางสายไหมสีเขียว

0
1

ในการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวถึงการเดินหน้าโครงการข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางในทศวรรษต่อไป โดยย้ำชัดถึงแนวทางหนึ่งที่จีนให้ความสำคัญมาโดยตลอด นั่นคือ การพัฒนาสีเขียว

แนวคิดการพัฒนาสีเขียว เป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศจีน และจีนยังใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาในระดับโลก เมื่อย้อนไปถึงอารยธรรมจีนเมื่อหลายพันปีก่อน จีนมีหลักคิดสำคัญเรื่องของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน จนมาถึงการขับเคลื่อนจีนในยุคใหม่ จีนยังย้ำแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กับการปกป้องทรัพยากร ดังคำล่าวที่ว่า “น้ำทะเลและภูเขาเขียวขจีเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้”

โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนส่งเสริมให้มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว การลงทุนสีเขียว และการจัดหาเงินทุนสีเขียว เพื่อสร้างเส้นทางสายไหมสีเขียวเพื่อโลกที่สะอาดและสวยงาม เช่น ที่ประเทศเคนยา มีโครงการสร้างทางรถไฟ Mombasa-Nairobi Standard Gauge ระยะทางประมาณ 580 กิโลเมตร เชื่อมเมืองไนโรบีกับเมืองมอมบาซา ของเคนยา เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าหลายพื้นที่ ผู้รับผิดชอบการออกแบบและก่อสร้างทางรถไฟได้ออกแบบให้มีทางเดินสำหรับสัตว์ป่าขนาดใหญ่ 14 แห่ง และสะพานอีกกว่า 80 แห่งที่มีความสูงกว่า 6.50 เมตร เพื่อให้สัตว์ขนาดใหญ่ อย่างยีราฟ ช้าง สามารถผ่านได้ อีกตัวอย่างคือ

ที่ประเทศปากีสถาน มีการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เช่น การพัฒนาโซลาร์ฟาร์ม เพื่อปลูกผักและผลไม้ในจังหวัดปัญจาบของปากีสถาน เพื่อเพิ่มแหล่งอาหาร พัฒนาคุณชีวิตของคนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ที่ประเทศเซเนกัล จีนส่งเสริมโครงการบําบัดน้ำเสียของดาการ์ เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำในพื้นที่โดยรอบและรวมถึงส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมตามแนวชายหาด

ที่ประเทศกานา มีการโครงการโรงไฟฟ้า Sunon Asogli ด้วยการสนับสนุนจากจีน ทำให้รองรับความต้องการไฟฟ้าได้ถึง 1 ใน 4 ของการใช้ไฟฟ้าในกานา ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดและพลังงานสีเขียว

ที่ประเทศคาซัคสถาน จีนยังส่งเสริมโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกหลายโครงการ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม Zhanatas และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Turgusun ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำของประเทศ

จีนยังได้ส่งเสริมเรื่องการพัฒนาพลังงานสีเขียวกับประเทศต่างๆกว่า 100 ประเทศ มีการลงนามความร่วมมือกว่า 50 ฉบับ เกี่ยวกับการดูแลระบบนิเวศทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวข้อริเริ่มความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อการพัฒนาสีเขียวกับประเทศต่างๆ 31 ประเทศ รวมถึงได้นำแนวคิดเรื่องการพัฒนาสีเขียวไปสู่การขยายความร่วมมือในระดับต่างๆ ให้เป็นวงกว้างยิ่งขึ้น ด้วยเล็งเห็นแล้วว่า นี่คือ แนวทางในการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย