‘หลิว กุ้ยจิน’ ผู้ได้รับเหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา

0
7

‘หลิว กุ้ยจิน’ ผู้ได้รับเหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา : เจ้าหน้าที่อาวุโสทางการทูตที่อุทิศตนเพื่อประเทศชาติ
.
“เหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา” เป็นเกียรติภูมิสูงสุดภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน วันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2021 พิธีมอบ “เหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา” จัดขึ้นเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างยิ่งใหญ่ที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง นายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีจีน มอบเหรียญเกียรติยศแก่ผู้ได้รับรางวัลด้วยตนเอง
.
เฉพาะสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ผู้สร้างคุณูปการอันยอดเยี่ยมแก่พรรคและประชาชนเท่านั้นจึงมีสิทธิ์ได้รับเกียรติเช่นนี้ พิธีมอบ “เหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา” จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้โดยมีผู้ได้รับเกียรติอันสูงส่งนี้รวม 29 คน รวมถึงหลิว กุ้ยจิน เจ้าหน้าที่อาวุโสทางการทูตที่อุทิศตนเพื่อประเทศชาติ
.
หลิว กุ้ยจินในวัย 76 ได้อุทิศเวลาเกือบ 40 ปีให้กับภารกิจเดียว ซึ่งก็คือกิจการทางการทูตระหว่างจีนกับทวีปแอฟริกา เขาเคยทำงานประจำอยู่ในแอฟริการวมเวลา 17 ปี คอยปกป้องชาวจีนในต่างประเทศ สร้าง “สะพาน” กระชับมิตรภาพจีน-แอฟริกาครั้งแล้วครั้งเล่า เขาไม่ได้นอนเป็นเวลาถึง 3 วัน 3 คืนเพื่อเตรียมความพร้อมให้การประชุมฟอรั่มความร่วมมือจีน-แอฟริกาจัดขึ้นอย่างราบรื่น ในวัยที่เขาควรจะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายหลังเกษียณอายุราชการ เขากลับรับภารกิจสำคัญอีกครั้งโดยเข้าดำรงตำแหน่งะผู้แทนพิเศษฝ่ายกิจการแอฟริกาของรัฐบาลจีนคนแรก
ค.ศ. 1981 หลิว กุ้ยจินเริ่มต้นประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศครั้งแรกในเคนยา งานของเขาในขณะนั้นคือส่งพัสดุไปรษณีย์ทางการทูตระหว่างกระทรวงการต่างประเทศจีนกับสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลของจีนประจำประเทศต่างๆ ในแอฟริกา เมื่อทศวรรษ 1970 แอฟริกาอยู่ในภาวะยากลำบากในด้านต่างๆ และมีวิธีการสื่อสารที่ล้าสมัย จดหมายส่วนบุคคลของครอบครัวเจ้าหน้าที่ทางการทูตจำนวนมากก็ต้องส่งผ่านพัสดุไปรษณีย์ทางการทูตด้วย หลิว กุ้ยจิน กล่าวว่า “เมื่อรู้ว่าผมจะมา ไม่ว่าเครื่องบินจะมาถึงช้าแค่ไหน เพื่อนร่วมงานในสถานทูตก็จะเฝ้ารออยู่ตลอดคืน”
.
หลิว กุ้ยจินกล่าวเพิ่มเติมว่า “ลูกๆ ของเพื่อนร่วมงานบางคนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จึงเชิญผมไปทานข้าวด้วยกันด้วยความดีใจ ในเวลานั้นผมได้ตระหนักอย่างจริงจังว่าอะไรคือ ‘เมื่อต้องเหินห่างจากบ้านเนิ่นนาน จดหมายของครอบครัวมีค่าเทียบเท่าทองคำ 10,000 ตำลึง’ ”
.
