ถอดบทเรียน : ปักกิ่งจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างไร

0
1

กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เคยเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 ปกคลุมเมือง จากการพัฒนาเมืองในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีการใช้ถ่านหินมากขึ้น การใช้รถยนต์ในเมืองมากขึ้นทำให้มีฝุ่น PM2.5 จากการปล่อยสารพิษจากท่อไอเสียรถยนต์จำนวนมาก  นอกจากนี้ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ยังมีพายุทรายจากทะเลทรายมองโกเลียพัดผ่าน ทำให้สภาพอากาศยิ่งเลวร้ายลง

รัฐบาลจีนจึงมีนโยบายในการต่อสู้กับวิกฤตมลพิษทางอากาศหลายมาตรการ โดยมีแผนยุทธศาสตร์ในระดับประเทศและระดับเมืองที่ให้ความสำคัญกับการสร้างการติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมโดยเน้นการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษ  

กรุงปักกิ่งเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบระบบการขนส่ง โดยการส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะด้วยการสร้างเครือข่ายขนส่งสาธารณะระบบราง นอกจากนี้ในปี 2559 มีการสร้างระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศแบบบูรณาการด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ระบบการตรวจจับมลพิษระยะไกลด้วยดาวเทียมความละเอียดสูง และติดตั้งเซ็นเซอร์กว่า 1,000 จุดทั่วเมืองปักกิ่ง ที่ช่วยระบุพื้นที่และเวลาที่มีการปล่อยมลพิษสูงอย่างแม่นยํา

นอกจากนี้ยังมีการออกแบบเมือง ส่งเสริมให้ชาวเมืองใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ส่งเสริมการใช้จักรยานและยานยนต์ไฟฟ้า และมีมาตราการควบคุมการใช้รถยนต์หลายมาตรการเช่น การกำหนดเขตการปล่อยมลพิษต่ำ (LEZs) โดยกำหนดเงื่อนไขให้รถที่จะเข้าเขตนี้ ต้องเป็นรถที่มีค่าการปล่อยมลพิษต่ำ รถยนต์พลังงานใหม่ เป็นต้น มาตรการดังกล่าวทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในสร้างการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต้องพัฒนารถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังกระตุ้นให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมลดมลพิษด้วย

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการหลายด้าน เช่น การลดการใช้ถ่านหินโดยการปิดโรงงานอุตสาหกรรมและปรับปรุงระบบทําความ การปรับปรุงรถโดยสารสาธารณะให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และโครงการปลูกป่าทางตอนเหนือของจีน ที่ช่วยลดความรุนแรงของพายุทราย  

ความพยายามในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่กรุงปักกิ่งเท่านั้น แต่ยังมีการเชื่อมโยงการทำงานกับพื้นที่โดยรอบ เช่นปักกิ่ง – เทียนจิน – เหอเป่ย์ การวางแผนและขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันแบบครบวงจร ทำให้ในช่วงค.ศ. 2013-2017 มลพิษจากฝุ่น PM2.5 ลดลงกว่าร้อยละ 25

นี่เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของรัฐบาลจีน ที่มีการกำหนดให้เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ และทางการปักกิ่งได้มีการนโยบายในการจัดการปัญหาหลายแนวทาง ความสำเร็จในการจัดการปัญหาคุณภาพอากาศของปักกิ่ง จึงเป็นตัวอย่างให้กับเมืองอื่นๆ ในการออกแบบเมือง และเปลี่ยนวิถีของคนเมือง เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับชาวเมือง และสร้างเมืองที่เติบโตอย่างยั่งยืน

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย