ติดตามการส่งทุเรียนจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน

0
0

ทุเรียน เป็นผลไม้ที่นิยมอย่างมากในประเทศจีน และประเทศไทยก็เป็นประเทศผู้ส่งออกทุเรียนรายสำคัญของโลก ​แล้วส่งทุเรียนจากไทยไปยังประเทศจีนกันอย่างไร? ​นักข่าวจากพีเพิลเดลี่ ใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ เดินทางข้ามพรมแดนไปยังประเทศไทย ประเทศลาว และประเทศจีน เพื่อติดตามขั้นตอนการขนส่งทุเรียนตั้งแต่ต้นทางเป็นระยะทางกว่า 4700 กิโลเมตร

​วันที่ 17 กันยายน 2566 ทุเรียนล็อตแรกถูกเก็บมาจากสวนทุเรียนที่จังหวัดชุมพรประเทศไทย

วันที่ 18 กันยายน 2566 ทุเรียนได้ออกจากโรงงานในประเทศไทยโดยบรรทุกใส่ในตู้คอนเทนเนอร์

วันที่ 21 กันยายน 2566 เวลา 08:00 น. ออกเดินทางจากกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว

วันที่ 21 กันยายน 2566 เวลา 14:00 น. เดินทางเข้าสู่ด่านรถไฟโม่ฮานในประเทศจีน

วันที่ 22 กันยายน 2566 เวลา 08:00 น. ถึงเมืองคุนหมิง ต่อมาเวลา 12:00 น. ออกเดินทางจากเมืองคุนหมิง และถึงกรุงปักกิ่งในวันที่ 24 กันยายน 2566 เวลา 11:00 น.

****************************

เวลา: วันที่ 17 กันยายน 2566
สถานที่ : สวนทุเรียน จังหวัดชุมพร ประเทศไทย

​คุณวิชัยยืนอยู่บนต้นทุเรียนที่มีความสูงกว่าสิบเมตร ใช้มีดเฉือนกิ่งที่ติดกับทุเรียนออก ทุเรียนที่มีน้ำหนักหลายกิโลกรัมร่วมหล่นลงมาจากต้นทุเรียน
“ต้นทุเรียนหนึ่งต้นจะได้ผลทุเรียนตั้งแต่ 50 – 100 ลูก สวนของเรามีต้นทุเรียนกว่า 200 ต้น รายได้ของเราค่อนข้างดีพอสมควร” ชัยวัฒน์เจ้าของสวนทุเรียน อำเภอสวี จังหวัดชุมพรกล่าว

​สวนของบ้านคุณชัยวัฒน์อยู่ในพื้นที่ราบระหว่างภูเขา “ผมเซ็นสัญญาเหมาสวนทุเรียนให้กับพ่อค้าชาวจีนครับ ทำแบบนี้ทำให้เราได้ราคาค่อนข้างมั่นคง และชำระเงินค่อนข้างตรงเวลา เราไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องการขายเลยครับ” คุณชัยวัฒน์กล่าว “การที่ทุเรียนไทยเป็นที่นิยมอย่างมากในจีน มันทำให้เรามีความสุขมากครับ”

​จังหวัดชุมพรตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย มีระยะทางห่างจากจังหวัดกรุงเทพฯ 400 กิโลเมตร เป็นพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เวลา: วันที่ 18 กันยายน 2566
สถานที่: โรงงานคัดส่งทุเรียน จังหวัดชุมพร

จางป๋อหลุนผู้ซื้อตรงจาก JD.COM ผ่าทุเรียนที่เพิ่งตัดออกมาจากต้น แล้วกำชับ คุณชัยวัฒน์ว่าจะต้องรอให้ทุเรียนสุกในระดับ 85% ก่อนค่อยเก็บ
JD.COM ได้จัดตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญและผู้ซื้อจำนวน 20 คนมาประจำการเพื่อตรวจสอบคุณภาพในประเทศไทย เพื่อคัดเลือกผลผลิตที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภค

คุณชัยวัฒน์และครอบครัวขับรถกระบะไปยังโรงงานคัดส่งทุเรียนที่ตั้งอยู่ในอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ทางโรงงานสามารถส่งออกทุเรียนจำนวน 80 ตันต่อคืน ในหนึ่งวันคนเก็บทุเรียนจะมีรายได้ประมาณหลาย 1000 บาท ส่วนคนบรรทุกจะได้วันละ 700 บาท คนคัดจะได้วันละ 1500 บาท

“คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการคัดแยกทุเรียนและการแปรรูปนั้นต้องอาศัยประสบการณ์เป็นหลัก แต่ทางโรงงานของเรานั้นจะเน้นย้ำเรื่องของมาตรฐานมากกว่า เพื่อรับประกันคุณภาพของทุเรียน” คุณตี๋ผู้จัดการโรงงานคัดส่งทุเรียนกล่าว
เวลา: วันที่ 21 กันยายน 2566
สถานที่ : จุดขนถ่ายสินค้าสถานีเวียงจันทน์ใต้ ประเทศลาว

นักข่าวเดินทางมาถึงจุดขนถ่ายสินค้าสถานีเวียงจันทน์ใต้ประเทศลาว “เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว จุดขนถ่ายสินค้าสถานีเวียงจันทน์ใต้ที่อยู่ห่างจากชายแดนไทย-ลาว 4 กิโลเมตรก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ โดยสามารถขนส่งสินค้าได้มากถึง 800,000 ตันต่อปี” ซ่งจงปอรองผู้อำนวยการฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานบริษัท Laos China Railway Company Limited กล่าว

ปัจจุบันจุดขนถ่ายสินค้าสถานีเวียงจันทน์ใต้เป็นการขนส่งสินค้าระบบรางที่ใหญ่ที่สุด มีลูกค้าจำนวนมากใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ทำการขนส่งสินค้ามายังจุดขนถ่ายสินค้าสถานีเวียงจันทน์ใต้ เพื่อเปลี่ยนถ่ายสู่ขบวนรถไฟแล้วส่งสินค้ามายังประเทศจีน

เจ้าหน้าที่ของจุดขนถ่ายสินค้าสถานีเวียงจันทน์ใต้กล่าวว่า การขนส่งผลไม้ต้องมีความตรงต่อเวลาสูงมาก ซึ่งระยะเวลาการเก็บรักษาความสดของทุเรียนที่ดีที่สุดคือ 12 วันหลังจากที่เก็บมาจากต้น

​นายสอนไซ สีพันดอ นายกรัฐมนตรีลาว กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับนักข่าวว่า การรถไฟลาว – จีนได้กลายเป็นวิธีการขนส่งที่ทันสมัยที่สุดสำหรับประเทศลาว และยังเป็นการเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของลาวให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วอีกด้วย

เวลา: วันที่ 21 กันยายน 2566
สถานที่ : ด่านรถไฟโม่ฮานเมืองคุนหมิง ประเทศจีน

วันที่ 21 กันยายน เวลา 14:00 น. ณ อุโมงค์มิตรภาพรถไฟจีน – ลาว เราเห็นรถไฟขนส่งห่วงโซ่ความเย็นค่อย ๆ เคลื่อนตัวออก เข้าสู่ด่านรถไฟโม่ฮาน
นายตรวจของด่านรถไฟโม่ฮานรออยู่ด้านข้างทางขึ้นรถไฟ เพื่อตรวจสอบหนังสือเดินทาง ตรวจสอบขบวนรถ ด่านรถไฟโม่ฮานเป็นเป็นสถานีรถไฟสถานีแรกหลังจากที่ขบวนรถไฟจีน – ลาวเดินทางเข้าสู่พรมแดนของประเทศจีน

“ปัจจุบันการผ่านด่านศุลกากรสำหรับรถไฟบรรทุกสินค้าทางรถไฟจีน-ลาวโดยทั่วไปใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที” หลี่ปิงเจ้าหน้าที่ประจำด่านรถไฟโม่ฮาน กล่าว

นักข่าวเห็นบนลานตรวจสอบผลไม้สดก็เห็นว่า มันมีการแบ่งพื้นที่การใช้งานออกเป็นพื้นที่ตรวจสอบผลไม้นำเข้า พื้นที่สำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูป พื้นที่ห้องเย็นเก็บผลไม้ พื้นที่เทคนิคพิเศษและพื้นที่อื่น ๆ อุณหภูมิภายในอาคารในพื้นที่ตรวจสอบสามารถปรับได้ตามประเภทผลไม้

หลังจากการตรวจสอบ ทุเรียนล็อตนี้ถือว่าผ่านเกณฑ์ และอนุญาตปล่อยออกได้

“เราใช้รูปแบบการตรวจสอบและปล่อยออกทันที เพื่อรับประกันว่าพิธีการทางศุลกากรสำหรับการนำเข้าผลไม้จะไม่ล่าช้า” ฮานปินผู้อำนวยการกรมศุลกากรเหมิ่งล่ากล่าว