ในช่วงเวลา 5 ปีที่ทำงานประจำในประเทศเคนยา หลิว กุ้ยจินเคยใช้สิทธิ์วันหยุดพักผ่อนและเดินทางกลับประเทศเพียงครั้งเดียว เวลาอำลากับภรรยาก่อนออกเดินทาง ลูกชายวัย 3 ขวบร้องไห้หาพ่อแม่ เมื่อเขากลับมาที่จีนหลังครบวาระการทำงานในเคนยา ลูกชายเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แล้ว เนื่องจากถูกจำกัดด้วยเงื่อนไข ความรักและความทุกข์จากการจากลาแบบนี้เป็นความทรงจำร่วมกันของนักการทูตรุ่นก่อนๆจำนวนมาก “บางครั้งผู้คนทั้งหลายมองเห็นแต่ชุดสูท เนคไท ดอกไม้ และไวน์ชั้นเลิศ แต่สิ่งที่งานทางการฑูตต้องการมากกว่าคือความทุ่มเทและการอุทิศตน” หลิว กุ้ยจินกล่าวด้วยความรู้สึกที่เปี่ยมล้น
.
ค.ศ. 1991 หลิว กุ้ยจินซึ่งขณะนั้นเป็นที่ปรึกษาของสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำเอธิโอเปียประสบกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลครั้งดุเดือด ในเดือนพฤษภาคมของปีนั้น ระบอบการปกครองเมนกิสตูถูกโค่นล้ม ผู้สนับสนุนที่คลั่งไคล้ของเมนกิสตู ไฮเล มาเรียมได้จุดไฟคลังแสงด้วยความโกรธ ทันใดนั้นกระสุนปืน ลูกปืนใหญ่ และระเบิดมือจำนวนมาก “บินว่อนไปมา”ทั่วบริเวณ
.
เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นหลิว กุ้ยจินยังคงรู้สึกหวาดกลัวจนถึงทุกวันนี้ “ตอนนั้น จุดศูนย์กลางของการระเบิดดูเหมือนหลุมอุกกาบาต แรงระเบิดยังทำให้เกิดหลุมขนาดเล็กกว่าหลายแห่งในบริเวณรอบๆ ปลอกกระสุนทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กมีให้เห็นทั่วทุกหนแห่ง ยังมีกระสุนปืนใหญ่หลายลูกตกลงมาที่ลานภายในสถานทูต” กระจกหน้าต่างห้องนอนของหลิว กุ้ยจินถูกกระสุนลูกหลงทำลายแตกกระจาย และยิงมาลงที่ข้างๆหมอนของเขา หากเคลื่อนอีกนิดก็จะโดนศีรษะพอดี
.
ท่ามกลางความวุ่นวายจากภัยสงคราม ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนที่ทำงานช่วยเหลือเอธิโอเปียและเจ้าหน้าที่สถานทูตจีนประจำเอธิโอเปียจำนวนมากได้ถอนตัวกลับประเทศ แต่หลิว กุ้ยจินในฐานะอุปทูตชั่วคราวกับเพื่อนร่วมงานอีก 6-7 คนยังคงประจำอยู่ในสถานทูตเพื่อทำงานต่อไป ยามประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและไม่มีน้ำประปาและไฟฟ้าใช้ เขาและเพื่อนร่วมงานได้พยายามทุกวิถีทางจนคลี่คลาย
.
หลิว กุ้ยจินรักดินแดนอันอุดมสมบูรณ์นี้นับตั้งแต่เขาเหยียบดินแดนทวีปแอฟริกาและทำงานเกี่ยวกับแอฟริกา และไม่เคยละทิ้งดินแดนแห่งนี้อีกเลย “จีนและประเทศในแอฟริกาต่างก็เป็นประเทศกำลังพัฒนาและมีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน ปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีความสามัคคีอย่างใกล้ชิดระหว่างจีนกับแอฟริกา” หลิว กุ้ยจินกล่าว
เดือนตุลาคม ค.ศ. 2000 ผู้นำของจีนและบรรดาประเทศในแอฟริกาได้รวมตัวกันที่กรุงปักกิ่งเพื่อจัดการประชุมฟอรั่มว่าด้วยความร่วมมือจีน-แอฟริกาครั้งแรก ซึ่งถือเป็นการร่วมกันเปิดศักราชใหม่แห่งความสัมพันธ์จีน-แอฟริกา
.
