ส่องเทรนด์การอ่านของนักอ่านชาวจีนรุ่นใหม่

0
1

Global Times Institute และ China Literature เผยแพร่รายงานการอ่านดิจิทัลของคนรุ่นใหม่Generation Z (ผู้ที่เกิดหลังปี 1995) โดยรายงานระบุว่า คนรุ่นใหม่สนใจอ่านวรรณกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้น เช่น แพลตฟอร์มวรรณกรรมออนไลน์ อย่าง QQ Reading และ Qidian มีผู้อ่าน Gen Z คิดเป็น 43% ของผู้สมัครใช้งานแพลตฟอร์มในปี 2023 และอ่านหนังสือเฉลี่ย 28 เล่มต่อปี

Zhang Yiwu นักวิชาการด้านภาษาและวรรณคดีจีน มหาวิทยาลัยปักกิ่งให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Global Times ว่า คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มการอ่านออนไลน์ได้ง่ายและยังมีวรรณกรรมออนไลน์หลากหลายให้เลือกอ่าน ดังนั้น ผู้อ่าน Gen Z จึงอ่านหนังสือไม่น้อยกว่าแต่ก่อน

การสํารวจการอ่านแห่งชาติครั้งที่ 20 โดย Chinese Academy of Press and Publication เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2023 ทำให้เห็นแนวโน้มของการอ่านดิจิทัลของชาวจีน ที่การอ่านดิจิทัลเข้าถึงประชากรจีนมากขึ้น และผู้คนใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่ออ่านมากขึ้น โดยรายงานนี้ระบุว่าในปี 2022 ชาวจีนมากกว่า 80% ที่อ่านอออนไลน์ เพิ่มขึ้น 0.5% โดยชาวจีนอ่านหนังสือกระดาษโดยเฉลี่ย 4.78 เล่มและอ่านอีบุ๊กโดยเฉลี่ย 3.33 เล่ม

การสำรวจยังพบว่า กลุ่มคนเจน Z อ่านหนังสือเฉลี่ย 28 เล่มตลอดทั้งปี โดยมีเวลาอ่านเฉลี่ย 83 นาทีต่อวัน ช่วงเวลาที่มีการอ่านสูงสุดคือ 23.00 น. 22.00 น. และ 12.00 น. และมณฑลที่มีผู้อ่านเจน Z มากที่สุดได้แก่กวางตุ้ง เจียงซู เจ้อเจียง เหอหนาน และซานตง

ส่วนหนังสือที่คนรุ่นใหม่อ่านมากที่สุด ได้แก่วรรณกรรมคลาสสิก ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา และปรัชญา นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ยังชอบอ่านวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์มากขึ้นด้วย เช่นความนิยมละครโทรทัศน์เรื่อง The Knockout ทำให้หนังสือ The Art of War ของซุนวูที่กล่าวถึงในรายการขายดีเป็นอันดับต้นๆ บนแพลตฟอร์ม QQ Reading หรือระหว่างการฉายซีรีส์ยอดฮิตของ Lost You Forever และ Blossoms Shanghai ก็ทำให้มียอดอ่านนวนิยายต้นฉบับเพิ่มขึ้นหลายเท่าด้วย

นอกจากนี้ การฟังหนังสือเสียงยังเป็นอีกวิธีหนึ่งสําหรับคนรุ่นใหม่จํานวนมาก โดยในปี 2023 กลุ่มตัวอย่างใช้เวลาเฉลี่ย 115 นาที ในการฟังหนังสือเสียงทุกวัน เมืองที่มีผู้คนชอบฟังหนังสือเสียงมากที่สุด 5 เมือง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู กวางโจว ฉงชิ่ง และเซินเจิ้น

Wei Yushan ประธาน Chinese Academy of Press and Publication กล่าวว่าความนิยมที่เพิ่มขึ้นของเทรนด์การอ่านใหม่ๆ ทั้งการอ่านอิเล็กทรอนิกส์ และหนังสือเสียง นอกจากจะช่วยส่งเสริมการอ่านแล้ว ยังช่วยลดช่องว่างของข้อมูลระหว่างผู้อยู่ในเมืองและชนบท ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้ นโยบายต่างๆ ของประเทศได้อย่างรวดเร็ว

แม้จะมีจำนวนผู้อ่านผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น แต่ในการประชุมเรื่องการอ่านระดับชาติมีการเสนอให้มีการส่งเสริมการอ่านหนังสือกระดาษให้มากขึ้น  โดยขอให้มีการส่งเสริมสิทธิการอ่านที่เท่าเทียมกันและสร้างสภาพแวดล้อมการอ่านที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง  อย่างมีการจัดทำห้องสมุดเพิ่มขึ้นทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมการอ่าน เพราะด้วยความเชื่อว่าหนังสือและร้านหนังสือยังคงมีความสําคัญต่อการพัฒนาทักษะ และเป็นพื้นที่สาธารณะที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างดี

บทความ : ประวีณม้ย บ่ายคล้อย

อ้างอิง : Global Times

ภาพ : CGTN