ผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ “การแข่งขันระดับนานาชาติเพื่อการประกอบการทางสังคมในล้านช้าง – พื้นที่ชาติพันธุ์ลุ่มน้ำโขง”

0
1

ผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ “การแข่งขันระดับนานาชาติเพื่อการประกอบการทางสังคมในล้านช้าง – พื้นที่ชาติพันธุ์ลุ่มน้ำโขง”

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ร่วมมือกับ South-Central University for Nationalities แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดการประกวดผู้ประกอบการสตาร์ตอัพระหว่างประเทศพื้นที่ ล้านช้าง-แม่โขง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 มีโครงการจากประเทศไทยเข้ารอบชิงชนะเลิศและได้รับรางวัลการประกวดผู้ประกอบการสตาร์ตอัพระหว่างประเทศครั้งนี้

South-Central University for Nationalities แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพในประเทศจีน มีผู้ร่วมจัดการประกวดจากประเทศต่าง ๆ อีก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 มีโครงการสมัครเข้าร่วมการประกวดจากประเทศพื้นที่ล้านช้าง-แม่โขง จำนวน 303 โครงการ ผู้เข้าร่วมการประกวดจำนวนกว่า 2,800 คน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นมหาวิทยาลัยไทยแห่งเดียวในการร่วมจัดการประกวดครั้งนี้ โดยมีรศ.ดร.นิตย์ เพ็ชรรักษ์ รองอธิการบดีสายงานวิจัยและพัฒนาเป็นรองประธานกรรมการตัดสิน ดร.ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ และผศ.ดร.ธิฏิรัตน์ เมฆบัณฑิตกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการวิจัย จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นกรรมการตัดสินของการประกวดครั้งนี้

การประกวดผู้ประกอบการสตาร์ตอัพระหว่างประเทศครั้งนี้ ได้จัดให้มีรอบการคัดเลือกโครงการ รอบรองชนะเลิศ และจัดรอบชิงชนะเลิศเมื่อ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 โดยจัดในรูปแบบ Onsite & Online โครงการที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 303 โครงการจาก 6 ประเทศ หลังจากแข่งขันในรอบแรก รอบรองชนะเลิศ และรอบคัดเลือกก่อนการแข่งขัน ในที่สุด 27 ทีมโครงการก็เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มสร้างสรรค์และกลุ่มสตาร์ทอัพเพื่อแข่งขันในสนามเดียวกันและจัดอันดับในกลุ่มเพื่อร่วมกันชิงรางวัลสุดท้ายของการแข่งขัน

โครงการจากประเทศไทยจำนวน 2 โครงการได้รับรางวัลประเภท Emerging Project โดยมีโครงการ Sewswag ซึ่งเป็นโครงการจาก นักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นโครงการแพลตฟอร์มตัดเย็บเสื้อผ้าครบวงจร ประเภท Start-up group โดยได้รับรางวัลอันดับที่ 2 และโครงการ Neurobright ซึ่งเป็นโครงการจากผู้ประกอบการภายนอกที่เข้ารับการบ่มเพาะจากมหาวิทยาลัย แล้วเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย โครงการ Neurobright เป็นโครงการที่ผลิตสินค้าจากกากรำข้าว เครื่องดื่มบำรุงสมองและสุขภาพ Ruby rice extract เพิ่มทางเลือกที่ดีในการบำรุงสมองและสุขภาพ โครงการอยู่ในกลุ่มประเภท Start-up group เช่นเดียวกัน โดยได้รับรางวัลอันดับที่ 1 นอกเหนือจากนั้นยังมีโครงการจากวิทยาลัยนานาชาติจีนของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์อีกหนึ่งโครงการที่สมัครในประเภทโครงการนานาชาติโดยตรงเป็นกลุ่มนักศึกษาปริญญาโทสาขา MBA ได้รับรางวัลที่ 3