การถือกำเนิดขึ้นของฟอรั่มนี้แยกไม่ออกจากการทำงานอย่างหนักของหลิว กุ้ยจิน เมื่อปลายศตวรรษที่ผ่านมา มีกลไกพหุภาคีไม่น้อยด้านความร่วมมือกับแอฟริกาในโลก มิตรภาพจีน-แอฟริกามีความลึกซึ้ง การก่อตั้งฟอรั่มความร่วมมือจีน-แอฟริกาเป็นความปรารถนาร่วมกันของประเทศจำนวนมากในแอฟริกา ในฐานะอธิบดีกรมแอฟริกาของกระทรวงการต่างประเทศจีนในขณะนั้น การศึกษาวิจัยและเตรียมความพร้อมจึงมอบหมายมายังหลิว กุ้ยจิน หลังจากการประชุมและปรึกษาหารือกัน ความรู้สึกแรกของหลิว กุ้ยจินคือเป็นเรื่องยากมาก เพราะฝ่ายจีนไม่อยากให้เวทีนี้เป็นเพียง “ห้องพูดคุยทั่วไป” ตั้งแต่แรก ควรจะเสนอมาตรการที่เป็นรูปธรรมอย่างไร กลายเป็นปัญหายากลำบากลำดับแรกที่ต้องแก้ไข
.
หลังการหารือและออกแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในที่สุดหลิว กุ้ยจินกับเพื่อนร่วมงานได้เสนอแผนงานที่รวมถึงการลดหรือยกเว้นหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับจีนของแอฟริกาอย่างเหมาะสม จัดตั้งกองทุนความร่วมมือด้านทรัพยากรมนุษย์ และขยายการเปิดตลาดสู่แอฟริกามากยิ่งขึ้น แนวคิดนี้ได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็ว
.
ด้วยการผลักดันอย่างแข็งขันของฝ่ายแอฟริกา เนื้อหาของการประชุมฟอรั่มครั้งแรกมีความลึกซึ้งที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ได้หารือกัน 3 วัน 3 คืนโดยไม่ได้นอนเลย” ในที่สุดการประชุมฟอรั่มครั้งแรกได้จัดตั้งกลไกขึ้นโดยกำหนดให้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีทุกๆ 3 ปี
.
เมื่อเห็นว่าเวทีที่ตัวเองมีส่วนร่วมในการก่อตั้งได้เติบโตขึ้นจาก “ทารก” เป็น “ชายหนุ่ม” ที่แข็งแรงและกระฉับกระเฉง ทั้งยังได้กลายเป็นธงแห่งการชี้นำความร่วมมือกับแอฟริกา หลิว กุ้ยจินรู้สึกซาบซึ้งยิ่ง “ปัจจุบันฟอรั่มนี้ประสบผลสำเร็จมากมายแล้ว”
ค.ศ. 2007 หลิว กุ้ยจินซึ่งมีอายุกว่า 60 ปีและได้เสร็จสิ้นขั้นตอนการเกษียณอายุนั้น ได้รับการแต่งตั้งครั้งใหม่ เข้าดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษด้านกิจการแอฟริกาของรัฐบาลจีนคนแรก โดยมีภาระหน้าที่มุ่งเน้นที่ประเด็นดาร์ฟูร์ในประเทศซูดาน
.
ในช่วงเวลาสำคัญที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง 2008 ใกล้จะจัดขึ้น แต่มีสื่อมวลชนและนักการเมืองชาติตะวันตกบางส่วนกลับใช้ประเด็นดาร์ฟูร์ในการประโคมข่าวว่า การที่จีนให้ความช่วยเหลือซูดานในการบุกเบิกน้ำมันปิโตรเลียมนั้นเป็น “การช่วยเหลือทรราช” “นี่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง!” หลิว กุ้ยจินรู้สึกโกรธแค้นยิ่งต่อการนี้
.
หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนตามระเบียบ หลิว กุ้ยจินได้รีบรุดไปที่ซูดานโดยไม่หยุดพัก เมื่อเผชิญกับการใส่ร้ายป้ายสีในวงกว้างของสื่อตะวันตก เขาด้านหนึ่งเลือกที่จะพบกับนักข่าวให้ได้มากที่สุด อีกด้านหนึ่งก็รีบเดินทางไปยังประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการไกล่เกลี่ย ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น
.
“ในตอนนั้นผมมีความตั้งใจว่า ต้องให้โลกภายนอกมองเห็นจีน ได้ยินเสียงของจีน และเข้าใจจุดยืนของจีน” ความพยายามของหลิว กุ้ยจินได้รับเสียงตอบรับที่เป็นธรรม มีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการชาวตะวันตกจำนวนมาก ซึ่งยึดมั่นในจุดยืนที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ได้พากันออกมาปกป้องแก้ต่างให้กับจีน และชื่นชมบทบาทเชิงบวกของจีนในการแก้ไขวิกฤต
.
หลิว กุ้ยจินยังเคยใช้ปฏิบัติการที่แท้จริงเพื่อแก้ไขวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นหลายครั้ง หลังจากที่ศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับโอมาร์ อัล-บาชีร์ ประธานาธิบดีซูดานในขณะนั้น ซูดานได้ตอบโต้อย่างดุเดือด กระทั่งต้องการขับไล่กองกำลังรักษาสันติภาพและผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษยธรรมออกไปจากซูดาน เมื่อได้รับทราบข่าวนี้ หลิว กุ้ยจินได้บินไปซูดานอย่างเร่งด่วนเพื่อดำเนินการเกลี้ยกล่อมกับหลายฝ่ายในซูดาน และประสบความสำเร็จในการหลีกเลี่ยงการปะทะด้วยกำลังรุนแรง
.
ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา หลิว กุ้ยจินได้เดินทางไปเกือบทั่วทั้งแอฟริกา แม้ว่าปัจจุบันเขาเกษียณอายุแล้วและอยู่ที่บ้าน แต่เขาก็ยังเอาใจใส่และคิดถึงแอฟริกาตลอด
.
ในมุมมองของเขา การทูตเป็นงานที่ยากลำบากและมีเกียรติ ในขณะเดียวกันยังเป็นเวทีกว้างใหญ่ที่ “นกสามารถบินได้ไกลในท้องฟ้าสูง ปลาสามารถกระโดดน้ำได้อย่างอิสระในทะเลกว้าง” การทำงานทางการฑูตต้องมีความรู้อย่างครอบคลุม มีวินัยที่เข้มงวด และมีหัวใจที่อุทิศตนเพื่อประเทศชาติ
.
“ไม่ว่าเมื่อไรก็อย่าคิดว่าความรู้ของตัวเองเพียงพอแล้ว ต้องคิดเสมอว่าตัวเองยังขาดความรู้อะไรบ้าง และควรเรียนรู้เพิ่มเติมอะไรบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อบรรลุภาระหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้นในฐานะตัวแทนของประเทศชาติและประชาชน” นี่คือข้อกำชับจากใจจริงของหลิว กุ้ยจินต่อนักการทูตรุ่นเยาว์
.
เมื่อพูดถึงคุณงามความดีส่วนตัว หลิว กุ้ยจินยกมือขึ้นปัดปฏิเสธหลายครั้งและกล่าวว่า “เหรียญเกียรติยศ ‘1 กรกฎาคม’ เป็นเกียรติภูมิส่วนรวมของแนวหน้าทางการทูตของเรา นี่คือความรู้สึกที่แท้จริงของผม”