เสนอ “ยุทธศาสตร์การพัฒนา”- เส้นทางสี จิ้นผิง(79)

0
1
เมืองเซี่ยเหมินในปี ค.ศ. 1986 ซึ่งเปี่ยมไปด้วยต้นไม้เขียวขจีและหันหน้าไปทางทะเล เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่มีชื่อเสียงในประเทศจีน

วันทีนายสี จิ้นผิงเข้ารับตำแหน่งที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยนนั้นเป็นวันเกิดปีที่ 32 ของเขาพอดี

อาหารค่ำในคืนวันนั้นประกอบด้วยอาหารพิเศษสไตล์เซี่ยเหมิน เช่น หอยนางรมทอด บะหมี่ผัด และเยลลี่หนอน(Sipunculid worm jelly) อาหารโอชารสในต่างถิ่นทำให้วันเกิดของนายสี จิ้นผิง เป็นที่น่าจดจำสำหรับเขา แต่สิ่งที่ทำให้เขาลืมไม่ลงเช่นกันก็คือถนนที่มีสภาพทั้งคับแคบและสกปรกในเขตเมืองเซี่ยเหมิน ฟาร์มเลี้ยงวัวที่ตั้งอยู่ตรงข้ามที่ทำการเทศบาลเมืองเซี่ยเหมิน และถ่านหินรูปทรงรังผึ้งที่ยังคงใช้ก่อไฟในบ้านเรือนชาวบ้าน ….. นายสี จิ้นผิงกล่าวว่าที่นี่ไม่ใช่ “สวนดอกไม้ริมทะเล” ที่เขาจินตนาการไว้ก่อนหน้านี้

ในฐานะเมืองชายฝั่งทะเลที่ขึ้นชื่อของจีน เซี่ยเหมินมีชื่อเสียงโด่งดังในโลกภายนอกและได้รับการขนานนามว่า “สวนดอกไม้ริมทะเล” ในขณะนั้นที่นี่ยังคงเป็น “เมืองเก่า” โดยสิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่สร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ 1920 และ 1930 มีผู้อุปมาไว้ว่า “เซี่ยเหมินเป็นเหมือนสาวสวย แต่สวมเสื้อผ้าที่ชำรุดทรุดโทรม”

เวลานั้น หลังผ่านการสร้างสรรค์มาเป็นเวลาห้าปี เขตเศรษฐกิจพิเศษเซี่ยเหมินได้เข้าสู่ระยะใหม่ จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างเร่งด่วนเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อบรรลุการพัฒนาที่รวดเร็วและดีขึ้น รูปแบบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นอย่างไร? ควรกำหนดสถานะของเมืองอย่างไร? ควรพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างไร? เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเมืองเซี่ยเหมินจึงตัดสินใจให้ตั้งทีมงานชุดหนึ่งเพื่อทำการศึกษาวิจัยโดยเฉพาะภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง

ทั้งนี้ทำให้นายสี จิ้นผิงในวัยหนุ่มเผชิญกับความท้าทาย เมื่อ ค.ศ. 2006 ในวาระครบรอบ 25 ปี การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเซี่ยเหมิน นายสี จิ้นผิง ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลเจ้อเจียงได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสถานีโทรทัศน์เซี่ยเหมิน ขณะเล่าย้อนอดีตถึงความตั้งใจเริ่มแรกที่ไปรับตำแหน่งที่เมืองเซี่ยเหมินนั้น นายสี จิ้นผิงกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า “ผมรู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้มาที่เซี่ยเหมินเพราะผมอยากลองทำจริงตามแนวทางการปฏิรูปและเปิดประเทศ”

ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ นายสี จิ้นผิงยังเปรียบเทียบการอนุมัติเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่งพร้อมกันเป็นการวิ่งแข่ง 100 เมตรเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจน “เมืองเซินเจิ้น จูไห่ และซัวเถาอยู่แถวหน้าของการเปิดประเทศ มีการเตรียมพร้อมในเรื่องนี้ เมื่อได้รับคำสั่งให้ออกตัวก็วิ่งไปได้รวดเร็วเหมือนธนูที่พุ่งจากคันศร แต่ในเวลาเดียวกันเซี่ยเหมินบอกว่าฉันยังไม่พร้อมเลย แม้แต่เชือกผูกรองเท้าก็ยังผูกได้ไม่เรียบร้อย ตอนนี้ฉันยังต้องการเวลาขยับข้อเข่าเพื่อวอร์มอัพก่อนออกตัว” การหันหลังฉับพลันจากการเป็นแนวหน้าในเรื่องไต้หวัน การเปลี่ยนแปลงแนวคิดและทัศนคติอย่างกะทันหัน และความล้าสมัยอย่างมากในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน……….. ทุกสิ่งทุกอย่างต่างก็ทำให้เมืองเซี่ยเหมินที่ยืนอยู่หน้าเส้นเริ่มต้นการแข่งขันออกอาการทำอะไรไม่ค่อยถูก

