เครือข่ายกรีนมาร์เก็ต เพชรบูรณ์

0
4095

เครือข่ายกรีนมาร์เก็ต เพชรบูรณ์ ความภาคภูมิใจของชาวเพชรบูรณ์

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า มีเกษตรกรอยู่จังหวัดหนึ่ง ได้ริเริ่มรวมตัวขึ้นมาเพื่อปลูกพืชผลทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมี นำมาจัดจำหน่ายไปทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด “ผู้ผลิตปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม” ที่สำคัญคือ เกษตรกรเหล่านั้น สามารถผลักดันสินค้าไปจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดได้อย่างองอาจ สามารถจัดจำหน่ายผลผลิตของตน ในราคาที่เหมาะสม ผักสามารถทำราคาได้สูงกว่าผักมีสารเคมีตามท้องตลาดถึง 1-3 เท่าตัว จึงสามารถสร้างชีวิตตัวเองและครอบครัวให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีท่ามกลางวิถีธรรมชาติ เกษตรกรกลุ่มที่ว่านี้คือ กลุ่มเกษตรกรจากหลายอำเภอของจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดที่มีประชาชนกว่า 60% ทำการเกษตร ที่ลุกขึ้นมารวมตัวกันเป็นเครือข่าย “กรีนมาร์เก็ต เพชรบูรณ์”

เครือข่ายกลุ่มนี้สามารถรวมตัวกันได้ด้วยการใช้การตลาด มาเป็นแรงจูงใจ ในการสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตพืชผักปลอดภัย โดยการตลาดที่ว่านี้คือ ภาครัฐ นำโดย ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  และ นายไกรสร กองฉลาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ (ผู้จัดการโครงการกรีนมาร์เก็ต จังหวัดเพชรบูรณ์)  ที่นำทีมข้าราชการ ทีมผู้นำชุมชน ทีมเกษตรกรตัวอย่าง ทีมนักสร้างแบรนด์อย่าง ดร.ศิริกุล เลากัยกุล และ อ.กมล เลากัยกุล มาช่วยสร้างแบรนด์ ทำโลโก้ หาทุนสนับสนุนทำโรงเรือนสหกรณ์ หาเครือข่ายหาช่องทางจัดจำหน่ายให้พร้อมต่อการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในเครือข่าย ทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะชักชวนคนเลิกปลูกพืชผักที่ใช้สารเคมี ให้หันมาปลูกพืชผักปลอดภัยเป็นเครือข่ายกันการเข้าร่วมเครือข่าย “กรีนมาร์เก็ต เพชรบูรณ์”

ด้วยการเปิดตลาด เปิดตัวแบรนด์อย่างกว้างขวาง จนมีผู้ซื้อผักปลอดสารเพียงพอ ที่จะรองรับผลผลิตของเกษตรกรอย่างชัดเจน ทำให้เกษตรกรหลายรายมีโอกาสเลือกที่จะพลิกชีวิตตัวเองมาปลูกผักปลอดสาร จากการที่เดิมปลูกผักที่ต้องใช้สารเคมีในการปลูก ทำให้สุขภาพตนเองและครอบครัวก็ไม่ดี อีกทั้งการใช้สารเคมีอันตรายบนพื้นที่สูง ลมแรง และ เป็นแหล่งต้นน้ำ ทำให้สารเคมีแพร่กระจายไปในวงกว้าง   เกษตรกรตัวอย่างท่านหนึ่งที่ควรแก่การกล่าวถึง คือ อาเซ็ง แซ่ลี วัย 62 ปี เกษตรกรชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง เกษตรกรบนพื้นที่สูง ณ ภูทับเบิก  1 ใน 2 เกษตรกรภูทับเบิกที่ได้ใบรับรองออร์แกนิกไทยแลนด์ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ ช่วยสร้างชีวิตใหม่ด้วยการปลูกผักปลอดสารขึ้นมา ทางเครือข่ายก็นำเกษตรกรท่านนี้ไปออกรายการในสถานีโทรทัศน์ระดับชาติทำให้เป็นการประชาสัมพันธ์ผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรออกไปในวงการ สามารถเพิ่มสมาชิกในเครือข่ายได้ในอนาคต พอมีกลไกในการขายสินค้าผลผลิตที่ได้ราคาดี เกษตรกรเหล่านี้จึงสามารถรวมตัวกัน เพื่อผลิตและควบคุมกันเอง จนปัจจุบันรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ย่อย ๆ ตามพื้นที่อย่าง สหกรณ์ผลิตผักน้ำดุกใต้  สหกรณ์ผักปลอดภัยภูทับเบิก สหกรณ์รวมกลุ่มการเกษตรน้ำหนาว สหกรณ์พืชผักปลอดภัยเขาค้อ และบ้านนางั่วเหนือผักปลอดภัย เพื่อส่งขายผักปลอดภัยไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ภายใต้เครื่องหมายเครือข่ายเดียวกันอย่าง “กรีนมาร์เก็ต เพชรบูรณ์”

