ฟังเสียงสะท้อน “ประชาธิปไตยแบบจีน” จากการประชุม “International Forum on Democracy” ครั้งที่ 3

0
1

การประชุม International Forum on Democracy ครั้งที่ 3 ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 มีนักการเมือง นักวิชาการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ กว่า 300 คน จาก 70 ประเทศเข้าร่วม การประชุมในปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ The Third International Forum on Democracy: The Shared Human Values” ผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายประเทศร่วมอภิปรายเรื่อง แนวทางของประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับความต้องการของโลกในยุคดิจิทัล ในการประชุมครั้งนี้ยังมีการอภิปรายการสำรวจประชาธิปไตย 4 ด้าน ได้แก่ การกํากับดูแลที่ทันสมัย ธรรมาภิบาลทางกฎหมายในยุคดิจิทัล อนาคตที่สร้างสรรค์โดย AI และธรรมาภิบาลระดับโลกในโลกหลายขั้ว

Li Shulei สมาชิกกรมการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีน และหัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการกลาง พรรคคอมมิวนิสต์จีน ปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิดการประชุมครั้ง ย้ำว่า “ประชาธิปไตย”  แสดงถึงความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์ และพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ขับเคลื่อนจีนบนเส้นทางการพัฒนาประชาธิปไตยแบบจีน

การมีประชาธิปไตยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าประชาชนมีอํานาจในการปกครองตนเองอย่างแท้จริงหรือไม่  และนโยบาย กฎเกณฑ์ กฎหลายต่างๆ ถูกนำไปใช้จริงหรือไม่ และสัมฤทธิ์ผลมากน้อยเพียงใด โดยจีนยึดแนวทางปฏิบัติที่เป็นประชาธิปไตยทั้งกระบวนการ ในทุกด้าน เช่น เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคม และนิเวศวิทยา มีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง การปรึกษาหารือ

ตัวอย่างของประชาธิปไตยแบบจีน เห็นได้จากการประชุมสองสภาที่ผ่านมา รัฐบาลและเจ้าหน้าที่จากทั่วประเทศได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพในประเด็นต่างๆ โดยมีข้อเสนอแนะกว่า 6,000 ข้อพื่อนำมาพิจารณาอย่างรอบด้าน และกำหนดเป็นนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 

นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางการจีนยังมีแนวทางรับฟังความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง โดยใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ให้ชาวเน็ตร่วมแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ โดยปีนี้ ได้รับข้อเสนอแนะทางสื่อสังคมออนไลน์มากกว่า 1.6 ล้านความคิดเห็น และนำมากลั่นกรองเป็นร่างแนวทางการทำงานของรัฐบาลจีน

Li Shulei ยังกล่าวด้วยว่า จีนเคารพการเลือกเส้นทางประชาธิปไตยของแต่ละประเทศ แต่ไม่เห็นด้วยกับการนำประชาธิปไตยมาอ้าง เพื่อสร้างความแตกแยก มีอคติ และบ่อนทำลายสันติภาพในประชาคมระหว่างประเทศ

ในฟอรัมนี้ ยังมีนักการเมืองและนักวิชาการจากประเทศต่างๆ ที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประชาธิปไตย George Katrougalos อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกรีซ ล่าวว่าประชาธิปไตยควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจของประชาชน เป็นค่านิยมร่วมกันทั่วโลก แต่รูปแบบของประชาธิปไตยในแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกันไปตามสถานการณ์

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีระบบธรรมาภิบาลโลกที่เป็นประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพเต็มร้อย เนื่องจากขาดการปฏิรูปดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องร่วมสร้างความสมดุลและสรรสร้างความเป็นประชาธิปไตย

ในการประชุมครั้งนี้ ยังมีการเปิดเผยผลการศึกษาของ Academy of Contemporary China and World Studies โดยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกว่า 9,000 คน ใน 23 ประเทศ เรื่องแนวปฏิบัติด้านประชาธิปไตยของจีน และ ประชาธิปไตยแบบใดที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน

จากการสํารวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 90 ระบุว่า ประชาธิปไตยควรมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาที่แท้จริงของประชาชน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 95 ระบุว่า แต่ละประเทศมีเงื่อนไขและขั้นตอนการพัฒนาที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงควรเลือกรูปแบบประชาธิปไตยและเส้นทางสู่ความทันสมัยที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ของแต่ละประเทศ กลุ่มตัวอย่างยังระบุด้วยว่า ประเทศต่างๆ ไม่ควรสร้างกำแพงกั้นระหว่างกันโดยอ้างประชาธิปไตย และไม่ควรใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือเพื่อหวังผลทางการเมือง

จากการประชุม “International Forum on Democracy” ครั้งที่ 3 นี้ จึงได้ฟังเสียงสะท้อนที่หลากหลายต่อ “ประชาธิปไตยแบบจีน” ที่จีนได้ยึดเป็นแนวทางในการนำจีนไปสู่ความทันสมัย และร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าร่วมกัน

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ภาพ : Xinhua