การแข่งขันประกวดสุนทรพจน์และความรู้ภาษาจีน “สะพานสู่ภาษาจีน” ประจำปี 2566

0
40

การแข่งขันประกวดสุนทรพจน์และความรู้ภาษาจีน “สะพานสู่ภาษาจีน” ระดับมัธยมศึกษา ครั้งที่ 16 และระดับประถมศึกษา ครั้งที่ 3 รอบชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566
.
วันที่ 15 กรกฎาคม 2566 การแข่งขันประกวดสุนทรพจน์และความรู้ภาษาจีน “สะพานสู่ภาษาจีน” ระดับมัธยมศึกษา ครั้งที่ 16 และระดับประถมศึกษา ครั้งที่ 3 รอบชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 ได้จัดขึ้น ณ หอประชุม โรงเรียนโพธิสารพิทยากร  ท่านอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูตจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นางเฝิง จุ้นยิง ที่ปรึกษา ฝ่ายการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และนายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้เกียรติเข้าร่วมพิธีเปิดและพิธีปิดการแข่งขัน และกล่าวให้โอวาท
.
การแข่งขันครั้งนี้มีแขกผู้มีเกียรติร่วมงานจากหลากหลายหน่วยงาน ได้แก่ หวัง ฮวน เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ผู้บริหารและนักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดร. วิชิต ลอลือเลิศ ประธานสมาคมครูจีน ประเทศไทย ผู้อำนวยการฝ่ายไทยและจีนของสถาบันขงจื่อต่างๆ  คณะกรรมการ สื่อมวลชนไทยและจีน ผู้เข้าแข่งขัน คณาจารย์และนักเรียนที่มาจากโรงเรียนประถมและมัธยม ซึ่งจำนวนผู้ร่วมงานเป็นหลักพันคนในครั้งนี้
.
บรรยากาศในระหว่างการแข่งขันเต็มไปด้วยความคึกคัดและสนุกสนาน มีการแสดงเชิดสิงโตต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่านด้วย
.
โดย ท่านอู๋ จื้ออู่  อัครราชทูตได้กล่าวว่าภาษาจีนเป็นหนึ่งในภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดในโลก เป็นสิ่งบันทึกอารยธรรมอันวิจิตรงดงามของจีน “สะพานสู่ภาษาจีน” สร้างเวทีให้ผู้เรียนภาษาจีนเข้าใจถึงเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมจีน และยังเป็นสะพานแห่งวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมต่าง ๆ การเลือกเรียนภาษาจีนนอกจากจะทำให้สัมผัสถึงความกว้างใหญ่และความลึกซึ้งของอารยธรรมจีนแล้ว ยังนำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนาตนเองในอนาคตอีกด้วย เยาวชนไทยนับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้นที่กำลังเรียนภาษาจีนเพื่อเข้าใจจีนแบบสามมิติ ครอบคลุม แท้จริงและน่ารัก หวังว่าผู้เข้าแข่งขันจะใช้การแข่งขัน “สะพานสู่ภาษาจีน” เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ มานะบากบั่นเรียนรู้ภาษาจีนให้ดี สร้างสะพานแห่งมิตรภาพระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ และมุ่งมั่นที่จะเป็น “ทูตภาคประชาชน” เพื่อการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างจีนและไทย
.
ท่านเน้นย้ำว่า ปีนี้เป็นปีครบรอบ 48 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-ไทย และเป็นวาระครบรอบ 10 ปีของข้อริเริ่มในการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เยือนประเทศไทยอย่างประสบความสำเร็จ ผู้นำทั้งสองประเทศได้ออกแถลงการณ์ในการสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น สถานทูตจีนประจำประเทศไทยยินดีที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนของสังคมไทย เพื่อให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่ชาวไทยโดยเฉพาะเยาวชนไทยในการเรียนรู้ภาษาจีน เพื่ออุทิศกำลังในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสองประเทศ
.
นางเฝิง จุ้นยิง ที่ปรึกษา ฝ่ายการศึกษาจากสถานทูตจีนกล่าวไว้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนขึ้นอยู่กับความเข้าใจในวัฒนธรรม จีนเป็นประเทศที่มีอารยธรรมเก่าแก่ยาวนานถึง 5,000 ปี ภาษาจีนเป็นสิ่งบันทึกวัฒนธรรมจีนที่กว้างขวางและลึกซึ้ง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นสายใยของการติดต่อสื่อสารระหว่างหัวใจของประชาชนชาวจีนและชาวไทย แต่ยังเป็นกุญแจทองของโลกแห่งการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสองอารยธรรมอีกด้วย “สะพานสู่ภาษาจีน” เป็นสะพานแห่งภาษาและวัฒนธรรม สะพานแห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างชาวจีนและชาวไทย
.
โดยหวังว่า วัยรุ่นไทยจะเรียนภาษาจีนเก่ง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นทูตที่ดีในการแลกเปลี่ยนฉันมิตรระหว่างประเทศจีนกับประเทศไทย และระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ และหวังว่าผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะได้เพลิดเพลินกับความงามของภาษาจีน ลิ้มรสแก่นแท้ของวัฒนธรรมจีน และแสดงทักษะและความสามารถด้านภาษาจีนที่ยอดเยี่ยมอย่างเต็มที่
.
นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนขึ้นกล่าวว่า ปัจจุบันภาษาต่างประเทศที่มีบทบาทต่อสังคมโลกเป็นอย่างปฏิเสธไม่ได้คือ ภาษาจีน ด้วยอิทธิพลการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือต่อการแผ่ขยายอิทธิพลทั้งด้านทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการติดต่อสื่อสารด้านเศรษฐกิจ การเมืองและความสัมพันธ์ด้านการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมาอย่างยาวนาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาทรัพยากรให้สามารถรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเร่งผลิตบุคลากร ที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษาจีนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการติดต่อสื่อสาร การศึกษา และการประกอบอาชีพในอนาคต
.
กิจกรรมการประกวดสุนทรพจน์และความรู้ภาษาจีนฯ นับเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงศักยภาพทางภาษาและวัฒนธรรมจีนในเวที โดยได้รับความร่วมมือจาก 3 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการส่งตัวแทนเข้าร่วมการประกวดเป็นอย่างดีเสมอมา ซึ่งที่ผ่านมามีนักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมประกวดได้รับความรู้ ประสบการณ์ และมิตรภาพอันมีค่า และสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ครอบครัว โรงเรียน และประเทศชาติ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะไม่หยุดที่จะพัฒนาศักยภาพในด้านภาษาจีนของตนเองเพื่อความสำเร็จในอนาคต
.
นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า การส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีนจึงเป็นการลงทุนที่จะก่อให้เกิดผลในอนาคตของตนเอง ท่านหวังว่าผู้เข้าแข่งขันทุกคนต้องพยายามแสวงหาโอกาสที่จะแสดงความสามารถทางภาษา ดังเช่นที่นักเรียนกำลังเข้าร่วมการประกวดนี้ ขอให้ทุกคนรักษาความมุ่งมั่นตั้งใจเรียนรู้ หมั่นฝึกฝนใช้ภาษาทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน รวมทั้งศึกษาวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาเพื่อที่จะเข้าใจวิธีคิดของเจ้าของภาษา เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความชำนาญในการใช้ภาษาจีนยิ่งขึ้นต่อไป
.
ผู้เข้าแข่งขันจากโรงเรียนประถม จำนวน 30 คน และโรงเรียนมัธยม จำนวน 27 คน ได้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสอบข้อเขียน กล่าวสุนทรพจน์ตามหัวข้อกำหนด และแสดงความสามารถพิเศษสามรายการในวันเดียวกัน
.
การแข่งขันฯ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อใหญ่ “CHINESE, Joy and Fun” และ“Fly high with Chinese” บรรดานักเรียนไทยต่างโชว์ฝีไม้ลายมือกันอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะการพูดสุนทรพจน์ในหัวข้อต่างๆ เช่น “สนุกกับการเรียนภาษาจีน” “สะพานสู่ภาษาจีน-สะพานแห่งมิตรภาพไทยจีน” “เรียนที่ประเทศจีนไม่ใช่ความฝันแต่เป็นความจริง” “เรื่องราวการรักษาสิ่งแวดล้อมของฉัน/ผม” “การสัมผัสวัฒนธรรมอาหารการกินของประเทศไทยผ่าน tiktok” ไปจนถึงการแสดง เช่น เชิดมังกร กังฟู ระบำจีน ผีผา เพลงละครที่เคาะจังหวะด้วยแผ่นไม้ไผ่ การสนทนาตลกขบขันของจีน วาดภาพด้วยพู่กันจีน ฯลฯ เรียกได้ว่าต่างคนต่างโดดเด่นและมีความสามารถในแบบที่ตนเองถนัด เนื้อหาสุนทรพจน์ครอบคลุมหัวข้อที่ต้องสื่อ แสดงมุมมองต่อหัวข้อได้ชัดเจน พูดได้คล่องแคล่ว ประทับใจและมีความมั่นใจในการพูด การแสดงสะท้อนให้เห็นถึงความชื่นชอบต่อวัฒนธรรมจีนของนักเรียนไทย
.
ในการแข่งขันครั้งนี้ ผู้เข้าแข่งขันนายศตวรรษ พันธุ์แสนกอจากโรงเรียนราษฎร์วิทยา(ตี่มิ้ง) และ ด.ญ.เบญญาวรรณ เกษสาจากโรงเรียนป้วยฮั้ว ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศไทย ซึ่งทั้งสองคนนี้ได้มีโอกาสเป็นตัวแทนของประเทศไทย เดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันประกวดสุนทรพจน์และความรู้ภาษาจีน “สะพานสู่ภาษาจีน” ระดับมัธยมศึกษา ครั้งที่ 16 และระดับประถมศึกษา ครั้งที่ 3 รอบชิงชนะเลิศระดับโลก
.
ในพิธีการปิดการแข่งขัน ท่านอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูตและนายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนได้มอบถ้วยรางวัล เกียรติบัตร ของรางวัลและเงินรางวัลให้กับผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศไทยและรางวัลชนะเลิศ
.
แขกผู้มีเกียรติท่านอื่นได้มอบเกียรติบัตร ของรางวัลและเงินรางวัลให้กับผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 8 คน รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 16 คน และรางวัลชมเชย 27 คน
.
การแข่งขันปีนี้ได้จัดขึ้นตามสถานที่เป็นครั้งแรกหลังจากการแพร่ระบาดของรอดโควิด-19 ซึ่งในปีนี้มีโรงเรียนจำนวน 415 แห่งจาก 60 จังหวัดและผู้เข้าแข่งขันทั้งประถมและมัธยมรวมเป็น 489 คนเข้าร่วมการแข่งขัน สร้าง “สถิติใหม่สองอย่าง” คือ จำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันและจำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขันมากที่สุดนับตั้งแต่การก่อตั้งโครงการการแข่งขันนี้ สะท้อนให้เห็นว่าการเรียนการสอนภาษาจีนของประเทศไทยได้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง

แหล่งข้อมูล: CMG