สงครามการค้าจีน -อเมริกา

0
173

สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดการเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “ สงครามการค้าจีน -อเมริกา : โลกระส่ำ…ไทยสะเทือน” ในวันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2561 เวลา 13.00-15.15 น. ห้องประชุม สัจจา เกตุทัต ชั้น 1 อาคารสำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ถนนประชาชื่น กรุงเทพฯ

วิทยากรที่ร่วมการเสวนาประกอบด้วย คุณฮวง ไค เลขานุการเอกฝ่ายเศรษฐกิจและการพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ดร.หลี่ เหรินเหลียง นักวิจัยสถาบันวิจัยชาวจีนโพ้นทะเล คณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว คุณพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ดร.จื้อกัง หลี่ ประธานกรรมการบริหารธนาคารไอซีบีซี (ไทย) คุณขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ดำเนินรายการโดย อ.กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ คุณชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน โดยเสวนาหัวข้อ สงครามการค้าจีน-อเมริกา ในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเติมเต็มความรู้และความเข้าใจถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีนในเรื่องการค้า ที่เริ่มมีผลกระทบกับนานาประเทศทั่วโลก

ฮวง ไค เลขานุการเอกฝ่ายเศรษฐกิจและการพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ได้พูดถึงสงครามการค้าจีน-อเมริกา ในความเห็นส่วนตัวว่า สหรัฐอเมริกาคือผู้ริเริ่มสงครามการค้าซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก จึงทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต เกิดการเพิ่มค่าแรง เพิ่มต้นทุนต่างๆ ไปในหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก ทั้งนี้หวังว่าทุประเทศจะร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นเพื่อให้บรรลุระเบียบเศรษฐกิจโลกหรือการทำให้เศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกประเทศ

พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่า สงครามการค้าจีน-อเมริกาจะไม่ยืดเยื้อนานมากถึงขนาด 20 ปี ตามที่แหล่งข่าวบางท่านกล่าว โดยขณะนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังเจรจา FTA หลายรายการ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการค้าการลงทุนให้ดีขึ้น เนื่องจากสิ่งที่สหรัฐฯ ทำไม่ใช่แค่เรื่องกำแพงภาษี แต่ยังมีนโยบายลดดอกเบี้ย Income Tax เพื่อกระตุ้นให้บริษัทของสหรัฐฯ ย้ายฐานกลับบ้านเกิด รวมทั้งประกาศขึ้นดอกเบี้ยอีกด้วย แต่จะเกิดผลต่อเนื่องเท่าไหร่ และเมื่อไหร่ ต้องติดตาม ซึ่งทุกอย่างได้รับผลกระทบกันเป็นลูกโซ่

ขณะที่ ขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า สงครามการค้าจีน-อเมริกา จะทำให้หลายอย่างเปลี่ยนไปมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นการทำลายล้าง หรือ Disruption แต่คาดว่าจะ เรื่องนี้จะจบลงพร้อมๆ กับการหมดสมัยของประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าทำให้เกิดเปลี่ยนจากการค้าเสรีไปเป็นการกีกกันการค้ามากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือเกิดการตอบโต้กันของฝั่งจีนและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆ กันมากขึ้น และมีการเปลี่ยนจากการค้าแบบพหุภาคี เป็นทวิภาคีมากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกาใช้พหุพาคีเพื่อให้มีอำนาจกดดันประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทาน หรือ ซัพพลายเชน เช่น ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์จากจีนไปสหรัฐจะลดลง สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มก็เช่นกัน จะเกิดการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปประเทศอื่นแทน รวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ถั่วเหลืองและอาหารทะเล อาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานเปลี่ยนไป โดยจีนอาจไปรับถั่วเหลืองจากประเทศบราซิลมากขึ้น ซึ่งจากที่ยกตัวอย่างมาให้ทราบกันนั้นจะเห็นว่า ผลกระทบมีลักษณะต่อเนื่องข้ามไปยังประเทศต่างๆ มากมาย

สำหรับประเทศไทย วิทยากรทุกท่านในงานเสวนามีความคิดเห็นว่า ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์และผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-อเมริกาไปพร้อมๆ กัน โดยเสนอแนะว่า ผู้ประกอบการไทยควรมองหาตลาดใหม่ที่ฉีกไปเดิม ปรับตัวสินค้าให้มีความสร้างสรรค์ นวัตกรรม และผลิตสินค้าที่มีคุณค่าในแบบของเรา นอกจากนี้ ยังควรมองหาการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาแรงงาน ต้นทุนต่างๆ ที่สำคัญควรปรับแนวคิดธุรกิจ ควรศึกษาแนวโน้มการค้าการลงทุนเพื่อพัฒนาสินค้าให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว และต้องรู้จักใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง ทั้งนี้ ได้มีการพูดถึงข้อได้เปรียบของไทยว่า ประเทศจีนต้องการให้ไทยเป็นฐานของอาเซียน เพราะไทยมี EEC เป็นเมืองแห่งอนาคต มีการใช้นวัตกรรมเป็นหลัก เปลี่ยนจากการใช้แรงงานมากๆ มาใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันกับนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน หรือ One Belt One Road ซึ่งมีเป้าหมายสอดคล้องต่อเนื่องกัน โดยการเชื่อมสองโครงการนี้ก่อเกิดประโยชน์อย่างเหมาะสมต่อทั้งไทยและจีน

ผศ.ดร.ทัณฑกานต์ ดวงรัตน์. รองอธิการบดีสายงานสื่อสารแบรนด์
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวต้อนรับ