10 การค้นพบทางโบราณคดีของจีนแห่งปี 2023

0
1

สำนักงานมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติจีน ประกาศรายการการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญของจีน เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ว่าปี 2023 มีการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญ 10 รายการ โดยมีอายุย้อนไปถึงสมัยยุคหิน (2.5 ล้านปีก่อน – 10,000 ปีก่อนคริสตกาล) ได้แก่

  1. แหล่งโบราณคดียุคหินเก่า Bashan ใน อี้สุ่ย มณฑลซานตง

มีการค้นพบฟอสซิลสัตว์ หินเหล็กไฟ และสิ่งของเครื่องใช้ที่ทำจากควอตซ์จํานวนมาก ฝังอยู่ในชั้นดินต่างๆ ลึก 8 เมตร แหล่งโบราณคดีนี้ตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำแม่น้ำ Yihe ถูกพบครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 2020 ซากดึกดำบรรพ์และเครื่องมือหินที่พบแสดงถึงการดำรงชีวิตของมนุษย์ในยุคแรกซึ่งอาจมีอายุย้อนไปประมาณ 50,000 -100,000 ปี โดยซากดึกดำบรรพ์ที่พบส่วนใหญ่ เช่น ซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ เขากวาง ฟันวัว เป็นต้น  ผลิตภัณฑ์หิน มีทั้งเศษหินและเครื่องขูด การค้นพบนี้มีความสําคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษากิจกรรมของมนุษย์โบราณในมณฑลซานตง ทางตะวันออกของจีน

  1. แหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ Keqiutou ใน ผิงถาน (Pingtan) มณฑลฝูเจี้ยน

นักโบราณคดีค้นพบกระดูกมนุษย์จํานวนมากในแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ Keqiutou ที่คาดว่า จะมีอายุกว่า 7,300 ปี จากการศึกษาพบว่า มนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่อาศัยในผิงถานมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมอย่างใกล้ชิดกับบรรพบุรุษของชาวออสโตรนีเซียน (Austronesians) สิ่งประดิษฐ์และเครื่องปั้นดินเผาที่พบ มีลักษณะคล้ายกับที่พบในซากปรักหักพัง Dachakeng ในไต้หวัน แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมข้ามช่องแคบไต้หวัน

  1. แหล่งโบราณคดี Mopanshan ใน หลางซี (Langxi) มณฑลอันฮุย

แหล่งโบราณคดีนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกของจีน แสดงถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในสมัยโบราณ มีแหล่งวัฒนธรรม Majiabang ยุคหินใหม่ไปจนถึงยุคใบไม้ผลิและใบไม้ร่วง (Spring and Autumn Period) ที่อยู่ในช่วง 770-476 ปีก่อนคริสตกาล นักโบราณคดีระบุว่า การค้นพบดังกล่าวช่วยให้ได้เรียนรู้เรื่องสังคมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีความซับซ้อนและมีอารยธรรมมากขึ้น และการพัฒนาอารยธรรมจีนจนกลายเป็นพหุวัฒนธรรม

  1. แหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ Qujialing ใน จิงเหมิน (Jingmen) มณฑลหูเป่ย์

สิ่งที่พบคือซากปรักหักพังโครงสร้างการชลประทานในพื้นที่เพาะปลูกและการอนุรักษ์น้ำในแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ Qujialing มีอายุประมาณ 4,200 ถึง 5,900 ปี นักวิจัยเชื่อว่าโครงสร้างนี้ถูกใช้เพื่อจัดการน้ำ แก้ปัญหาภัยแล้ง และเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งหมายความว่ามนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์มีการปรับตัวรับมือกับภัยธรรมชาติและมีองค์ความรู้ในการจัดการ ควบคุม น้ำเพื่อใช้ประโยชน์

  1. แหล่งโบราณคดี Wangzhuang ใน หย่งเฉิง (Yongcheng) มณฑลเหอหนาน

วัฒนธรรม Dawenkou เป็นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ที่มีอยู่ตั้งแต่ 4300 ถึง 2600 ปีก่อนคริสตกาล แหล่งโบราณคดี Wangzhuang ตั้งอยู่ในหย่งเฉิง ป็นการค้นพบที่สําคัญ ที่แสดงว่าวัฒนธรรม Dawenkou เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อน  สุสานที่ค้นพบมีสิ่งที่ใช้ฝังศพจํานวนมาก ซึ่ง “ผ้าคลุมหน้าหยก” ซึ่งเป็นโบราณวัตถุชิ้นแรกที่พบในยุคหินใหม่ (10,000 ปีก่อนคริสตกาลถึงประมาณ 5,000 ปีก่อน) ในประเทศจีน