เวลา : วันที่ 22 กันยายน 2566
สถานที่ : สถานีรถไฟหวังเจียอิ๋งซี นครคุนหมิง ประเทศจีน

วันที่ 22 กันยายน 2566 เวลา 08:00 น. หลังจากผ่านการเดินทางตลอดทั้งคืน ขบวนรถก็มาถึงสถานีรถไฟหวังเจียอิ๋งซีเมืองคุนหมิง จากนั้นก็ถูกลากไปสถานีตู้คอนเทนเนอร์รถไฟศูนย์คุนหมิง

หลังผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง ตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรทุกทุเรียนก็ขนย้ายออกจากสถานี

อี้เฉียงผู้อำนวยการแผนกห้องเย็นโลจิสติกส์ของบริษัท China Railway Special กล่าวว่า เราสามารถตรวจสอบและควบคุมจากระยะไกลได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบสถานะของสินค้าได้แบบเรียลไทม์
เวลา 09:15 น. “เปลี่ยนถ่าย” ไปยังรถบรรทุกขนส่งสินค้าเย็นมุ่งหน้าสู่ปักกิ่ง
หวังย่งคนขับรถวัย 47 ปี ชาวเมืองคุนหมิง ขับรถส่งสินค้าห้องเย็นมากว่า 10 ปี เขากล่าวว่า การขับรถขนส่งประเภทนี้ จำเป็นจะต้องระวังและใส่ใจเรื่องอุณหภูมิเป็นพิเศษ

เวลา 12:06 นาที หวังย่งก็ขับรถบรรทุกทุเรียนเดินทางมาถึงกรุงปักกิ่ง

เวลา: วันที่ 24 กันยายน
สถานที่: คลังสินค้าอาหารสด เขตทงโจว กรุงปักกิ่ง

วันที่ 24 กันยายน 2566 เวลา 11:15 น. ผ่านการเดินทางมากว่า 48 ชั่วโมง หวังย่งก็ขับรถมาถึงคลังสินค้าอาหารสดหมายเลข 2 ในเขตทงโจว กรุงปักกิ่ง
ห่าวเป่ยเป่ยผู้ดูแลคลังสินค้าอาหารสดพานักข่าวมายัง “ห้องเก็บทุเรียน” อุณหภูมิในบริเวณนี้มีการควบคุมให้อยู่ที่ 5-15 องศาอย่างเข้มงวด
เมื่อมีลูกค้าสั่งซื้อสินค้าเข้ามา เจ้าหน้าที่ของทาง JD.COM จะใช้รถขนส่งขนาดเล็กบรรทุกทุเรียนเข้าสู่กระบวนการการตรวจสอบลงบันทึก หากผ่านมาตรฐาน ถึงจะส่งออกจากคลังสินค้าไปได้

เวลา: วันที่ 25 กันยายน 2566
สถานที่: บ้านของผู้บริโภคชาวจีนในเขตไห่เตี้ยน กรุงปักกิ่ง

วันที่ 25 กันยายน 2566 เวลา 13:00 น. ทุเรียนถูกส่งไปยังกดังคัดแยกของ JD.com ในเขตต้าซิง กรุงปักกิ่ง

หลังผ่านไป 2 ชั่วโมง ที่สถานีขนส่งแห่งหนึ่งในเขตไห่เตี้ยน เจ้าหน้าที่จัดส่งของ JD.com ก็ได้รับกล่องทุเรียนจากสายพานลำเลียง ไม่นานนัก ผู้บริโภคก็ได้รับกล่องพัสดุ

จางเหิงทำงานเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟจีน-ลาวตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2565 เขาเข้าร่วมในพิธีเปิดทางรถไฟจีน-ลาวที่นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564

​“ผมรู้สึกว่าทุกอย่างที่ทุ่มเทไปมันคุ้มค่าครับ” จางเฟิงพูดพร้อมกับกินทุเรียนไปด้วย

(บทความโดยนักข่าวพีเพิลเดลี่: ซุนกว่างย่ง หยางอี สวีเหล่ย หยางอีเฟิง เฉินเจิ้นไข่ เผิงสวินเหวิน หลิวเส้าฮวา หลีเจิน เยี่ยจื่อ)