บทวิเคราะห์  “Luban Workshop” แห่งแรกในโลก

0
1

สมัยโบราณ  จีนมีช่างไม้ฝีมือเก่งกาจผู้หนึ่งนาม หลู่ ปัน เขาประดิษฐ์เครื่องมือหลายอย่างซึ่งรวมถึงเลื่อย ไม้บรรทัดโค้ง และกบไสไม้  เครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้บรรดาช่างฝีมือได้ทุ่นแรงและผลิตภาพแรงงานดีขึ้นอย่างมาก เป็นเวลากว่า 2,000 ปีแล้วที่สิ่งประดิษฐ์และการสร้างสรรค์ของหลู่ ปัน กลายเป็นสัญลักษณ์ของภูมิปัญญาช่างฝีมือในประเทศจีน ปัจจุบัน “รางวัลหลู่ปัน” เป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดสําหรับวิศวกรรมการก่อสร้างคุณภาพดีเยี่ยมของจีน

นครเทียนจินที่อยู่ภาคเหนือของจีนเป็นฐานการผลิตและการวิจัยพัฒนาที่ก้าวหน้าของจีน “Luban Workshop” เป็นโครงการนวัตกรรมอาชีวศึกษาสมัยใหม่ที่นําโดยเทศบาลนครเทียนจิน มีเป้าหมายเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศที่ร่วมในข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางในการเรียนรู้เทคโนโลยีของจีน และผลิตบุคลากรที่เรียนรู้เทคโนโลยีของจีน

EPIP เป็นเนื้อหาหลักของ “Luban Workshop” ได้แก่วิศวกรรม (Engineering) การปฏิบัติ (Practice) นวัตกรรม (Innovation) และโครงการ (Project) การเรียนการสอน เกี่ยวกับ EPIP ดังกล่าวมุ่งเน้นการปฏิบัติและการประยุกต์ใช้  โดยจะผลิตบุคลากรด้านอาชีวศึกษาระหว่างประเทศใน 4 ระดับได้แก่ อาชีวศึกษาระดับมัธยมต้น  อาชีวศึกษาระดับมัธยมปลาย  อาชีวศึกษาระดับปริญญาตรี และอาชีวศึกษาระดับปริญญาโท

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.2016 วิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิคโป๋ไห่แห่งนครเทียนจินได้จัดตั้ง “Luban Workshop” ในต่างประเทศแห่งแรกที่วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยาของไทย  และเปิด 4 สาขาวิชา ได้แก่ เมคคาทรอนิกส์ เทคโนโลยีการควบคุมดิจิทัล รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things) ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศแรกในโลกที่เปิด “Luban Workshop”

เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2018 เพื่อร่วมมือในโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย และผลิตบุคลากรมืออาชีพด้านเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงให้ประเทศไทย วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟเทียนจินได้เข้าร่วม “Luban Workshop” ที่ประเทศไทย โดยเปิดหลักสูตรนานาชาติเกี่ยวกับเทคโนโลยีการบํารุงรักษารถไฟความเร็วสูง  และการควบคุมสัญญาณรถไฟความเร็วสูงอัตโนมัติ

ขณะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน นายสวี จี้ถัง ผู้อำนวยการฝ่ายปัญญาประดิษฐ์ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิคโป๋ไห่เทียนจิน ระบุว่า “Luban Workshop” เน้นคําว่า “ช่าง” โดยจะฝึกอบรมความสามารถในการลงมือปฏิบัติของนักเรียนให้แข็งแกร่งขึ้น

