พม.เตรียมรายงานขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีที่สวิสเซอร์แลนด์

0
250

พม. เตรียมความพร้อมก่อนนำเสนอรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบด้วยวาจาต่อคณะกรรมการ CEDAW

วันที่ 19 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ นางนภา เศรษฐกร รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมการรายงานด้วยวาจาเสมือนจริงของคณะผู้แทนไทยในการนำเสนอรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ โดยมี นางพรสม เปาปราโมทย์ รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นายจรัญ ภักดีธนากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ รศ.จุรี วิจิตรวาทการ และนางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานภาครัฐจาก กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ในการนี้ได้รับเกียรติจากคณะผู้แทน UN ซึ่งเข้าร่วมประชุมซักซ้อมเปรียบเสมือนคณะกรรมการ CEDAW ในการตั้งประเด็นคำถามให้คณะผู้แทนไทยตอบในประเด็นสำคัญต่าง เช่น การค้าบริการทางเพศและการแสวงหาประโยชน์จากผู้หญิง มาตรการและความพยายามในการส่งเสริมสตรีให้มีส่วนร่วมทางการเมืองของไทย เป็นต้น

นางนภา กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมการรายงานด้วยวาจาเสมือนจริงของคณะผู้แทนไทยในวันนี้ จัดขึ้นโดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมให้คณะผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วมการรายงานด้วยวาจาต่อคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Committee on the Elimination of Discrimination Against Women-CEDAW) ในระหว่างวันที่ 1 – 9 กรกฎาคม 2560 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เมื่อปี 2528 มีหน้าที่ในการดำเนินการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบทั้งในด้านนิติบัญญัติ ตุลาการ บริหารและมาตรการอื่น ๆ และนำเสนอรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการตามอนุสัญญาฯ ทุก 4 ปี ต่อคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีของสหประชาชาติ (คณะกรรมการ CEDAW)

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เสนอรายงานฯ การดำเนินตามอนุสัญญาไปแล้ว 4 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เป็นการรายงาน ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2530 ครั้งที่ 2 เป็นการรายงานรวมฉบับที่ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 ครั้งที่ 3 รายงานรวมฉบับที่ 4 และ 5 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2546 และครั้งที่ 4 รายงานรวมฉบับที่ 6 และ 7 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558

“การเดินทางไปรายงานด้วยวาจาของคณะผู้แทนไทยในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รายงานให้คณะกรรมการมีความเข้าใจและได้รับทราบข้อเท็จจริงในการดำเนินงานขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายของประเทศไทย ให้เป็นที่ยอมรับจากประเทศสมาชิกและนานาประเทศในเรื่องการดำเนินงานดังกล่าวตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ตลอดจนเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับข้อเสนอแนะในการดำเนินงานด้านสตรีจากคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี เพื่อนำมาปรับปรุง และเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านสตรีในประเทศไทยต่อไป” นางนภากล่าวตอนท้าย