ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ศักยภาพและโอกาสเจาะตลาดแดนมังกร

0
369

การเสวนาโต๊ะกลม “ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ศักยภาพและโอกาสเจาะตลาดแดนมังกร” จัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ วันพุธที่ 29 มีนาคม 2560 ณ ห้องแก้ววิเชียร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โดยการเสวนาในงานมีนักวิชาการ นักธุรกิจ มาร่วมวิเคราะห์ข้อมูล ศักยภาพ และความน่าสนใจของตลาดจีน ให้กับสื่อมวลชน และ ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย ได้รับทราบถึงโอกาสปัญหา อุปสรรค และแนวทางในการแก้ไขปัญหาในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน โดยภายในงานมีการกล่าวปาฐกถาพิเศษจาก นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และ มีการเสวนาโต๊ะกลมโดย ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นายชาตรี  เวทสรณสุธี  ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการและร่วมลงทุน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย นายสุจินต์ พิทักษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กลุ่มเซรามิก อาจารย์ธารากร วุฒิสถิรกุล เลขาธิการสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านเศรษฐกิจและการค้า อาเซียน  โดยมี นายภูวนารถ ณ สงขลา อุปนายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวปาฐกถา โดยย้ำถึงความสำคัญของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี โดยมองว่า การติดปีกธุรกิจเอสเอ็มอีไปต่างแดน อีก2ปีข้างหน้าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีคือหน่วยที่มีการจ้างงานเป็นหลักของชาติ  ธุรกิจเอสเอ็มเองจะต้องใช้ภาษาที่สองที่สามได้  เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยจะสนับสนุนค้ำยันทั้งด้านเงินทุนและความรู้

ด้าน ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้เปิดเผยถึงภาพรวมของเศรษฐกิจจีน ที่มีการเติบโตสูงมาก และ มีมณฑลที่พัฒนาสูงมากขึ้นเรื่อยๆ  โดยถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงบ้าง แต่ในภาพรวมก็ยังคงเติบโตมากอยู่ดี ทั้งนี้ตลาดจีนจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ผู้ประกอบการทั่วโลกต่างก็ประสงค์จะส่งสินค้าเข้าจีนมากที่สุด สำหรับไทยนั้นการที่จะไปแข่งขันการค้ากับจีนนั้นค่อนข้างยาก เราควรเปลี่ยนจากการแข่งขันเป็นการจับมือกับประเทศจีน  เพราะตอนนี้ยุทธศาสตร์สองชาติสอดคล้องกัน ทางจีนเองจะขยับบางพื้นที่เป็น 4.0 เช่นเดียวกับประเทศไทย โดยจีนในอีก10 ปีข้างหน้าจะต่างออกไปมากจากปัจจุบัน คนไทยจึงควรจะรีบเข้าไปหาโอกาสเพื่อไปยังประเทศจีน  โดย ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยในการจะมีศักยภาพในการเจาะตลาดจีนนั้น ต้องมีความเข้าใจตลาดที่ต้องการจะเข้าไปเจาะ ต้องมีคู่ค้าชาวจีน  ต้องมียุทธศาสตร์การเจาะตลาด  ต้องมีเงินสำรอง/แหล่งทุน  ต้องมีแนวทางในการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน และต้องมีสินค้าที่โดนใจ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

นายชาตรี  เวทสรณสุธี  ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการและร่วมลงทุน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า สินค้าOTOPของไทยเป็นสินค้าที่นิยมของนักท่องเที่ยวจีน และคนจีนนั้นรวยขึ้นทุกปี ตรงนี้คือโอกาสสำคัญของภาคธุรกิจไทย  ทั้งนี้ถ้าอยากจะส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีความเข้มแข็งเราต้อง มุ่งพัฒนาการผลิต  มุ่งออนไลน์ มุ่งปรับตัวให้ทันสถานการณ์  มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านความรู้ และทางด้านการเงิน

ด้านนายสุจินต์ พิทักษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มเซรามิก กล่าวว่า ธุรกิจเซรามิกของไทยมีโอกาสเจาะตลาดจีนได้อีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์เบญจรงค์ ซึ่งมีที่มาจากจีน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ที่ส่งไปที่จีนเพื่อเขียนลวดลาย   ธุรกิจเซรามิกเองสามารถพัฒนาไปบุกตลาดจีนได้อีกมาก   โดย อาจารย์ธารากร วุฒิสถิรกุลเลขาธิการสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านเศรษฐกิจและการค้า อาเซียน  ได้กล่าวเสริมว่า  จากยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมของจีน  ประเทศไทยของเราได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์มาก ๆ ขอเพียงแค่อย่าค้าขายแบบดั้งเดิม ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยต้องมีการตื่นตัว เพิ่มนวัตกรรมของสินค้า  ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการค้า โดยมุ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เราถนัดเช่น  สินค้าอาหารทะเล สินค้าสุขภาพ สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าฮาลาล สินค้าเครื่องปรุงรส อาหารสำเร็จรูปของขบเคี้ยว ธุรกิจร้านอาหาร  โดยขอให้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เช่น ตอนนี้ประเทศจีนนั้นแทบจะไม่ใช้จ่ายด้วยเงินสดแล้ว แต่เปลี่ยนเป็นการใช้จ่ายออนไลน์ ส่วนข้อควรคำนึงเวลาส่งออก คือ ควรคำนึงเรื่องระยะเวลาการขนส่ง  ควรรุกตลาดสินค้าที่มีการแปรรูปมาแล้วขั้นหนึ่ง เพื่อเพิ่มคุณค่า   สินค้าควรได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐาน QS   ควรมุ่งจัดจำหน่ายผ่านผู้นำเข้า ควรหาพันธมิตรในระบบ  รวมถึงควรคำนึงการสร้างภาพลักษณ์  การหาผู้ร่วมทุน การรู้จักการใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือ