ถอดบทเรียนความสำเร็จในการฟื้นฟูชนบทจีนยุคใหม่

0
0

ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ ร่วมกับ Institute for International and Area Studies (IIAS) of Tsinghua University สาธารณรัฐประชาชนจีน  จัดงานเสวนาเรื่อง กระบวนทัศน์การฟื้นฟูชนบทจีนยุคใหม่ โดยเชิญ Prof. Li Xiaoyun กรรมการที่ปรึกษารัฐบาลจีนด้านขจัดความยากจน มาร่วมแบ่งปันแนวคิดในการขจัดความยากจนของประเทศจีน

Prof. Li Xiaoyun กล่าวว่า ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ 2 เรื่อง  เรื่องที่ 1 เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน โดยในอดีตประชากรร้อยละ 95 อาศัยอยู่ในชนบท แต่ปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ในชนบทไม่ถึงร้อยละ 50   และเรื่องที่ 2 จำนวนประชากรที่ยากจนลดลงอย่างมาก  

การเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ทั้ง 2 เรื่อง ทำให้เกิดคำถามว่า จีนทำอย่างไรในการลดปัญหาความยากจนภายในระยะเวลาอันสั้น

Prof. Li Xiaoyun ให้มุมมองว่า ความสำเร็จของจีนในการขจัดปัญหาความยากจน มีแนวทางที่สำคัญคือ

1. การลดความยากจนกับการพัฒนาเป็นสิ่งเกื้อหนุนกัน  การจะบรรลุผลสำเร็จเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลา จีนมีการเริ่มแก้ปัญหาความยากจนตั้งแต่ปีค.ศ. 1949 จนถึงปีค.ศ. 1978 โดยรัฐบาลกลางมีการวางแผน การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ  ปฏิรูปชนบท และปฏิรูปการเกษตร

2. จีนมีแผนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญในการลงทุนเรื่องการศึกษาและการรักษาพยาบาล  

3. ช่วงปีค.ศ. 1949-1978 มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน จีนพัฒนาระบบชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรร้อยละ 70-80

ปีค.ศ. 1978 ประเทศจีนเปิดประเทศ ทำให้ประเทศจีนเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดอย่างรวดเร็ว  หลังจากนั้นจีนจึงมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการต่อยอดการพัฒนาด้านการเกษตรแบบดั้งเดิม  ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร

ปีค.ศ. 1980 มีการเริ่มปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดความยากจนในชนบท ดัวยการพัฒนาการเกษตรในชนบท เมื่อเศรษฐกิจพัฒนาอย่างรวดเร็ว ประเทศจีนจึงผลักดันการปฏิรูปในชนบทอย่างต่อเนื่อง ให้คนในชนบทหางานทำในเมือง ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 300ล้านคนในชนบท อพยพไปทำงานในเมือง  ย้ายจากภาคการเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ ทำให้ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้น หลุดพ้นจากความยากจน  ขณะที่ผู้ที่อยู่ในชนบทได้รับการผลักดันให้มีศักยภาพมากขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น  

รัฐบาลจีนยังเพิ่มการลงทุนในชนบท เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ที่อยู่ชนบท ทั้งด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และด้านสวัสดิการสังคม ทำให้ชาวชนบทมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ในปีค.ศ. 1990 เมื่อมีการพัฒนาอุตสาหกรรม พัฒนาความเป็นเมือง ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ การพัฒนาที่ไม่สมดุล เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โดยเฉพาะในชนบท

ดังนั้น โจทย์ต่อมาคือ ทำอย่างไรจึงจะบรรเทาความยากจน และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้  เป้าหมายที่สำคัญที่สุด ตั้งแต่ปีค.ศ.1990 เป็นต้นมา จีนจึงมีนโยบายการแก้จนแบบตรงเป้า เพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำ โดยใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล ให้เกิดการกระจายโอกาส ทั้งโอกาสทางด้านการศึกษา โอกาสการเข้าถึงการรักษาพยาบาล โอกาสการเข้าถึงการจ้างงาน เพื่อให้โอกาสกระจายไปสู่ทุกกลุ่มในชนบท

จนถึงปีค.ศ. 2020 จีนบรรลุเป้าหมายการหลุดพ้นความยากจน โดยประชากรยากจนในเขตชนบทกว่า 99 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน ถือเป็นเอกลักษณ์การแก้จนของจีนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ที่ต้องอาศัยเวลาและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

บทความ : ประวีณมัย  บ่ายคล้อย

ขอบคุณภาพ : Xinhua