พูดถึงความร่วมมือกับจีน นางสาวมยุรี ศรีระบุตร ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ได้ให้สัมภาษณ์กับเนชั่นทีวีในประเทศไทยว่า ความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยากับวิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิคโป๋ไห่เทียนจิน และวิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิครถไฟเทียนจินดีมาก วิทยาลัย 3 แห่งนี้มีความสัมพันธ์ที่ดียิ่งกว่าพี่น้อง “Luban Workshop” ของวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยาได้รับการสนับสนุนมากกว่า “Luban Workshop” ในประเทศอื่น ๆ ทุกปีฝ่ายจีนจะจัดส่งคนมาช่วยปรับปรุงอัปเกรดอุปกรณ์ต่าง ๆ ใน  “Luban Workshop” และได้ส่งเครื่องอุปกรณ์รุ่นใหม่มาให้ด้วย จนถึงปัจจุบัน วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ได้รับครุภัณฑ์ชุดฝึกสำหรับการเรียนการสอนจากฝ่ายจีนคิดเป็นมูลค่าถึง 128 ล้านบาท

ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยาระบุด้วยว่า เพื่อความสามารถในการลงมือปฏิบัติจริงของนักศึกษา ฝ่ายจีนลงทุนซื้อรถเบนซ์ป้ายแดงคันหนึ่งเพื่อให้นักเรียนแกะ และได้เรียนรู้ของจริง พร้อมทั้งเผยอีกว่าทุนการศึกษาที่ฝ่ายจีนมอบให้นั้นเป็นทุนการศึกษาแบบ “ให้เปล่า” โดยรวมถึงค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก และค่าอาหาร นักเรียนไทยที่ได้รับทุนการศึกษาดังกล่าวเพียงจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับเท่านั้น จนถึงปัจจุบัน มีนักเรียนไทยจำนวนกว่า 300 คน ได้รับทุนการศึกษาดังกล่าวและไปเรียนต่อที่ประเทศจีน

ในเรื่องความจริงใจของฝ่ายจีนที่ให้การสนับสนุนต่อ “Luban Workshop” ในวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยานั้น  ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยาให้ร้อยเปอร์เซ็นต์  อาจจะมากกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ

ในงานฉลอง 7 ปีความสัมพันธ์อาชีวะไทย-จีน”Luban Workshop”ที่จัดขึ้นที่วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวแสดงความยินดี โดยมีใจความว่า สำหรับ “Luban Workshop” ประเทศไทย ถือเป็นความภาคภูมิใจของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และนับเป็นความร่วมมือต้นแบบให้กับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ที่มีการดำเนินความร่วมมืออย่างจริงจัง และมีความต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนนักศึกษาให้มีสมรรถนะสูง และพัฒนาอาชีวศึกษาสู่สากล

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา มีครูและนักเรียนแลกเปลี่ยนมากกว่า 10,000 คนจากเครือข่ายวิทยาลัยอาชีวศึกษาในประเทศไทยได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนที่ “Luban Workshop” ใน วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา และมีนักเรียนมากกว่า 100 คนจากมาเลเซีย เวียดนามอินโดนีเซีย  สิงคโปร์และประเทศอื่น ๆ ได้รับการฝึกอบรมที่วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยาด้วย ในจำนวนนี้  บางคนยังได้รับรางวัลในการแข่งขันทักษะวิชาชีพแห่งอาเซียน

นับตั้งแต่ก่อตั้ง “Luban Workshop” ในประเทศไทยเป็นต้นมา “Luban Workshop” ได้รับความสนใจและการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากทั้งรัฐบาลจีนและไทย  ตลอดจนแวดวงต่าง ๆ ของทั้งสองประเทศ  วิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิคโป๋ไห่เทียนจินได้รับพระราชทานรางวัล “เหรียญที่ระลึกสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” นายจรัญ ยุบรัมย์  ผู้ก่อตั้ง “Luban Workshop” ในประเทศไทย และอดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ได้รับรางวัลมิตรภาพแม่น้ำไห่เหอเทียนจิน (Haihe River Friendship Award) ประจําปี 2020 และ “รางวัลมิตรภาพ” แห่งรัฐบาลจีน ประจําปี 2022 ส่วนนางสาวมยุรี ศรีระบุตร ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยาคนปัจจุบันได้รับรางวัลมิตรภาพแม่น้ำไห่เหอเทียนจินประจำปี 2023 หวังว่า “Luban Workshop” ในประเทศไทย  “Luban Workshop” แห่งแรกในโลกจะพัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

เขียนโดย โจว ซวี่ ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)