เชื่อมภาคใต้สู่ EEC เปิดประตูเส้นทางขนส่งสินค้าใหม่ สู่อนาคตการขนส่งชายฝั่ง

0
472

ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ กองทัพเรือ ร่วมกับท่าเรือประจวบ อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ เปิดเส้นทางการขนส่งสินค้าทางน้ำเส้นทางใหม่ บางสะพาน-สัตหีบ เน้นการขนส่งสินค้าชายฝั่ง (Coastal Shipping) เชื่อมต่อภาคใต้สู่ EEC ตอบโจทย์ลูกค้าภายในประเทศ โดยเฉพาะลูกค้าแถบจังหวัดภาคตะวันออกและภาคกลาง วางแผนพัฒนาด้านโลจิสติกส์ร่วมกัน เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0

พลเรือตรี นฤพล เกิดนาค ผู้อำนวยการท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ กองทัพเรือ ให้รายละเอียดในโครงการนี้ว่า “ด้วยและศักยภาพของท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ มีความพร้อมในการรับสินค้าผ่านท่าต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งเมือภาคเอกชนได้ริเริ่มโครงการขนส่งสินค้าชายฝั่ง (Coastal Shipping) โดยมีท่าเรือพาณิชย์ สัตหีบเป็นท่าปลายทาง จึงได้เกิดความร่วมมือดังกล่าวขึ้น ภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกัน คือ ร่วมกันสนับสนุน และพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ซึ่งโครงการเดินเรือครั้งนี้ถือว่าเป็นโครงการ นำร่อง ที่เป็นการเชื่อมภาคใต้สู่ EEC ประเดิมเส้นทางเดินเรือใหม่ ต้นทางจาก อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ ปลายทางที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ใช้การเดินเรือตัดอ่าวไทย ระยะทางรวม 116 ไมล์ทะเล ที่สำคัญคือ เป็นการยกระดับเรื่องโลจิสติกส์ของประเทศ นำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำ ตัวเลขการรับรู้รายได้ของประเทศเพิ่มมากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ซึ่งการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบก็เป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาด้วย อย่างไรก็ตามจะมีโครงการความร่วมมือเช่นนี้อย่างต่อเนื่องแน่นอน

นายถาวร คณานับ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด ภายใต้ SVL Group กล่าวว่า โครงการขนส่งสินค้าชายฝั่ง Coastal Shipping เป็นการร่วมธุรกิจใหม่ระหว่างท่าเรือของภาครัฐและเอกชน เป็นการสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย คือในส่วนของลูกค้าได้รับสินค้าในเวลารวดเร็ว การขนส่งสินค้าส่งได้ครั้งละจำนวนมาก ภาครัฐ ภาคสังคมได้รับประโยชน์คือ การลดปริมาณของรถขนส่งทางถนน ลดการเกิดอุบัติเหตุ การจราจรไม่แออัดจากการวิ่งรถขนส่งจำนวนมาก ถนนไม่เกิดความเสียหาย งบประมาณในการซ่อมแซมถนนก็ลดลงตาม เป็นต้น โดยจะมีโครงการขนส่งสินค้าชายฝั่ง Coastal Shipping ร่วมกันอีกแน่นอน เช่น การขนส่งสินค้าที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งการเกิดโครงการนำร่องในครั้งนี้ จะนำมาพูดคุยและหาข้อมูลต่างๆ กับท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ เพื่อร่วมกันดูข้อดี จุดได้เปรียบ รวมถึงสิ่งที่ต้องปรับเพิ่ม สำหรับเป็นข้อมูลในการนำเสนอให้กับภาครัฐต่อไป ซึ่งศักยภาพของท่าเรือประจวบนั้น มีความพร้อมรับสินค้าได้ทั้งตู้คอนเทนเนอร์ และสินค้า Bulk โดยยินดีสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคใต้และภาคตะวันตก ที่จะส่งสินค้าไปยัง EEC เพื่อการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ และเพื่อการส่งออก รวมทั้งสามารถรองรับการขนส่งสินค้าที่ผลิตใน EEC เพื่อนำมาจำหน่ายในภาคใต้ และส่งออกไปยังมาเลเซีย ด้วยท่าเรือที่ทันสมัยมีมาตรฐานการดำเนินงานสากลที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั้งในประเทศ และลูกค้าต่างประเทศ