นายสี จิ้นผิง สงบสติอารมณ์แล้วดำเนินการศึกษาค้นคว้า เขาจำเป็นต้องใกล้ชิดเมืองนี้ให้มากขึ้นอีก เขากล่าวว่า “งานของเราทั้งหมดจะต้องดำเนินการให้ถึงระดับรากหญ้า ในงานทั้งหมดของเรานั้น ระดับรากหญ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด มีเส้นด้ายนับพันเส้นจากด้านบนแต่มีเข็มเพียงอันเดียวในด้านล่าง ระดับรากหญ้าเป็นทั้งเส้นแรกและแนวหน้า อีกทั้งยังเป็นแนวที่มีความเสี่ยงมากด้วย”

เพื่อดำเนินการสำรวจข้อมูลประกอบการวิจัย นายสี จิ้นผิงได้ซื้อจักรยานยี่ห้อ “อูอี” ที่ผลิตโดยโรงงานจักรยานเซี่ยเหมินโดยเฉพาะ ในระหว่างกระบวนการสำรวจข้อมูลเขาก็เหมือนกับชาวบ้านทั่วไป โดยมักจะยื่นบุหรี่ให้ทันทีเมื่อได้นั่งลงเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันก่อนจะเข้าสู่ประเด็นหลัก น้ำชาที่คนอื่นชงให้นั้นเขาไม่สนใจเลยว่าจะถูกสุขอนามัยหรือไม่ รับมาก็ดื่มทันที ฤดูร้อนในเมืองเซี่ยเหมินค่อนข้างร้อน เมื่อเห็นนายสี จิ้นผิงทำงานหนัก มีชาวบ้านหั่นแตงโมให้เขากิน เขาก็จะหยิบมันขึ้นมากินทันทีโดยไม่สนใจฝูงแมลงวันที่บินวนอยู่รอบตัวเขา

นายสี จิ้นผิง มักไปเยี่ยมเยียนคนยากจนเพื่อถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของพวกเขา เมื่อครั้งที่ทำงานในอำเภอเจิ้งติ้ง มณฑลเหอเป่ย นายสี จิ้นผิงได้ไปเยี่ยมเยียนหมู่บ้านทุกแห่ง เขาก็ทำเช่นเดียวกันหลังจากทำงานในเซี่ยเหมิน โดยเจาะลึกเข้าไปในองค์ประกอบและโครงสร้างของเมือง เข้าใจความเป็นมาและบริบทของเมือง เพื่อเขียนบทเพลงโหมโรงที่ทรงพลังสำหรับการปฏิรูปครั้งนี้

เมื่อ ค.ศ.1986 การเชิญชวนร่วมกิจกรรมการประกวดเรียงความหัวข้อ “ค.ศ. 2000 – เซี่ยเหมินในใจของฉัน” ได้ดำเนินการผ่านหนังสือพิมพ์เซี่ยเหมินเดลี่ ซึ่งทำให้เกิดการอภิปรายกันทั่วเมืองในเซี่ยเหมิน โดยมีการส่งผลงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมากเพื่อแสดงความคาดหวังต่ออนาคต เบื้องหลังการปะทะกันทางแนวคิดโดยใช้ปากกาเป็นความฝันครั้งนี้นั้น นายสี จิ้นผิงเป็นผู้นำในการก่อตั้งสำนักงานวิจัยยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งเมืองเซี่ยเหมิน และพิมพ์เขียวที่นำไปสู่ช่วงเปลี่ยนศตวรรษก็ได้รับการเปิดเผยอย่างช้าๆ

ภายในรัฐบาล “ยุทธศาสตร์การพัฒนา” ก็เป็นศัพท์ใหม่เช่นกัน นายเจิ้ง จินมู่ รองประธานคณะกรรมการวางแผนเมืองเซี่ยเหมินในขณะนั้นกล่าวว่า “ขณะนั้นผมทำงานในคณะกรรมการวางแผนมาหลายปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาก็ดำเนินการแต่ “แผนห้าปี” และแผนประจำปีมาโดยตลอด ไม่เคยดำเนินการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาใดๆมาก่อนเลย ซึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีคนน้อยมากที่สนใจเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนา เมื่อมองย้อนกลับไป เป็นเรื่องที่น่าทึ่งและน่ายกย่องมากที่สหายจิ้นผิงสามารถเสนอคำว่า “ยุทธศาสตร์การพัฒนา” ได้ในเวลานั้น กล่าวสำหรับเซี่ยเหมินซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีพื้นที่เล็กที่สุดในบรรดาสี่เขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนในขณะนั้น การศึกษาค้นคว้าและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยากจะแสดงผลได้ในระยะสั้นนั้นไม่เพียงแต่เป็นเรื่อง“คลำก้อนหินข้ามแม่น้ำ”เท่านั้น แต่ยังเป็นงานที่ไร้คำชมแม้จะต้องทำงานอย่างหนักก็ตาม

แปลเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน(CMG)

ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่

https://www.tcjapress.com/2024/03/12/xi-way-78/