          

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 – 26 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา เครือข่าย “กรีนมาร์เก็ต เพชรบูรณ์” ก็ได้ประสานกับกลุ่มพันธมิตร ศูนย์การค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำหลายแห่งจัดเป็นงานสินค้าปลอดภัย ในศูนย์การค้าต่าง ๆ เช่น จัดเป็นเทศกาลข้าวใหม่ปลามัน By “กรีนมาร์เก็ต เพชรบูรณ์ ณ เซ็นทรัลเวสต์เกท บางใหญ่ นนทบุรี อีเว้นท์นี้นำเสนอโดยในงานนี้มีการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยทั้ง ข้าวใหม่หอมกรุ่นหลากสายพันธุ์จากชาวนาตัวจริง เมนูน้ำพริกนานาชนิดจากภูมิปัญญาคนเพชรบูรณ์ ผักสดปลอดภัย กินได้เลยไม่ต้องลอง ไข่ไก่จากแม่ไก่อารมณ์ดี ไก่นอกคอกเพราะเลี้ยงนอกกรง แบรนด์ฟาร์มโสต น้อง ๆ นักเรียนโรงเรียนโสตศึกษาเพชรบูรณ์ที่ผลิตได้ถึงเดือนละ 2,000 ฟอง 

สำหรับ “ฟาร์มโสต” เป็นไข่ไก่จากแม่ไก่อารมณ์สุนทรีย์ เป็นไข่ที่มาจากไก่เลี้ยงปล่อยลาน โดยที่มาของแบรนด์ฟาร์มโสต คือ ฟาร์มนี้ผู้ดูแลเป็นน้องๆนักเรียนโรงเรียนโสตศึกษาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเด็กพิเศษ บกพร่องทางการได้ยินและบางส่วนเป็นเด็กออทิสติกได้อาศัย “เสียงจากความเงียบ” ในการดูแลไก่ให้มีความสุข  ไข่ไก่  “ฟาร์มโสต” วางจำหน่ายที่ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ / ท็อปส์ มาร์เก็ต 10 สาขา คือ เซ็นทรัลชิดลม ลาดพร้าว ปิ่นเกล้า บางนา พระราม3 พระราม2 สุขาภิบาล3 คริสตัล สุขุมวิท19 และ แจ้งวัฒนะ