  1. สุสาน Shuyuanjie ในเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน

สุสาน Shuyuanjie ที่พบน่าจะอยู่ในสมัยราชวงศ์ซาง (1600-1046 ปีก่อนคริสตกาล) ผลการศึกษาระบุว่า สถานที่แห่งนี้อาจเป็นสุสานชนชั้นสูงที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยค้นพบในประเทศจีน และทำให้ได้หลักฐานใหม่เกี่ยวกับที่มาของสุสานและการพัฒนาการฝังศพในประเทศจีน

  1. แหล่งโบราณคดี Zhaigou ใน ชิงเจียน มณฑลส่านซี

แหล่งโบราณคดี Zhaigou ถือเป็นแหล่งโบราณคดีที่รุ่มรวยที่สุดในบรรดาแหล่งโบราณคดียุคราชวงศ์ซาง (1600-1046 ปีก่อนคริสตกาล) ในแง่ของขนาด จํานวน และความหลากหลายของโบราณวัตถุที่พบ บริเวณนี้มีการขุดพบหลุมฝังศพขนาดใหญ่ หลุมฝังศพขนาดเล็ก เตาเผา เครื่องปั้นดินเผา และซากปรักหักพังที่กระจัดกระจายไปทั่วบริเวณเนินเขารอบๆ 11 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการค้นพบสุสานขุนนางระดับสูงที่มีอายุย้อนไปถึงปลายราชวงศ์ซางอีก 9 หลุมด้วย

  1. แหล่งโบราณคดี Sijiaoping ใน หลี่เซียน (Lixian) มณฑลกานซู

แหล่งโบราณคดี Sijiaoping ในอดีตเป็นวัดที่สวยงาม ใช้สักการะและประกอบพิธีกรรมของราชวงศ์ยุคราชวงศ์ฉิน (221-207 ปีก่อนคริสตกาล) อาคารประกอบพิธีกรรมขนาดใหญ่ได้รับการออกแบบด้วยรูปแบบที่สมมาตรการค้นพบนี้บ่งชี้ถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมใหม่สําหรับวัดในอดีตด้วย

  1. แหล่งโบราณคดีเตาเผาเซรามิก Chencun ใน ฮั่วโจว (Huozhou) มณฑลซานซี

แหล่งโบราณคดีเตาเผาเซรามิก Chencun คาดว่าอยู่ในยุคราชวงศ์ซ่ง (960-1279) – ราชวงศ์ชิง (1644-1911) และเป็นกลุ่มเตาเผาใหญ่ที่ผลิตเครื่องลายครามสีขาว ทางตอนเหนือของจีน การค้นพบทำให้เห็นการพัฒนาเตาเผา Huozhou   ที่เคยมีหลักฐานเป็นบันทึกแต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก

  1. แหล่งโบราณคดีใต้น้ำบริเวณจุดอับปางตะวันตกเฉียงเหนือหมายเลข 1 และ 2 ในทะเลจีนใต้

บริเวณที่ซากเรืออับปางหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ในทะเลจีนใต้ พบโบราณวัตถุจํานวนมาก ที่น่าจะเป็นโบราณวัตถุสมัยราชวงศ์หมิง (1368-1644) แสดงให้เห็นว่า ชาวจีนในเวลานั้นมีการเดินทางไปกลับทางทะเลจีนใต้ และมีการแลกเปลี่ยนทางการค้าและวัฒนธรรมบนเส้นทางสายไหมทางทะเล การค้นพบนี้ยังถือเป็นความก้าวหน้าของการสำรวจทางโบราณคดีในทะเลลึกของจีนด้วย

แหล่งโบราณคดีเหล่านี้แสดงถึงอารยธรรมจีนในยุคต่างๆ ที่ยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่จะช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ของจีนต่อไป

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ที่มา : CGTN

ภาพ : CGTN