เรียกได้ว่าการสร้างแบรนด์ และ การสร้างเครือข่ายการจัดจำหน่าย ทำให้ตลาดมีรองรับชัดเจน มีผู้ซื้อสินค้าปลอดภัยจากสารพิษมากขึ้น  กลไกตลาดจึงเดินหน้า ทำให้การปลูกพืชผักออร์แกนิกยังเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับเกษตรกร เกษตรกรสามารถหลุดออกจากวังวนแบบเดิม ๆ ที่ต้องขายผัก ผลไม้ในราคาถูก และต้องพึ่งพานายทุน ตั้งแต่เงินทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ สารเคมี ปุ๋ย ที่มาพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูง เมื่อขายได้มาเท่าไหร่ก็นำไปใช้หนี้  หลังจากเข้าสู่เส้นทางสายผักอินทรีย์-ผักปลอดภัย แล้วสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ราคาดี เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการก็ค่อย ๆ ชวนเพื่อนเกษตรกรแบบเดิมมาเข้าร่วมมากขึ้น แล้วต่างก็ช่วยกันพัฒนาผลผลิต ให้ได้มาตรฐานยิ่งๆ ขึ้นไป  ทั้งนี้ผักที่เข้าโครงการกรีนมาร์เก็ตนั้น อย่างน้อยที่สุดต้องเป็นผักปลอดภัย หรือ GAP ซึ่งมีหน่วยกลางตรวจสอบสุ่มตัวอย่างอย่างเข้มงวดและตั้งเป้าจะขยับมาตรฐานให้เป็นผักอินทรีย์หรือออร์แกนิกภายใน 3 ปี

อ.กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ : รายงาน

ข้อมูลทั่วไป

กรีนมาร์เกต เพชรบูรณ์ เป็นรูปแบบคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นประธาน วัตถุประสงค์ “ทำเรื่องปากท้อง สุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้เป็นเรื่องเดียวกัน” โดยการน้อมนำหลักคิดตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักปฏิบัติเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาเป็นกรอบในการดำเนินงาน

วิธีการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ จะรับสมัครสมาชิกเป็นกลุ่ม (ไม่เน้นรายบุคคล) เพื่อพัฒนาไปสู่รูปแบบของสหกรณ์ โดยมีเงื่อนไขว่า สมาชิกของกรีนมาร์เกตเพชรบูรณ์ จะต้องชัดเจนในเรื่องของการลด ละ เลิก การใช้สารเคมี และการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

กรีนมาร์เกตจะช่วยตั้งแต่ต้นน้ำ การบริหารจัดการแปลง การให้ความรู้ การตรวจรับรองคุณภาพเบื้องต้นคือ GAP โดยนับจากวันที่ได้รับการรับรองคุณภาพ 3 ปี  หรือในปีที่ 4 สมาชิกทุกคนในกลุ่มจะต้องยกระดับเข้าสู่กระบวนการผลิตแบบ Organic

สำหรับผลผลิตจากแปลง จะมีกระบวนการรวบรวมผลผลิต กรีนมาร์เกตจะส่งเสริมให้ทุกกลุ่มมีการรวบรวมผลผลิต โดยมีกระบวนการตรวจสอบรับรองความปลอดภัย โดยบุคลากรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยทุกครั้งที่สมาชิกเอาผลผลิตมาส่งก็จะมีการตรวจสอบโดยชุดทดสอบการปนเปื้อนของสารเคมีของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยจะตรวจสอบแบบ “ทุกครั้ง ทุกราย”

ในกระบวนการขนส่งและกระจายสินค้า จะมีการติดต่อประสานไปยังตลาดที่ทางคณะกรรมการฯ ได้ติดต่อไว้ล่วงหน้า ซึ่งผลดีของการหาตลาดล่วงหน้าคือ สมาชิกจะทราบว่าตลาดต้องการอะไร ราคาเท่าไร ไม่ได้ปลูกตามยถากรรมเหมือนในอดีต

โลโก้ กรีนมาร์เกตเพชรบูรณ์ บนบรรจุภัณฑ์สินค้าพืชผลทางการเกษตร จึงสามารถบอกผู้บริโภคได้อย่างเต็มปากว่า “ขอให้มั่นใจได้ว่าผลผลิตของเรา  เราจะทำผลผลิตที่ ผู้ผลิตปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม”